svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ชวนรู้จักวันป่าไม้โลก World Forestry Day

21 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

21 มีนาคม : วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ชวนคนทั่วโลกสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบันที่มีอยู่จำกัด

ความเป็นมาของวันป่าไม้โลก

วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) มีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชาทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้น องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบันที่มีอยู่จำกัด

ชวนรู้จักวันป่าไม้โลก World Forestry Day

หนึ่งในสาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันป่าไม้โลก เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (วันที่ 21 มีนาคม และ 22 กันยายนของทุกปี) หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนหมุนของโลกที่เอียง (Earth’s axial tilt) จะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ จุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า วิษุวัต (Equinox) เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึงเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดีและในวันที่ 21 มีนาคม ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ศารทวิษุวิตของเขตซีกโลกใต้” (Autumnal equinox in Southern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง (วันศารท คือ วันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้) และ วสันตวิษุของซีกโลกเหนือ (Vernal Equinox in Northern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิเขตซีกโลกเหนือ

ทั้งนี้ FAO ได้เลือกวันดังกล่าวเป็นวันเฉลิมฉลองป่าไม้โลก เพื่อส่งเสริมแลประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. การป้องกัน (Protection)
  2. ผลิตผลป่าไม้ (Producion)
  3. การนันทนาการ (Recreation)

ชวนรู้จักวันป่าไม้โลก World Forestry Day

ความสำคัญของ ”ป่าไม้”

ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ ได้แก่ แหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับสิ่งมีชีวิต ซึ่งป่าไม้ยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ถ้าป่าไม้ถูกทำลายย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ

ผลพวงเมื่อป่าไม้ถูกทำลายจะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย เพราะเมื่อมีการเผาหรือทำลายป่าจะส่งผลให้พื้นดินขาดพืชปกคลุมหน้าดิน เมื่อถึงฤดูฝน น้ำฝนที่ตกลงมาจะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไปทั้งหมด นอกจากนั้น ถ้าไม่มีต้นไม้แล้วจะไม่มีพืชคอยดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกหนักจะทำให้เกิดน้ำไหล่บ่าลงท่วมพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่ม และเมื่อถึงฤดูแล้งก็จะไม่มีน้ำใต้ดินเพื่อหล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธานทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็กำลังลังเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบของปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้เกษตรกรทำนาไม่ได้ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้เนื่องจากมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าป่าไม้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม

ไทยประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ภายใน พ.ศ. 2573 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580

ครั้งหนึ่งในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ นานาประเทศมีความตกลงและเห็นชอบร่วมกันว่าจะยุติการทำลายป่าในปี ค.ศ. 2030

สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ภายใน พ.ศ. 2573 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580  ซึ่งประเด็นเรื่องของความสำคัญด้านคุณค่าของป่าไม้ มิได้พึ่งเริ่มกล่าวถึงเฉพาะใน COP26 เท่านั้น แต่มีการให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี 

ชวนรู้จักวันป่าไม้โลก World Forestry Day

ตลอดระยะเวลายาวนานหลายร้อยล้านปี “ป่าไม้” ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sinks) ชั้นเยี่ยม เจริญเติบโตตามธรรมชาติ เพียงแค่มีดิน น้ำ อากาศ แสงแดด และความชื้น ในระดับที่เหมาะสมกับชนิดพันธุ์ เหล่าบรรดาพืชน้อยต้นอ่อนเจริญงอกงามกลายเป็นป่าใหญ่ อุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ดึงดูดเหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งน้อยใหญ่มารวมตัวกัน ทั้งนักล่า เหยื่อ และผู้ย่อยสลาย ก่อเกิดห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศ

ภายหลังเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จนกระทั่งมนุษย์ได้ถือกำเนิดและวิวัฒนาการ มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ในการดำรงชีวิตและเรียนรู้การพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในอดีตมนุษย์มีการใช้ทรัพยากรในระดับที่ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูได้ แต่ภายหลังเมื่อมีการใช้ทรัพยากรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติลดลงส่งผลให้แหล่งกักเก็บคาร์บอนลดลง (แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลดปล่อยคาร์บอนมากยิ่งขึ้น) และสัตว์ป่าถูกคุกคามมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เกินขีดความสามารถที่ป่าไม้จะสามารถฟื้นฟูได้

ทั้งหมดจึงกลายเป็นที่มาของความสำคัญของวันป่าไม้โลก หรือ International Day of Forests ในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี รวมทั้งข้อตกลงและความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือมีส่วนช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยชะลอภาวะโลกรวนลงได้ คือการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และการใช้ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

 

logoline