svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

'เห็ดพิษ' ผลผลิตจากป่าที่อาจคร่าชีวิตคนได้

24 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก “สารพิษชีวภาพ” ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ พร้อมจับจุดสังเกต 10 ลักษณะ "เห็ดพิษ" ที่ต้องระวังก่อนรับประทาน

เริ่มต้น "ฤดูฝน" ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องการเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ 2566 ที่ระบุว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อน และจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566  พร้อมคาดการณ์อากาศว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่า เป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยแล้ว

'เห็ดพิษ' ผลผลิตจากป่าที่อาจคร่าชีวิตคนได้

แม้ว่าปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณ 5% และน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2567

หน้าฝน "ฤดูของเห็ด" กับอันตรายที่คาดไม่ถึง

สภาพแวดล้อมในช่วงฤดูฝน เหมาะกับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของ “เห็ด” ทำให้มีผู้คนบางพื้นที่นิยมเก็บเห็ดป่าไปรับประทาน หรืออาจซื้อเห็ดมาจากตลาดเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งเราควรที่จะศึกษาข้อมูล และสังเกตก่อนรับประทานเห็ดเสมอ เพราะถ้าเกิดความเข้าใจผิดนำเห็ดพิษมาประกอบอาหาร อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต! 

สารพิษจากเห็ด

เมื่อภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดตั้งแต่จุลินทรีย์, เห็ด, รา, ตลอดจนพืชและสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งจุลินทรีย์, รา, และเห็ดเหล่านี้สามารถสร้าง “สารพิษชีวภาพ” ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้

สารพิษชีวภาพ คือสารที่เกิดจากกระบวนการทางสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อคนหรือสัตว์ได้รับสารดังกล่าวนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดพยาธิสภาพทำให้เจ็บป่วยจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตได้

 

สารพิษจากเห็ดในบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีเห็ดมากมายหลายชนิดที่มีพิษ ปัญหาที่สำคัญเมื่อพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ คือ แพทย์หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่รู้จักเห็ดชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม ในเห็ดพิษชนิดเดียวกันอาจมีสารชีวพิษอยู่หลายชนิดต่างๆ กัน ตามพื้นที่ที่เห็ดงอก รวมทั้งการพิสูจน์ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใด อาจต้องใช้เวลามากจนให้การรักษาไม่ทันการ การวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษจึงขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิก โดยเฉพาะอาการแสดงเบื้องต้นและระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการเป็นสำคัญ 

โดยการรักษาผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย การลดปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับ และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียนควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหารในกรณีที่ทำให้อาเจียนไม่ได้, ให้ผงถ่านแก่ผู้ป่วยทุกราย และถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วงควรให้ยาระบายด้วย

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 21 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 12 ราย และเสียชีวิตถึง 2 รายด้วยกัน

'เห็ดพิษ' ผลผลิตจากป่าที่อาจคร่าชีวิตคนได้

10 ลักษณะเห็ดพิษที่ต้องระวังก่อนจะเลือกรับประทาน

1. เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นปุ่มขรุขระ

2. เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก

3. เห็ดที่มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน 

4. เห็ดที่มีกลิ่นรุนแรงเมื่อดอกแก่

5. เห็ดที่หมวกเห็ดมีสีน้ำตาล หรือสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อเหยื่อ

6. เห็ดที่มีลักษณะสีขาวทั้งดอก

7. เห็ดที่เกิดใกล้กับมูลสัตว์

8.  เห็ดที่หมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา

9. เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง

10. เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์

 

เห็ดพิษที่สำคัญในเมืองไทย

'เห็ดพิษ' ผลผลิตจากป่าที่อาจคร่าชีวิตคนได้

ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น

1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน

2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 

3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า

4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้    เป็นต้น สำหรับวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

จึงขอเน้นย้ำประชาชนว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ไม่ควรล้วงคอ หรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มขึ้นหรือติดเชื้อได้ ดังนั้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร / กรมวิชาการเกษตร / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

logoline