svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

01 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"แนวปะการัง" ป่าผืนใหญ่ใต้ท้องทะเลที่กำลังถูกทำลายเพราะการกระทำของมนุษย์ ชวนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปะการัง ถิ่นที่อยู่ของสรรพสิ่งใต้มหาสมุทร

ทุกวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันแนวปะการังโลก (World Coral Reef Day) ที่ย้ำให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของปะการัง บ้านหลังใหญ่ของสรรพสิ่งใต้ทะเลที่กำลังถูกมนุษย์ทำร้าย

รู้จักปะการังให้มากขึ้น

ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

"ปะการัง" เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในทะเล ประกอบด้วยตัวปะการังซึ่งเรียกว่า "โพลิป" (polyp) สร้างหินปูนเป็นแกนแข็งเพื่อค้ำจุนตัวเองไว้ ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มโคโลนีประกอบไปด้วยโพลิฟเดี่ยว ๆ จำนวนมาก เป็นกลุ่มที่สร้างแนวปะการังที่สำคัญพบในทะเลเขตร้อนที่สามารถดึงสารแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างเป็นโครงสร้างแข็งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้ โดยโพลิฟจะสร้างโครงสร้างแข็งที่มีลักษณะเฉพาะของปะการังแต่ละชนิด

"แนวปะการัง" เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป

โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล เปรียบเสมือนป่าดิบชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น

ความสำคัญต่อชีวิตต่อส่ิงมีชีวิต

แนวปะการังมีความสำคัญต่อชีวิตต่อส่ิงมีชีวิตในทะเลและมนุษย์ สายพันธุ์ทางทะเลกว่า 25% พึ่งแนวปะการังในการอยู่อาศัย เพาะพันธุ์วางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นกัดเซาะ เป็นแหล่งประมงอาหารสำหรับมนุษย์ สร้างทรายให้กับชายหาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในด้านการผลิตยารักษาโรคอีกด้วย ปะการังเป็นระบบนิเวศที่ไวต่อสิ่งต่างๆ ในช่วงปัจจุบันนี้ปะการังเผชิญปัญหาการฟอกขาว และได้รับความเสียหาย ลดลงอย่างมาก จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ และความเป็นกรดของน้ำทะเล ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายต่อปะการัง การประมงเกินขนาด และการท่องเที่ยวอย่างไม่มีการจัดการที่ดี ล้วนส่งผลต่อปะการัง ซึ่งถ้าหากปะการังฟอกขา หรือถูกทำลายมหาสมุทรจะสูญเสียระบบนิเวศไปด้วย

ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

ปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการังในท้องทะเลไทย

1. การพัฒนาชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างที่มีการเปิดหน้าดิน ขุดลอกพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อกิจการต่างๆ เช่น ทำถนน ก่อสร้างอาคาร ฯลฯ มีหลายแห่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องตะกอนถูกชะลงสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน หลายแห่งยังมีการจัดการป้องกันไม่ให้ตะกอนถูกพัดพาลงสู่ทะเลไม่ดีพอ เช่น บริเวณอ่าวต่างๆ รอบเกาะภูเก็ต และเกาะสมุย เป็นต้น

ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

2. การปล่อยน้ำเสียลงทะเล เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น อ่าวป่าตองที่จังหวัดภูเก็ตมีชุมชนขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับชุมชน แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับน้ำเสียทั้งหมดได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังในจุดที่เห็นได้ชัด คือ บริเวณตอนในของอ่าวป่าตอง พบว่า แนวปะการังตรงจุดนั้นเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ปัญหาที่อาจพบในบางท้องที่เรื่องการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลก็ยังพบอยู่ เช่น กรณีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงแรมขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่ามีระเบียบข้อบังคับให้โรงแรมที่มีขนาดใหญ่ (จำนวนห้องเกินกว่า 80 ห้องขึ้นไป) ต้องมีระบบบำบัด น้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่ยังคงมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล

3. การขุดแร่ในทะเล พื้นที่เขตจังหวัดภูเก็ตและพังงาเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ มีการทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งบนฝั่งและในทะเลมาช้านาน มีคำถามว่าการขุดแร่ในทะเลทำให้แนวปะการังเสียหายอย่างไร? อันที่จริงแล้ว การขุดแร่ในทะเลนั้นมิได้ขุดลงบนแนวปะการังโดยตรง แต่เป็นการขุดบนพื้นทะเลนอกแนวปะการังออกไป ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นหากการขุดแร่นั้นอยู่ใกล้แนวปะการัง เนื่องจากเกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนที่เกิดจากการขุดพื้นท้องทะเลและล้างแยกแร่ในเรือขุด ซึ่งมีการปล่อยน้ำล้างแร่ลงทะเลโดยตรง ตะกอนที่ฟุ้งกระจายในมวลน้ำอาจแพร่กระจายไปปกคลุมบนแนวปะการังที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากปัญหาเรื่องตะกอนแล้ว การขุดแร่ในทะเลอาจทำให้สภาพความลาดชันของพื้นดินใต้ทะเลเปลี่ยนแปลงไปด้วย หากมีการขุดใกล้หาด อาจทำให้ชายหาดทรุดตัวลงได้ ดังที่ปรากฏที่หาดในอ่าวบางเทา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านเรียกขานแหล่งนั้นว่า “เลพัง”จากที่เคยมีการทดลองในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับตะกอนที่มีผลต่อปะการัง ได้ผลสอดคล้องกับผลที่พบในธรรมชาติ กล่าวคือปะการังตายมากขึ้นเมื่อมีอัตราการตกตะกอนสูง ตะกอนที่ทับถมปะการังมีผลโดยตรงต่อการหายใจของปะการัง ซึ่งเป็นผลให้ปะการังตายในที่สุด ผลกระทบนี้เป็นผลกระทบทางด้านกายภาพโดยตรง พบว่าปะการังแต่ละชนิดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตะกอนแตกต่างกัน ปะการังโขด (Porites lutea) เมื่อถูกตะกอนตกทับถมจะยังคงมีชีวิตได้ระยะหนึ่ง โดยขึ้นอยู่กับปริมาณตะกอนที่ปกคลุม ปะการังจะสร้างเมือกแผ่นบางๆ ออกมา ซึ่งแผ่นเมือกนี้จะจับตะกอนไว้ กระแสน้ำและคลื่นจะช่วยพัดพาลอกเอาแผ่นเมือกออกไป ปะการังก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ในสถานการณ์ที่มีตะกอนมากเกินไป ปะการังไม่สามารถทนได้ ในที่สุดตัวปะการังอาจจะตายไป เพราะขาดอาหารและออกซิเจน ปริมาณตะกอนที่ปกคลุมบนปะการังมักมีชั้นหนาไม่เท่ากัน กล่าวคือ ด้านข้างของหัว เป็นส่วนที่ตะกอนปกคลุมได้น้อย ส่วนด้านบนของหัว (โดยเฉพาะส่วนที่เว้าลงไป) เป็นส่วนที่ตะกอนตกทับถมและสะสมได้ง่าย ส่วนที่ถูกตะกอนทับถมมักจะตายไป ซึ่งต่อมาถ้าหากมีกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาตะกอนออกไป เนื้อเยื่อปะการังส่วนที่อยู่ด้านข้างที่ยังมีชีวิตก็สามารถแตกหน่อแบ่งตัวขยายออกไป ปกคลุมพื้นผิวที่เนื้อเยื่อตายไปแล้วได้ ทำให้เกิดการฟื้นตัวได้ ดังที่พบที่อ่าวกมลาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพบว่าปะการังบางส่วนมีการฟื้นตัวหลังจากตะกอนถูกคลื่นทะเลพัดพาออกไปในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ได้ใช้ปะการัง 4 ชนิดในการทดลอง ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังกิ่งช่องเล็ก (Montipora digitata) ปะการังเขากวาง (Acropora / ormosa) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis) พบว่าปะการัง 2 ชนิดแรกทนทานต่อตะกอนได้มากกว่า 2 ชนิดหลัง

4. การทิ้งขยะลงทะเล ขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อแนวปะการัง คือ เศษอวน เกือบทุกท้องที่มักพบเศษอวนปกคลุมอยู่บนปะการัง อวนที่พบมีหลายประเภทและหลายขนาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น อวนที่ปกคลุมปะการังจะทำให้ปะการังตายไป เพราะปะการังไม่สามารถรับแสงแดดได้ และสาหร่ายที่มีลักษณะเหมือนตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมอวนอีกทีหนึ่ง สาหร่ายเหล่านั้นจับตะกอนในมวลน้ำไว้ ทำให้ปะการังตายเร็วขึ้น แหล่งที่มาของเศษอวนเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น 1) อาจเกิดจากชาวประมงซ่อมแซมอวนและตัดเศษอวนที่ไม่ใช้ทิ้งลงทะเล 2) ชาวประมงวางอวนถ่วงตามแนวปะการัง เมื่ออวนขาดและพันกับปะการัง ก็ไม่ได้เก็บขึ้นมา 3) อวนจากเรืออวนล้อมหรือเรืออวนลากขาด ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ และตกค้างบนแนวปะการัง 4) การลากอวนใกล้ชายฝั่งตามเกาะต่างๆ อาจทำให้อวนติดพันตามกองหิน ทำให้อวนขาดและตกค้างอยู่ในแนวปะการัง อนึ่ง การลากอวนบนแนวปะการัง ตามที่มีการกล่าวถึงกันเสมอนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะชาวประมงไม่เสี่ยงที่จะให้อวนติดพันกับปะการังซึ่งจะทำให้อวนเสียหายด้วย อีกประการหนึ่งปลาส่วนใหญ่ที่พบในแนวปะการังไม่ใช่ฝูงปลาเศรษฐกิจที่ใช้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นปลาสวยงาม ส่วนปลาเศรษฐกิจที่พบ เช่น ปลากะรัง ปลาสร้อยนกเขา ฯลฯ มักหลบอยู่ตามซอกปะการัง และไม่ได้อยู่แบบรวมฝูง ส่วนที่มีการกล่าวกันว่าลากอวนในแนวปะการังนั้น แท้ที่จริง น่าจะเป็นพื้นทรายที่มีกองหินปะปนอยู่ซึ่งบางแห่งอาจมีปะการังขึ้นคลุมหินอยู่อย่างประปราย ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องขยะในทะเลมากขึ้นในท้องที่หลายแห่งได้จัดกิจกรรมการเก็บขยะในทะเลเป็นประจำทุกปี เช่น บริเวณหาดป่าตองและเกาะเฮในจังหวัดภูเก็ต บริเวณเกาะกระดาน เกาะมุก เกาะแหวน และเกาะม้า หินแดง หินม่วง ในจังหวัดตรัง และเกาะพีพี ในจังหวัดกระบี่ เป็นต้น 

5. การระเบิดปลาในแนวปะการัง ตามกองหินใต้น้ำที่มีปะการังขึ้นเป็นหย่อมๆ มักพบปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูงอยู่ที่ระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เช่น ปลากล้วยญี่ปุ่น ปลากะพงข้างปาน และปลาโมง เป็นต้น ฝูงปลาเหล่านี้เป็นสิ่งล่อใจให้เกิดการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระเบิดปลา เป็นที่ทราบกันดีว่าการระเบิดปลาเป็นการทำลายปะการังอย่างรุนแรง เพราะแรงระเบิดนอกจากจะเป็นการฆ่าปลาตามเป้าหมายแล้ว ปะการังยังแตกหักเสียหาย ยากต่อการฟื้นตัว ในอดีตการระเบิดปลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปตามเกาะต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน เช่น หมู่เกาะอาดังราวี ในจังหวัดสตูล เกาะกระดาน และเกาะไหง ในจังหวัดตรัง ฯลฯ แต่การระเบิดปลาในแนวปะการังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการท่องเที่ยวทางทะเลมากขึ้น ทำให้การลักลอบระเบิดปลาทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลมากขึ้น

6. การใช้ยาเบื่อปลาในแนวปะการัง จุดประสงค์หลักในการใช้ยาเบื่อ เช่น ไซยาไนด์ ก็เพื่อจับสัตว์น้ำบางประเภท เช่นปลาสวยงามและกุ้งมังกรที่หลบซ่อนอยู่ตามซอกโพรงปะการัง โดยใช้ปริมาณสารเคมีที่ไม่รุนแรงถึงกับทำให้สัตว์น้ำที่ต้องการนั้นตาย แต่อยู่ในสภาพมึนงง จนถูกต้อนเข้าสวิงได้ สารพิษยังคงสะสมอยู่ในตัวสัตว์น้ำ ทำให้อยู่ในสภาพอ่อนแอและมีชีวิตสั้นลง ปะการังเองก็จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีด้วย แต่ยังไม่มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าผลกระทบที่เกิดกับปะการังรุนแรงมากน้อยเพียงไร ปัจจุบันยังพบว่าชาวประมงในบางพื้นที่ลักลอบใช้ไซยาไนด์ในการจับปลาและกุ้งมังกร

ภาวะคุกคามแนวปะการังที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์

7. การลักลอบเก็บปะการัง ปะการังที่มีชีวิตมักมีสีสีสันสวยงาม จึงมักนิยมใช้ประดับตู้ปลา ซากหินปะการังก็เช่นกัน มักถูกนำมาจัดตามตู้โชว์ แต่ในปัจจุบันนี้ปะการังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ประเภทสัตว์น้ำ) ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยห้ามมิให้บุคคลใดครอบครองปะการัง อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการกระทำผิดในกรณีนี้อยู่บ้าง

8. การลักลอบรื้อปะการัง กรณีนี้เป็นการรื้อปะการังที่อยู่ติดหาดออกไป โดยเฉพาะตามหาดที่อยู่หน้าสถานที่พักตากอากาศเพื่อให้เป็นพื้นทรายสำหรับนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ หรือเพื่อให้เรือขนาดเล็กสามารถวิ่งเข้าเทียบชายหาดได้ในช่วงน้ำลง กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในแนวปะการังเป็นอย่างมาก เพราะปะการังที่ถูกรื้อออกจากที่เดิมมักจะตายไปในที่สุด ในกรณีที่รื้อปะการังแล้วนำไปทับถมเพื่อสร้างเป็นแนวเขื่อนกันคลื่น ก็ยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะเป็นการกั้นการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ไหลเลียบฝั่ง อาจทำให้ลักษณะชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเกิดการกัดเซาะของชายฝั่งด้านหนึ่ง และเกิดการทับถมของตะกอนทรายในแนวปะการังหรือเกิดทรายทับถมหน้าหาดยื่นลงสู่ทะเลในอีกด้านหนึ่งของตัวเขื่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศเดิมอย่างสิ้นเชิง กรณีเช่นนี้ พบตามหาดในบางท้องที่ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี

9. การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ผลเสียหายเกิดทั้งจากการท่องเที่ยวประเภทดำที่ผิวน้ำ (skin diving) โดยมีการยืนหรือเดินเหยียบปะการังจนแตกหักเสียหาย และจากการท่องเที่ยวแบบดำน้ำลึก (scuba diving) ซึ่งนักดำน้ำอาจไม่ระมัดระวัง จนตีนกบกระแทกปะการังแตกหักเสียหาย ส่วนการทิ้งสมอลงในแนวปะการังนั้น ปัจจุบันพบน้อยลง เพราะในแนวปะการังหลายแห่งได้มีการติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือไว้

10. การเดินเหยียบย่ำ พลิกปะการัง ชาวประมงในหลายท้องที่ยังหากินโดยการค้นหา จับ สัตว์น้ำบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นหรือแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง สัตว์น้ำดังกล่าว เช่น หมึกยักษ์ ปลิงทะเล หอยสวยงาม ฯลฯ การรื้อ พลิกหินปะการังให้หงายขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับปะการังโดยตรง และยังทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่ขึ้นเคลือบอยู่ใต้หัวปะการัง เช่น ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม ไบรโอซัว ฯลฯ ซึ่งชอบขึ้นอยู่ในที่กำบังแดด ต้องตายไปเพราะได้ถูกแดดแผดเผา ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ

11. การรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดเรืออับปางก่อให้เกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เป็นกรณีที่เกิดไม่บ่อยนัก ส่วนการชะล้างน้ำมันจากเรือประมง เรือท่องเที่ยว และเรือหางยาวลงสู่ทะเล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอ่าวที่มีท่าเรือ

 

 

 

logoline