svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

‘โลกร้อน’ เบื้องหลังโรคที่มี ‘ยุง’ เป็นพาหะระบาดเพิ่มขึ้น

15 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

องค์การอนามัยโลกชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคซึ่งมียุงเป็นพาหะแพร่ระบาดหนัก ขณะที่งานวิจัยเผยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นและอายุยืนกว่าในอดีต

การศึกษาวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายตัวของเมือง เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัส เช่น ไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายที่ระบาดอยู่ทั่วโลก

‘โลกร้อน’ เบื้องหลังโรคที่มี ‘ยุง’ เป็นพาหะระบาดเพิ่มขึ้น

โดยการศึกษานี้เปิดเผยว่า การติดเชื้อที่เกิดจากโรคที่มียุงเป็นพาหะมักระบาดได้ดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นกึ่งเขตร้อน โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีรายงานที่ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากราว 500,000 รายในช่วงปี 2000 เป็น 5,200,000 ล้านราย ในปี 2019 และในความเป็นจริงแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลกกำลังเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดซึ่งแพร่จากยุงไปสู่มนุษย์ โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณ 100 - 400 ล้านคน

รามัน เวลายุธัน หัวหน้าหน่วยของโครงการการควบคุมโรคเขตร้อนที่ผู้คนมักละเลยของ WHO ผู้ทำงานประสานกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้เลือดออกและไวรัสชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีประมาณ 129 ประเทศที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก และเป็นโรคเฉพาะถิ่นในกว่า 100 ประเทศ เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ โรคไข้เลือดออกกำลังเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ สู่ประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย เปรู และปารากวัย อยู่ในเวลานี้”

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ยุงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ขณะที่มีการวิจัยใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในสภาพอากาศที่แห้ง ยุงก็ยังสามารถผสมพันธุ์ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศที่แห้งจะส่งผลให้ยุงกระหายน้ำ และเมื่อพวกมันขาดน้ำ ยุงต้องการที่จะดูดเลือดบ่อยขึ้น

‘โลกร้อน’ เบื้องหลังโรคที่มี ‘ยุง’ เป็นพาหะระบาดเพิ่มขึ้น

"สิ่งนี้ทำให้เรากังวลอย่างมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีบทบาทสำคัญที่เอื้อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เมื่อผู้คนเดินทาง ไวรัสก็จะไปกับพวกเขาตามธรรมชาติ และแนวโน้มนี้อาจจะดำเนินต่อไปทั่วโลก”

ขณะที่ในส่วนของไวรัสชิคุนกุนยา ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แพร่กระจายโดยยุงลายและพบได้ในเกือบทุกทวีปนั้น จนถึงปัจจุบันนี้มีประมาณ 115 ประเทศรายงานว่าพบผู้ป่วยจากเชื้อดังกล่าวแล้ว โดยโรคนี้อาจทำให้เกิดความพิการเรื้อรังและส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ไดอานา โรฮาส อัลวาเรซ หัวหน้ากลุ่มเทคนิคของ WHO ด้านไวรัสซิกาและไวรัสชิคุนกุนยา และเป็นหัวหน้าร่วมของโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับอาร์โบไวรัส กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 50,000 รายในปี 2022 เป็น 135,000 รายในปีนี้ ขณะที่ ไวรัสเริ่มแพร่กระจายออกจากพื้นที่ที่ไวรัสนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่นในอเมริกาใต้ ไปยังภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้ อาร์โบไวรัสแพร่กระจายโดยสัตว์ขาปล้อง ซึ่งรวมถึงยุง เห็บ ตะขาบ กิ้งกือ และแมงมุม

"ขณะนี้เรากำลังเห็นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังพื้นที่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนตัวเลขของประเทศที่เริ่มมีการแพร่กระจายของยุงก็เพิ่มสูงขึ้น และประเทศที่มีประชากรยุงตั้งรกรากอยู่แล้วก็เริ่มมีสถานการณ์ที่น่ากังวล”

‘โลกร้อน’ เบื้องหลังโรคที่มี ‘ยุง’ เป็นพาหะระบาดเพิ่มขึ้น

'โลกร้อน' ทำยุงลายอายุยืน ไข้เลือดออกเพิ่ม 10 เท่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไข้เลือดออกระบาดมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ข้อมูลที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ “ภาวะโลกร้อน” เนื่องจาก “ยุงลาย” ตัวการแพร่เชื้อชอบอากาศอบอุ่นร้อนชื้น เมื่อโลกมนุษย์ร้อนขึ้นยุงลายก็เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ดีขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

งานวิจัยหลายชิ้นระบุถึงสาเหตุของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น และอายุยืนกว่าในอดีตด้วย ที่สำคัญประเทศในเขตหนาวเย็นหรือภูเขาสูงที่มีหิมะตลอดปี ซึ่งไม่เคยมียุงลายมาก่อน เริ่มตรวจพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจากยุงลายเป็นครั้งแรก ตัวอย่างเช่น ประเทศภูฏาน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรกในปี 2547 ต่อมาคือประเทศเนปาล พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรกในปี 2549

“ย้อนหลังไปในอดีต อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาทุกๆ 50 ปี แต่ช่วงนี้ผ่านไปเพียงแค่ 20-30 ปี โลกร้อนขึ้นแล้ว 0.5-1 องศา น่าเป็นห่วงมาก เพราะยุงลายชอบอากาศร้อนชื้น ลูกหลานเจริญเติบโตได้เร็ว และอายุยืนขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ตายภายใน 30 วัน ก็เพิ่มเป็น 40-60 วัน หมายถึงมีโอกาสไปกัดคนเพื่อแพร่เชื้อได้หลายวันมากขึ้น"

ทั้งนี้ หนึ่งในต้นเหตุที่ไข้เลือดออกระบาด มีการยืนยันจาก ดร.ปิติ มงคลางกูร นักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ว่า "สภาวะโลกร้อน" ทำให้น้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น เพียงไม่ถึง 1 องศาเซลเซียลก็มีผลกับลูกน้ำ ที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ คือจะทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายของลูกน้ำเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว

ฉะนั้น ลูกน้ำจะเปลี่ยนระยะเร็วมาก โดยยุงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปแพร่สู่อีกคนหนึ่งได้

ระยะตัวโม่งของยุงลายบ้าน ปกติจะใช้เวลาในการสร้างปาก ปีก ขา และเปลี่ยนแปลงลำตัว 2-3 วัน สภาวะโลกร้อนทำให้ระยะเวลานี้หดสั้นลงเหลือเพียง 1-2 วัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 วันครึ่ง ก็สามารถลอกคราบเป็นตัวยุงได้แล้ว

แต่ยุงที่เกิดขึ้นจะตัวเล็กกว่าปกติ เพราะเกิดจากลูกน้ำที่ตัวเล็ก พอเกิดเป็นยุงก็เป็นยุงที่ตัวเล็ก เมื่อระยะต่างๆ สั้นลง ยุงจะเกิดเร็ว ทำให้มีการผสมพันธุ์เร็วตามไปด้วย และทำให้มียุงสะสมในธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน โดยปกติวงจรชีวิตยุงใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน แต่ในภาวะโลกร้อนนี้วงจรชีวิตยุงหดสั้นลงใช้เวลาเพียงสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของยุงตัวเต็มวัยด้วยคือทำให้ยุงมีกิจกรรมการบินมากขึ้นและทำให้หิวบ่อย จึงหากินเลือดเหยื่อบ่อยขึ้นเป็นสาเหตุว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บที่นำโดยยุงจึงมากขึ้น

13 โรคอันตรายจาก “ยุง” เป็นพาหะ ได้แก่

          1.โรคไข้กาฬหลังแอ่น

          2.โรคไข้เลือดออกอีโบลา

          3.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา

          4.โรคไข้หวัดนก

          5.ไข้เหลือง

          6.โรคชิคุนกุนยา

          7.โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

          8.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส

          9.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)

          10.โรคทูลารีเมีย

          11.โรคเมลิออยโดซิส

          12.โรคลิชมาเนีย

          13.โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่

logoline