svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เปิดความหมาย 6 สัญลักษณ์รักษ์โลก ตราที่ปรากฏบนสินค้าบอกเราว่าอะไรบ้าง?

23 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลือกซื้อสินค้าครั้งต่อไป อยากมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังเกตสัญลักษณ์รักษ์โลกพร้อมเข้าใจความหมาย แค่นี้ก็ช่วยโลกได้แล้ว

สัญลักษณ์รักษ์โลก คือสัญลักษณ์ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ หรือฉลากของผลิตภัณฑ์บางประเภท และสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะบ่งบอกถึงความสามารถในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นจะสามารถทำได้ เช่น สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ เป็นต้น

รูปปรากฏของสัญลักษณ์เหล่านั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เพราะนอกจากสัญลักษณ์เหล่านั้นจะช่วยบ่งบอกถึงขั้นการผลิต คุณสมบัติ หรือวิธีใช้งานที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว บางครั้งยังช่วยทำให้เราสามารถกำจัดผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานได้แล้วอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน ซึ่งการกำจัดขยะอย่างถูกต้องก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยอนุรักษ์โลก และเพิ่มความปลอดภัยในการกำจัดขยะ เนื่องจากการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

เปิดความหมาย 6 สัญลักษณ์รักษ์โลก ตราที่ปรากฏบนสินค้าบอกเราว่าอะไรบ้าง?

สำหรับสัญลักษณ์รักษ์โลกเหล่านี้เราจะสามารถพบเจอได้ตามผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แต่บางสัญลักษณ์ก็ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เนื่องจากสัญลักษณ์เหล่านั้นอาจจะอยู่บนผลิตภัณฑ์ หรือสินค้ากลุ่มเฉพาะที่เราไม่ได้พบเจอ หรือใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป หรืออาจอยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน

เปิดความหมาย 6 สัญลักษณ์รักษ์โลก ตราที่ปรากฏบนสินค้าบอกเราว่าอะไรบ้าง?

1.ฉลากเขียว (green label หรือ eco-label)

ฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า  เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกัน โดยที่คุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กําหนด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หมายถึง สินค้าและบริการหลายประเภท ยกเว้นอาหาร ยา และเครื่องดื่ม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งสามประเภทดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพความปลอดภัยในการบริโภค มากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม การติดฉลากเขียวจะสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคได้

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์จะมีการพิจารณาและกำหนดแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการและความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย คือครบทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั่นเอง ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  การลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทางสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ (reuse) และการแปรใช้ใหม่ (recycle)

1. เป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคทั่วไปในชีวิตประจําวัน เช่น กระดาษ สี อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรืออุปกรณ์ประหยัดน้ำ

2. ต้องคํานึงถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับเมื่อ ผลิตภัณฑ์นั้นจําหน่ายออกสู่ตลาด

3. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นในการผลิตที่จะทําให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

หน่วยงาน : มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

2. ฉลากลดโลกร้อน (carbon footprint)

ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

1. ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ลดลงจากเดิม (เปรียบเทียบกับค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีฐาน) : ผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบัน เทียบกับข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ในปีฐานแล้วพบว่าค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 2

2. ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ : ผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เมื่อนำมาเทียบกับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันพบว่า ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ

หน่วยงาน :  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

 

3.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) 

เป็นฉลากที่เราพบได้บนสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แสดงถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดทาง ตั้งแต่ได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งการนำไปใช้ และการกำจัดซาก ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มีอายุการรับรองฉลากเป็นเวลา 3 ปี

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องอ้างอิงหรือสอดคล้องกับข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Product Category Rule: PCR) ซึ่งแบ่งแยกตามสินค้าแต่ละประเภท

หน่วยงาน :  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

4.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization)

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมีอายุการรับรองเป็นระยะเวลา 1 ปี

หน่วยงาน :  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

5. FSC (Forest Stewardship Council)

คือองค์กรนานาชาติที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนการดูแลป่าไม้ทั่วโลกอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และสามารถบริหารจัดการให้เกิดผลทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสินค้าที่มีสัญลักษณ์นี้ติดอยู่แสดงว่าเป็นสินค้าที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนไม้ที่นำไปใช้ในการผลิตและแปรรูป

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

     1. ถูกต้องตามกฎหมาย (Compliance with laws)

     2. การจ้างงานอย่างเป็นธรรม (Workers’ rights and employment conditions)

     3. เคารพสิทธิของคนพื้นเมืองในท้องที่ (Indigenous peoples’ rights)

     4. เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (Community relations)

     5. การใช้ผลประโยชน์จากป่าไม้ (Benefits from the forest)

     6. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental values and impact)

     7. มีแผนงานในการจัดการ (Management planning)

     8. การติดตามและประเมินผล (Monitoring and assessment)

     9. ใส่ใจป่าไม้ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High conservation values)

     10. การดำเนินกิจกรรมอย่างสอดคล้อง (Implementation of management activities)

หน่วยงาน :  FSC® International

 

6.ฉลากคูลโหมด (CoolMode)

เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี  ทำให้สวมใส่สบาย ไม่ร้อนอบอ้าว สามารถสวมใส่ในอาคารหรือห้องที่มีอุณภูมิเครื่องปรับอากาศ 25 องศา ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บเป็นผ้าที่มีการพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อจากผิวหนังและระเหยออก จึงช่วยเพิ่มความสบายและความเย็นในขณะสวมใส่ เสื้อผ้า CoolMode จึงช่วยรองรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณา

ผ้าสำหรับทำเป็นเสื้อผ้าลดโลกร้อน ต้องเป็นผ้าที่สวมใส่แล้วเย็นสบายและทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อลดการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ การซักทำความสะอาด และการใช้นํ้า เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใย ประดิษฐ์และอาจผสมเส้นใยสังเคราะห์ที่มีการพัฒนาให้มีสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อจากผิวหนัง และระเหยออกผ่านสู่ผิวผ้าด้านนอกเพื่อเพิ่มควาสบาย ในการสวมใส่หรือมีการเพิ่มความเย็นสบายให้กับผู้สวมใส่ด้วยนวัตกรรม เช่น การใช้เทคโนโลยีพิเศษผลิตเส้นใย (fiber technology) หรือการใช้เทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จด้วยสารชีวภาพ (biotech finishing technology) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิผิวหนัง ทั้งนี้ผ้าต้องมีคุณภาพควาคงทนได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้สวมใส่ด้วย

หน่วยงาน :  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

เปิดความหมาย 6 สัญลักษณ์รักษ์โลก ตราที่ปรากฏบนสินค้าบอกเราว่าอะไรบ้าง?

โดยนอกจาก 6 สัญลักษณ์รักษ์โลกที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มักจะพบเห็นได้บนผลิตภัณฑ์เพื่อบ่งบอกคุณสมบัติต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ เช่น

The Mobius Loop หรือสามเหลี่ยมรีไซเคิล เป็นสัญลักษณ์ระดับสากลมาจาก Reduce, Reuse, Recycle ซึ่งหมายถึงสินค้าชิ้นนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือ สินค้าชิ้นนี้ผลิต หรือ มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล

Waste electrical จะติดอยู่บนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถทิ้ง หรือ กำจัดรวมกับขยะทั่วไปได้ ต้องแยกทิ้งในที่ๆ ได้ถูกจัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทิ้งกับขยะทั่วไปได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ต่าง ๆ เป็นต้น

Hazardous เป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ที่มีสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นอันตราย ไวไฟ หรือเป็นพิษ หากผลิตภัณฑ์ใดมีสัญลักษณ์นี้ ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ รวมไปถึงไม่นำไปรีไซเคิล และควรหาวิธีกำจัดให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย

Compostable สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสินค้าชิ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสินค้าผลิตมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ และได้รับการรับรองจากสถาบัน Biodegradable Products Institute

The Green Dot เป็นสัญลักษณ์ที่สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จากทางยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เช่น ฝรั่งเศส, อิตาลี, อังกฤษ และ เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งสัญลักษณ์นี้บ่งบอกว่าผู้ผลิตสินค้าชิ้นนี้ได้สนับสนุนโครงการรีไซเคิลโดยที่ทางผู้ผลิตจะนำรายได้จากการขายสินค้าส่วนหนึ่งไปเป็นค่าดำเนินการในการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง และปลอดภัย

Recycling codes เป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสัญลักษณ์นี้สามารถบ่งบอกประเภทของวัสดุเพื่อช่วยให้เราสามารถนำขยะนั้นไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น และยังสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมอีกด้วย

Tidy man เป็นสัญลักษณ์ที่เตือน และรณรงค์ให้ผู้คนทิ้งขยะลงในถังขยะ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสะอาด เรียบร้อย และเป็นระเบียบ

CE marking เป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยต่อคน และสิ่งแวดล้อมที่สามารถวางขายในประเทศในยุโรปได้

สัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นมาจากระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพโดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์ขึ้นมา

เป็นอย่างไรกันบ้างกับบรรดาสัญลักษณ์บนสินค้าที่เราอาจคุ้นตามากขึ้น เพราะประเทศไทยให้ความสนใจกับการรักษ์โลกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกคนร่วมมือร่วมใจช่วยกันคนละไม้คนละมือด้วยการการเลือกซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ เราก็คงจะสามารถรักษาโลกใบนี้ไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างแน่นอน  

 

 

source : smethailandclub / pttgrouprayong

logoline