10 มกราคม 2566 กลายเป็นประเด็นที่สังคมโซเชียลกำลังติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในแวดวงนักวิจัยต่อปม"วิจัยทิพย์" จากกรณีที่ มีการเผยแพร่ข้อมูล"นักวิชาการ"จากสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การขัดจริยธรรมวิจัย โดยมีการซื้องานวิจัยหรือ"ช้อปปิ้งงานวิจัย"จากต่างประเทศ เพื่อมาอัพเกรดตนเองได้รับตำแหน่งทางวิชาการระดับสูง ขณะเดียวกันส่งผลกระทบไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณทางวิจัยโดยมิชอบ
โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น
"มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว
"มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมทางวิชาการต่อไป
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 "ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา" ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. ออกมาโพสต์ข้อความถึงกลโกง"วิจัยทิพย์"
โดยมีเนื้อหาดังนี้ ปัจจุบันธุรกิจรับตรวจแก้เอกสารวิชาการภาษาอังกฤษให้กับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมาก เพราะงานวิจัยที่ใช้ภาษาดีๆมักจะผ่านการอ่านจาก Reviewer แบบไม่ล้มลุกคลุกคลานเท่ากับงานที่เขียนแบบผิดๆถูกๆ หรือ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง สำนักพิมพ์เองก็มักจะแนะนำให้ผู้แต่งไปหาเจ้าของภาษามาช่วยอ่าน ช่วยแก้ก่อนส่งเข้าพิจารณาก่อน ซึ่งมีธุรกิจรับแก้งานแบบนี้เยอะมาก การบริการมีตั้งแต่แก้ไวยากรณ์ คำผิด ไปจนถึงเขียนรูปประโยคใหม่ หรือ อาจไปจนถึงเขียนให้ใหม่หมดเลยโดยใช้ผลการทดลองที่ให้มา ซึ่งระดับความเทาจะสูงขึ้นเรื่อยๆว่าระดับไหนผู้แต่งสมควรทำเอง ระดับไหนคนอื่นทำได้
ช่องทางนี้แหล่ะครับที่กลุ่มธุรกิจเปิดโอกาสให้นักวิจัยไปซื้อการเป็นผู้แต่งร่วมในเอกสารที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งระดับความเทามันกลายเป็นสีดำ มันเกินเลยไปกว่าสิ่งที่จริยธรรมวิจัยจะรับได้
เช่นเดียวกับ "เพจหมอแล็บแพนด้า" ได้โพสต์ข้อความว่า วิจัยทิพย์แค่จ่ายเงิน คำถามคือมีอาจารย์ที่ทำแบบนี้เยอะแค่ไหน