svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร? 

22 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

22 พฤษภาคม : วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Biodiversity Day) แล้วรู้หรือไม่ว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อมนุษย์เราอย่างไร?

ทุกวันที่ 22 พฤษภาคม องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็น “วันสากลเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ”  หรือ International Day for Biological Diversity เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในปี ค.ศ. 1992

ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร? 

ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร?

พืช สัตว์ แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมนุษย์ ต่างล้วนอาศัยอยู่ในถิ่นฐานเฉพาะของตน ดำเนินชีวิตในระบบนิเวศที่มีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมที่หลากหลายเป็นระยะเวลาหลายล้านปี และความหลากหลายในสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกลายเป็นองค์ประกอบและพื้นฐานสำคัญของธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก ซึ่งโดยทั่วไปความหลากหลายทางชีวภาพสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ลำดับ คือ

  1. ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) คือความแปรผันทางพันธุกรรมภายในสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อมาถึง “ยีน” (Gene) ส่งผลให้มีเอกลักษณ์ ลักษณะเด่นหรือความแตกต่างในประชากรของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เช่น ลวดลายต่าง ๆ ของแมว สีผิวหนัง แววตาเป็นต้น
  2. ความหลายหลายทางชนิดพันธุ์ (Species Diversity) คือความแปรผันทางชนิดพันธุ์ (Species) ที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่มของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความหลากหลายของพันธุกรรมที่สะสมและวิวัฒนาการเป็นยาวนาน ซึ่งความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ถือเป็นผลจากกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงออกไป
  3. ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecological Diversity) คือการดำรงอยู่ของระบบนิเวศแต่ละประเภทบนโลกก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystems) และระบบนิเวศในน้ำ (Aquatic Ecosystems) เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเลสาบ หรือชายหาดและแนวปักการัง และระบบนิเวศเมือง (Eco Urban System) ซึ่งเป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่แต่ละพื้นที่ก็จะมีลักษณะและประเภทที่แตกต่างออกไปด้วย

ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร? 

มิติของความหมายในนิยามของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จึงมีความหมายอย่างกว้าง แต่อธิบายได้ว่า คือความหลากหลายของชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ และความมีมากนี่เองที่ทำให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถมีทางเลือกในการดำเนินชีวิต เช่น การที่ทั้งคนและสัตว์ได้มีอาหารบริโภคที่หลากหลาย สัตว์เองก็สามารถมีที่พักพิงอาศัย มีอาหารที่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันความหลากหลายยังช่วยกระจายความเท่าเทียมในสังคมอีกด้วย เพราะเมื่อมีจำนวนที่มากหลากหลาย ย่อมหมายถึง “ราคาที่สมเหตุสมผล”

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รายงานว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้บันทึกสถิติภัยพิบัติครั้งใหญ่ได้มากกว่า 7,000 เหตุการณ์ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 1.2 ล้านชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 4,000 ล้านชีวิต แต่มนุษย์ก็ไม่อาจป้องกันตนเองจากภัยพิบัติเหล่านี้ได้ เราจึงต้องพึ่งพาระบบทางธรรมชาติ (Natural System) มาป้องกันเราจากภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นและยังคงทวีความรุนแรงและถี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

The State of the World’s Forests (SOFO) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 420 ล้านเฮกตาร์หรือ 2,625 ล้านไร่ สาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง  แต่ในทุกๆ ปี โลกยังสูญเสียป่าไม้ปีละ 10 ล้านเฮกตาร์หรือ 62.50 ล้านไร่ 

จากที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้โดยง่ายเท่านั้น แต่มากไปกว่านั้นความหลากหลายทางชีวภาพอาจสามารถมองเป็นภาพรวมของการมีทรัพยากร หากทรัพยากรลดลง ราคาของทรัพยากรนั้นก็จะมีราคาที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมคือ การแก่งแย่งทรัพยากรที่เหลืออยู่ การกักตุนอาหาร ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำรวมถึงปัญหาอาชญากรรมอาจเพิ่มสูงขึ้น ดังประโยคที่เราเคยได้ยินบ่อยครั้งว่า “ไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้ แต่ถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้”

ในทางกลับกัน หากเรามีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศจะอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชป่า ธัญญาหารล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ในภาคการเกษตร เกษตรกรสามารถเลือกเพาะปลูกได้หลากหลายชนิดพันธุ์มากยิ่งขึ้น สามารถสลับสับเปลี่ยนชนิดพันธุ์ได้ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่หลากหลาย ส่งผลต่อมายังผู้บริโภคที่สามารถเลือกบริโภคได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นและได้สินค้าในราคาที่ย่อมเยา สำหรับในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ต้นทุนของทรัพยากรที่จัดซื้อเข้ามาประกอบกิจการหรือทำกิจกรรมภายในจะมีต้นทุนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับในสถานการณ์ที่ความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง

ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร? 

ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น ภายในสิ่งแวดล้อมเมืองเราก็สามารถพบความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากมนุษย์ เช่น กระรอก สุนัข แมว แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งหากภายในเมืองไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพเลย นั่นหมายถึง การมีมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวภายในเมือง พร้อมกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สิ่งก่อสร้าง  ยานพาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเราอาจสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าปราศจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ภายในสิ่งแวดล้อมเมือง การดำรงชีวิตเราในเชิงของความรู้สึกและอารมณ์ของเราอาจมีความแตกต่างมากกว่าเดิม เนื่องจากมีเพียงมนุษย์กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตที่ไร้ความรู้สึกและจิตใจ รวมทั้งการบริโภคของเราก็จะเปลี่ยนไป เราจะต้องมีการนำเข้าสินค้าในระยะทางที่ไกลขึ้นและมีราคาที่สูงขึ้น

ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสอดคล้องและเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพียงแค่หนึ่งคนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง ย่อมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นและอาจส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่น ในท้ายที่สุดแล้วย่อมก่อเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

logoline