svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

20 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาหารเสริมไม่ใช่ยา ห้ามโฆษณาว่ารักษาโรค! ชวนรู้จักกับสาร “ไซบูทรามีน” และ “ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน” สารอันตรายที่ไม่ควรใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เตือนคนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินข่าวการบุกจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมสารอันตรายหลายๆ ยี่ห้อ ทั้งอาหารเสริมยี่ห้อลีน (LYN) หนึ่งในผลิตภัณฑ์เครือเมจิกสกิน โดยอาหารสริมยี่ห้อนี้แอบผสมสาร “ไซบูทรามีน” เข้าไป ทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือประเด็นการลักลอบใส่สาร “ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน” ในผลิตภัณฑ์ชาร์มาร์ กลูต้า เมื่อปลายเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา และล่าสุดกับกรณี คดี ปคบ.ส่งฟ้อง "เม พรีมายา" ขายอาหารเสริมใส่สาร "ไซบูทรามีน" ครั้งนี้จึงชวนทุกคนไปรู้จักกับสาร “ไซบูทรามีน” และ “ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน” สารอันตรายที่ไม่ควรใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งคนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

เพราะเหตุใดจึงต้องห้ามใช้ “ไซบูทรามีน” “ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน”

สาร “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) เป็นสารอันตรายมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางในการควบคุมความรู้สึกหิว และทำให้อิ่มเร็ว ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย หัวใจ และระบบโลหิตในคนที่บริโภคได้ และมีผลข้างเคียง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูกและยิ่งอันตรายในกลุ่ม ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง

ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกเลิกการใช้ไซบูทรามีนในตำรับยา มาตั้งแต่ปี 2553 เพราะมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และประกาศให้เป็นสารที่อยู่ในการควบคุมพิเศษ จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559    

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก          

ในปัจจุบันแม้สารอันตรายจะถูกควบคุมอยู่ แต่เราก็ยังพบผู้ประกอบลักลอบใส่สารอันตรายลงในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารอันตรายอีกตัวที่มักลักลอบนำมาใส่ในอาหารเสริมและโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นอย่าง "ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน" ก็เป็นสารที่หากใช้จะเกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น ประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

“ไซบูทรามีน” ภัยร้ายจากยาลดความอ้วน

ไซบูทรามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหารและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว เวียนหัว ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ อยากอาหาร เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ไซบูทรามีนเท่านั้น

ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งในข้างต้นหรืออาการอื่นหลังจากใช้อาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

"ไซบูทรามีน" กับกลุ่มเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

การใช้ไซบูทรามีนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากมีโรคประจำตัวและกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้

  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคตับ
  • โรคต้อหิน
  • โรคไต
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมชัก
  • ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคไทรอยด์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร
  • ผู้สูงอายุ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน

เลือกอาหารเสริมลดน้ำหนักอย่างไรให้ปลอดภัย

1 ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการใช้อาหารเสริมในการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีอื่นที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยลดน้ำหนักโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลัง เป็นต้น

2 แยกระหว่างอาหารเสริมที่ช่วยควบคุมน้ำหนักและยาลดความอ้วน อาหารเสริมที่ช่วยควบคุมน้ำหนักมักเป็นอาหารให้แคลลอรี่ต่ำ ทำให้อิ่มเร็ว อยู่ท้อง ช่วยการควบคุมแคลลอรี่ ไม่ได้มีฤทธิ์ลดน้ำหนักโดยตรง แต่ยาลดความอ้วนมักเป็นการใช้สารเคมี อย่างไซบูทรามีน ยาไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือยาบ้า เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติจนทำให้น้ำหนักลด ซึ่งอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วน

3 หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักมาใช้เอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจมีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือสารอันตรายอื่น ๆ ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ 

4 หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเสริมที่มีการโฆษณาเกินจริง เช่น น้ำหนักลด 10 กิโลกรัมภายใน 7 วัน โฆษณาสินค้าด้วยภาพก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักผิดกฎหมายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนวางจำหน่าย 

5 หากต้องการใช้อาหารเสริมในการช่วยควบคุมน้ำหนักก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร ซึ่งสามารถตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้การรับรองผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

6 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงหรือได้รับผลกระทบจากน้ำหนักตัวที่มากเกิน หากต้องการรักษา ควรไปพบแพทย์ ซึ่งการรักษาอาจเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยแพทย์จะแนะนำให้คุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

การใส่สารอันตรายในอาหารเสริม เป็นเรื่องผิดกฎหมาย!!

การใส่สารต้องห้าม หรือ สารที่ถูกควบคุมพิเศษ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งระบุว่า การนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไปผสมลงในผลิตภัณฑ์ หรือแปรรูป แปรสภาพเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย. ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

มาตรา 42 ระบุว่า การนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไปผสมลงในผลิตภัณฑ์ หรือแปรรูป แปรสภาพเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย. ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามมาตรา 139)

มาตรา 94 กำหนดว่า ห้ามผู้ใด ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ครอบครอง หรือนำผ่าน ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท (ตามมาตรา 139)

มาตรา 96 ระบุว่า ห้ามผู้ใดจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์การค้า หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 149)

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีการเจือปนสาร "ไซบูทรามีน" ยังเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

มาตรา 25 ห้ามมิใหผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งผู้ทีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 59)

เตือนภัย ‘สารอันตรายในอาหารเสริม’ คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

อาหารเสริมไม่ใช่ยา ห้ามโฆษณาว่ารักษาโรค      

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ ‘อาหาร’ หรือ ‘ยา’ ดังนั้น จึงห้ามโฆษณาว่าใช้รับประทานแทนมื้ออาหาร หรืออ้างสรรพคุณในการรักษาโรค หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยาอันตราย หรือโฆษณาเกินจริง             

และสำหรับใครที่ปัญหาในการลดน้ำหนักหรือต้องการมีผิวที่สวย ควรปรึกษาแพทย์และต้องใช้ยาภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 

หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่สายด่วน อย. 1556 หรือแจ้งเบาะแส ร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้อีกทาง

แจ้งเบาะแส ได้ที่ https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php

เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

อีเมล : [email protected]

โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1

logoline