svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

UN เคาะยุติร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรกแล้วเสร็จสิ้นปีนี้

13 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มติที่ประชุม INC สมาชิก 135 จาก 169 ประเทศเห็นตรงกัน ควรมีกฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติให้ชัดเจนเพื่อยุติปัญหามลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก พร้อมกำหนดเส้นตายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐ (United Nations Intergovernmental Negotiating Committee; INC) ในหัวข้อการจัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้สิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในงานนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วย หลายประเทศมุ่งหน้ายุติมลพิษพลาสติก และมีมติร่วมกันร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ฉบับแรกให้เสร็จพฤศจิกายนนี้

UN เคาะยุติร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรกแล้วเสร็จสิ้นปีนี้

โดยผลสรุปจากการประชุมครั้งที่ 2 มีทั้งด้านที่น่าชื่นชมและด้านที่น่ากังวล สำหรับในด้านที่น่าชื่นชมนอกจากจะมีการกำหนดเวลาในการร่างสนธิสัญญาฉบับแรกให้สำเร็จในสิ้นปีนี้แล้ว ยังมีการโหวตร่วมกันอีกว่า วิธีที่จะใช้ในการผ่านร่างสนธิสัญญานั้นจะต้องใช้จำนวนโหวต 2 ใน 3 จากประเทศที่เข้าร่วมประชุมในการผ่านร่างเท่านั้น โดยจะไม่มีการยกเว้นให้ประเทศมหาอำนาจใดมีอำนาจในการโหวตวีโต้ (Veto) หรือโหวตคว่ำร่างได้ แต่ยังคงต้องคอยจับตากันต่อไป เพราะประเทศมหาอำนาจอาจมีการเล่นตุกติกได้เสมอ โดยประเทศที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรัสเซียและจีน รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบีย

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกจำนวน 135 ประเทศ จากทั้งหมด 169 ประเทศ ที่มีความเห็นตรงกันว่า ควรมีกฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติให้ชัดเจนเพื่อยุติปัญหามลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมจำนวน 58 ประเทศจากกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) แสดงเจตจำนงว่าเราต้องร่วมกันผลักดันการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศที่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวงจรชีวิตแต่ละขั้นของผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่ตอนผลิตขึ้นมาจนถึงบั้นปลายของผลิตภัณฑ์ เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมอยู่ เพราะความคิดเห็นถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ระหว่างการสร้างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ กับการที่แต่ละประเทศสมัครใจทำร่วมกันโดยไม่มีกฎหมายกำหนด

UN เคาะยุติร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรกแล้วเสร็จสิ้นปีนี้

ประเด็นปัญหาสหรัฐอเมริกาปฏิเสธเข้าแนวร่วม

ทางด้านสหรัฐอเมริกามีความเห็นในแบบหลัง โดยเลือกที่จะปฏิเสธเข้าร่วมกับกลุ่ม HAC โดยทางตัวแทนได้ให้เหตุผลว่า “การรวมตัวเป็นแนวร่วมและสร้างกฎหมายเป็นการผลักหลายประเทศออกจากวงสนทนา ทำให้ไม่สามารถสร้างเป้าหมายร่วมกันได้ในระดับโลก พวกเราควรมีวิธีการที่ยืดหยุ่นในการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น รวมถึงพัฒนาด้านนวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน”

การออกตัวของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เรียกเสียงวิจารณ์ในทางลบเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าระบบสมัครใจนั้นไม่สามารถใช้งานได้จริงในความร่วมมือระดับโลก อย่างที่เห็นได้จากการร่วมมือกันยุติการปล่อยคาร์บอนในข้อตกลงปารีสปี 2015 ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

หนึ่งในเรื่องที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดตามมา สำหรับการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งจากนานาประเทศ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมต่างๆ NGOs และนักรณรงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทุกฝ่ายที่กล่าวมาล้วนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุม แต่กลับไม่มีนักแก้ปัญหา อาทิ นักวิทยาศาตร์หรือนักพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ในวงสนทนาเลย โดยคุณ Peter Hjemdahl ผู้ร่วมก่อตั้ง rePurpose Global และ Innovation Alliance for a Global Plastics Treaty องค์กรแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักสร้างนวัตกรรม และกลุ่มคนที่พัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงพัฒนาหนทางการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ได้กล่าวว่า “หากในสนธิสัญญาไม่มีการกล่าวถึงหนทางการแก้ปัญหา มันก็อาจจะกลายเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งที่มีเนื้อหาฟังดูดีแต่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม”

อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลคือ ใครจะเป็นคนจ่ายเงินเป็นพันล้านเพื่อผลักดันให้นโยบายในร่างสนธิสัญญานั้นเกิดขึ้นได้จริง สำหรับข้อกังวลนี้  Peter Hjemdahl แสดงความเห็นว่า “อาจต้องใช้เวลาหลายปีมากในการรวบรวมเงินทุนเพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาขยะพลาสติก จนเงยหน้ามาอีกทีก็อาจจะใกล้ถึงปี 2040 ปีที่กำหนดไว้ว่าปัญหาพลาสติกจะต้องหมดไปแล้ว” แต่มีข้อเสนอเช่นกันว่าสามารถเก็บเงินทุนจากค่าปรับโรงงานอุตสาหกรรมพลาสติกได้

ปัญหาสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งในการประชุมครั้งนี้ คือการที่นักกิจกรรมเล็งเห็นว่าที่ประชุมให้พื้นที่กับกลุ่มล็อบบี้ยิสต์มากเกินไป กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ในที่นี้ คือกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปพูดเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ อาทิกลุ่มตัวแทนจากธุรกิจด้านน้ำมันเป็นต้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไป คนเก็บขยะ หรือกลุ่มเยาวชนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกมากที่สุด กลับไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ความไม่เท่าเทียมนี้อาจส่งผลให้ร่างสนธิสัญญาออกมาเอนเอียงไปในด้านที่กลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังอยู่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องการจัดการขยะพลาสติกแค่ที่ปลายทาง และอย่างน้อยๆ องค์ประกอบหลายๆ อย่างก็ได้มีการพูดคุยกันและเตรียมเอาไว้เพื่อทำสนธิสัญญาแล้ว

“เราได้เห็นความกระตือรือร้นที่จะร่างสนธิสัญญานี้จากหลายๆประเทศทั่วโลก”  Carroll Muffett ประธาน Center for International Environmental Law กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2566 ที่เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งแน่นอนว่านานาประเทศต่างจับจ้องร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรก และอาจแสดงท่าทีในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเด็น

 

 

 

source :  reuters / news.mongabay

logoline