svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

'ไมโครเวฟ' ผู้ช่วยอุ่นร้อนที่ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

18 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการย้ำความมั่นใจในการใช้ "ไมโครเวฟ" ตัวช่วยคนยุคใหม่ อุ่นร้อนเร็ว สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่กลายเป็นตัวช่วยคนยุคใหม่คือ "เตาไมโครเวฟ" อุปกรณ์อุ่นร้อนและประกอบอาหารที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีแทนที่จะใช้พลังงานจากเตาไฟฟ้าซึ่งหากเทียบกันแล้วเรียกได้ว่าย่นระยะเวลาได้มากกว่า และช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปค่าการใช้ประสิทธิภาพพลังงานของเตาไมโครเวฟมีค่าประมาณร้อยละ 52 นอกจากนี้ ยังต้องมีการควบคุมการปลดปล่อยคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

\'ไมโครเวฟ\' ผู้ช่วยอุ่นร้อนที่ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลโดย รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เรื่องการทำงานของไมโครเวฟ ว่าแม้ไมโครเวฟจะไม่ใช่ของใหม่ แต่เราจำเป็นต้องรู้จักวิธีการทำงานและวิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยทั้งของผู้บริโภคและอาหาร สำหรับ "ไมโครเวฟ" เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมากถึง 2,450 ล้านรอบต่อวินาที (แต่ไม่ใช่รังสีในแบบของกัมมันตภาพรังสี) มีลักษณะคล้ายกับคลื่นวิทยุแต่มีความถี่สั้นกว่า นอกจากใช้ในการให้ความร้อนกับอาหารแล้วยังใช้เป็นสัญญาณไวไฟสำหรับส่งอินเตอร์เน็ตอีกด้วย ซึ่งคลื่นไมโครเวฟไม่เป็นอันตรายและไม่กระจายหรือสะสมในร่างกายมนุษย์ โดยมีแมกนิตรอนที่เป็นตัวเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นคลื่นไมโครเวฟ 

ทั้งนี้ คลื่นไมโครเวฟจะพุ่งเข้าสู่อาหารจากทุกทิศทุกทางจากด้านในเตาแล้วแผ่กระจายไปสู่อาหาร เมื่อคลื่นไปกระทบอาหาร ทําให้โมเลกุลของอาหารเกิดการสั่นและเสียดสีกัน เกิดเป็นความร้อนทําให้อาหารสุกอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการที่เราถูมือและแขนเพื่อให้เกิดความอบอุ่น ความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ จะช่วยรักษาคุณค่าของอาหารไว้อย่างครบถ้วน นอกจากความสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีการดั้งเดิมในการให้ความร้อนด้วยเตาแก๊สหรือเตาทั่วไปผ่านกระบวนการหุง ต้ม อบ นึ่ง ปิ้ง ย่าง ทอด ไมโครเวฟยังช่วยประหยัด เพิ่มความปลอดภัย และไร้เขม่าควัน

\'ไมโครเวฟ\' ผู้ช่วยอุ่นร้อนที่ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภค จำเป็นต้องรู้และเข้าใจวิธีการใช้เตาไมโครเวฟอย่างถูกต้องและปลอดภัย 3 ประการ คือ

1. คลื่นไมโครเวฟไม่สามารถทะลุผ่านภาชนะที่เป็นโลหะหรือมีส่วนผสมของโลหะได้ คลื่นจะสะท้อนกลับ (Reflection) ผิวเคลือบโลหะของภาชนะอาจเกิดความร้อนสูง เกิดเป็นประกายไฟหรือเปลวไฟ ทำอันตรายกับเตาไมโครเวฟได้

2. คลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุผ่าน (Transmission) ภาชนะที่ทำจากแก้ว กระดาษ ไม้ เซรามิกและพลาสติกได้ จึงเป็นภาชนะที่ใช้ได้ดีในเตาไมโครเวฟ

3. อาหารทั่วๆ ไป ประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำ ซึ่งจะดูดซึมคลื่นไมโครเวฟ ทําให้อาหารร้อนอย่างรวดเร็ว แต่ตัวคลื่นจะหายไปทันทีหลังจากให้ความร้อนโดยไม่สะสมในอาหารแต่อย่างใด

สำหรับภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้ดีคือ ภาชนะกระเบื้อง เช่น จาน ชาม ถ้วย หรือภาชนะก้นลึกที่ใช่รับประทานอาหาร ภาชนะแก้วทนไฟ ภาชนะแก้วที่ใช้สําหรับเตาธรรมดา ภาชนะแก้วที่ทนความร้อน เช่น ไพเร็กซ์ คอร์นนิ่งแวร์ เครื่องเคลือบเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะกระดาษ ใช้สําหรับอาหารที่ต้องการให้ความร้อนไม่มาก เช่น การอุ่นอาหารหรืออาหารที่ใช้เวลาทำให้สุกสั้นมากและสําหรับอาหารที่ไม่มีมันมาก ภาชนะพลาสติก เช่น ถุงพลาสติกทนร้อน และภาชนะพลาสติกที่ออกแบบมาโดยเฉพาะกับการใช้งานและต้องระบุด้วยว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้ (Microwavable)

ส่วนภาชนะที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ภาชนะโลหะ ภาชนะเคลือบโลหะหรือมีขอบเป็นโลหะ เงิน ทอง อะลูมิเนียมฟอยด์ และภาชนะประเภทไม้

 

“นอกจากความสะดวกสบายแล้ว ไมโครเวฟยังปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ และช่วยคงคุณค่าของอาหาร ทั้งรสและสีสันน่ารับประทานไว้ครบถ้วน เพราะการประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ทําให้ประหยัดเวลาและพลังงาน” รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าว 

 

ข้อควรระวังในการใช้เตาไมโครเวฟ มีดังนี้ 

  1. อย่าใช้เตาไมโครเวฟในขณะที่ประตูเปิดอยู่ จะทําให้คลื่นไมโครเวฟพุ่งออกมาด้านนอกเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ดี ตามปกติแล้วเตาไมโครเวฟจะมีกลไกที่จะไม่ทำงานหากประตูตู้เปิดอยู่
  2. อย่าใช้เตาอบไมโครเวฟที่ชํารุดเสียหาย มีการผุกร่อนของผนังเตา ประตูปิดไม่สนิทบานพับและสลักนิรภัยแตกหัก และกระจกของประตูแตก
  3. ห้ามเปิดเครื่องใช้งานโดยไม่มีอาหารหรือนํ้าอยู่ในเตา เพราะอาจทำความเสียหายกับตู้เองเนื่องจากพลังงานที่ส่งออกมาไม่ได้นำไปใช้ในการอุ่นอาหาร
  4. ต้องเปิดฝาภาชนะประเภทขวดที่มีอาหารบรรจุอยู่ ก่อนนำเข้าไมโครเวฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นดันให้ภาชนะแตก ดังนั้นจึงไม่ควรนําไข่ทั้งฟองเข้าเตาอบ เพราะจะทําให้ไข่แตกกระจายได้
  5. ห้ามทอดอาหาร หรือคั่วข้าวโพดในเตาอบไมโครเวฟ เพราะความร้อนที่สูงเมื่อเจอกับน้ำมัน อาจจะทำให้อาหารลุกไหม้ได้
  6. ห้ามใช้ เตาไมโครเวฟอุ่นสารเคมี อบผ้าหรือกระดาษที่เปียกให้แห้ง เพราะจะทําให้เกิดการลุกไหม้และทำให้เตาอบชํารุด
  7. ไม่ควรซ่อมหรือปรับเตาไมโครเวฟด้วยตัวเอง ควรเรียกช่างผู้ชำนาญการมาตรวจสอบเท่านั้น

เตาไมโครเวฟ นับเป็นเครื่องไฟฟ้าอีกหนึ่งชนิดที่อำนวยความสะดวกในยุคดิจิทัล ช่วยให้ชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้เวลานานกับการปรุงอาหารอย่างถูกต้อง แต่ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของไมโครเวฟและใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและเข้าใจ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้และการรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ให้ครบ

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นยังสอดคล้องกับคำอธิบายของนักวิชาการ รวมถึงแพทย์ อาทิ รศ.พญ.สุพัตรา แสงรุจิ จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่อธิบายเรื่องคลื่นที่ใช้ในไมโครเวฟมีอันตรายต่อสุขภาพด้านใดหรือไม่? ซึ่งคำตอบคือ คลื่น Microwave ที่ใช้ในการปรุงอาหารไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ เพราะคลื่นจะสลายตัวไปไม่สะสมในอาหาร เมื่อรับประทานอาหารที่ทำให้สุกด้วย Microwave จึงไม่เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับการจ้องมองแสงในขณะที่กำลังทำงานมีอันตรายต่อดวงตา จริงหรือไม่? คำตอบตอบคือ ไม่จริง เพราะคลื่น Microwave ไม่สามารถจะทะลุทะลวงผ่านผนังตู้และฝาตู้ออกมาได้ เพราะมีแรงทะลุทะลวงต่ำกว่า infrared แสงธรรมดา และ Ultraviolet และรังสีเอ็กซ์หรือรังสีแกมมา และแสงที่เรามองเห็นในตู้ไม่ใช่แสงของคลื่น Microwave แต่เป็นแสงของดวงไฟฟ้าที่เขาติดตั้งไว้ให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในตู้ขณะเครื่องทำงานเท่านั้นเอง

และประเด็นเรื่องอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยไมโครเวฟจะมีรังสีตกค้างหรือปะปนมาในอาหารหรือไม่? คำตอบคือ อาหารที่ผ่านการปรุงด้วย Microwave จะไม่มีรังสีตกค้าง หรือปะปนมาในอาหารเพราะรังสีเป็นคลื่นพุ่งผ่าน แล้วมอบพลังงานของมันให้กับสิ่งที่มันพุ่งผ่านไป เมื่อพลังงานของมันหมดมันก็สลายตัวไป คงเหลือแต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังมันวิ่งผ่านไปคือเกิดความร้อนทำให้อาหารสุกนั่นเอง

 

logoline