svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ไฟเขียว"งบวิจัย" ครม.อนุมัติงบกองทุนส่งเสริมวิจัยฯ 3.1 หมื่นล้านบาท

10 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คณะรัฐมนตรี" มีมติเห็นชอบ กรอบงบประมาณ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม "งบวิจัย-นวัตกรรม" จำนวน 31,100 ล้านบาท

10 มกราคม 2566  "นางสาวรัชดา ธนาดิเรก" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ว่า  ครม.อนุมัติกรอบวงเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท เพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย โดยแบ่งเป็น กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 114,970.40 ล้านบาท  และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 31,100 ล้านบาท

 

โดยใช้ระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ กรอบวงเงินที่จัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ตอบโจทย์สำคัญและความเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยมีรายละเอียดแต่ละกรอบวงเงิน ดังนี้

1.กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 114,970.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. จำนวน 155 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านการอุดมศึกษา อาทิ 1) จัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญา จำนวน 1,345,086 คน โดยเป็นสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภาพ จำนวน 415,525 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักศึกษารวมปีการศึกษา 2566

2)พัฒนากำลังคนในหลักสูตร Non-Degree (Re-Skills, Up-Skills, New Skills) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน

3)พัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต (Non–age group) จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน

4)เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน  5)โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากร สร้างความเป็นนานาชาติ ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีผลลัพธ์จากโครงการ เช่น สร้างบัณฑิตทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมประเทศ 15,000 คน ผู้ประกอบการผ่านการสร้างศักยภาพธุรกิจนวัตกรรม 3,000 ราย พัฒนาหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาเทคนิคระดับสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 30 หลักสูตร ยกระดับขีดความสามารถคณาจารย์และนักวิจัย 1,500 คน และสร้างความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับชาติ 30 แห่ง

2.กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมถึงผลักดันและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 ดังนี้
 
1.การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 10,885 ล้านบาท (ร้อยละ 35)
 
2.การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 9,330 ล้านบาท (ร้อยละ 30)
 
3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ายุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต จำนวน 4,665 ล้านบาท (ร้อยละ 15)
 
4.การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 6,220 ล้านบาท (ร้อยละ 20)
 
"นางสาวรัชดา"  กล่าวด้วยว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ 1)ไทยมีการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น 2)ไทยมีศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) ของอาเซียน และมีศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แห่ง

 

"รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล"  ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

ด้าน"รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล" ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 31,100 ล้านบาท ตามที่ สกสว. เสนอผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

 

กองทุนฯ จะแบ่งการใช้งบประมาณเป็น 3 ส่วน ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ผ่านมติ ครม.แล้ว คือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ภาวะฉุกเฉิน และเพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาความรู้ขั้นแนวหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายในอนาคต

 

ทั้งนี้ วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีมติเห็นควรให้มีการตั้งคำของบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. เท่ากับกรอบวงเงินดังกล่าวเพื่อสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมจำนวน 188 หน่วยงาน ก่อนที่ สกสว. จะเสนอคำของบประมาณของกองทุนฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงบประมาณต่อไป

ไฟเขียว\"งบวิจัย\" ครม.อนุมัติงบกองทุนส่งเสริมวิจัยฯ  3.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท จะถูกจัดสรรใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60-65 เพื่อสนับสนุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศตามแผนด้าน ววน. และ (ข) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ

 

โดยในปี 2567 จะเพิ่มการขับเคลื่อนผลงานวิจัยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 เท่า

 

"ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2580 เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจฐานราก และเลื่อนอันดับดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากอันดับที่ 44 มาอยู่ในอันดับที่ 35 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 และการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการปรับตัวสู่อนาคต จึงจำเป็นต้องลงทุนด้าน ววน. เพื่อขับเคลื่อน BCG ของประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต เกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนด้วยนวัตกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบรางและโลจิสติกส์ การสร้างการเติบโตในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม การพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง การผลิตบัณฑิตทักษะสูงและการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

 

ขณะที่การแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ หมอกควัน PM2.5 โลกร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากงบลงทุนด้าน ววน. ดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายการลงทุนด้าน ววน. ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.0 ในปี พ.ศ. 2580"  ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าว

 

logoline