svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ญี่ปุ่นอนุญาตส่งออกเครื่องบินขับไล่ ยิ่งถอยห่างหลักใฝ่สันติ

26 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติอนุญาตให้ส่งออกเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ ที่กำลังพัฒนาร่วมกับอังกฤษและอิตาลีไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกก้าวล่าสุดที่ถอยห่างออกจากนโยบายใฝ่สันติของญี่ปุ่นหลังยุคสงคราม

โยชิมาสะ ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงในวันอังคาร (26 มีนาคม 2567) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตัดสินใจในวันนี้อนุญาตให้สามารถส่งออกอาวุธที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ Global Combat Air Program จากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากหุ้นส่วนในโครงการ และอนุมัติทบทวนแนวปฏิบัติในการถ่ายโอนเทคโนโลยีและส่งออกยุทโธปกรณ์ เพื่ออนุญาตให้อาวุธร้ายแรงที่ผลิตร่วมกันสามารถจำหน่ายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หุ้นส่วนในโครงการได้

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นห้ามการส่งออกอาวุธร้ายแรงทั้งหมดภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติ ที่ประกาศใช้หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่รัฐบาลผ่อนคลายข้อบังคับต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากจีน โดยในปี 2567 ญี่ปุ่นเริ่มส่งออกยุทธภัณฑ์ที่ไม่อันตรายร้ายแรงบางประเภท และเมื่อเดือนธันวาคม 2566 อนุญาตให้ส่งออกอาวุธร้ายแรงและส่วนประกอบ 80 รายการ ที่ผลิตภายใต้ใบอนุญาตจากประเทศอื่นกลับไปยังประเทศที่อนุมัติใบอนุญาตได้

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงล่าสุดจะทำให้ญี่ปุ่นส่งออกอาวุธร้ายแรงที่ผลิตร่วมกับชาติอื่นได้ครั้งแรก และจะช่วยให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ร่วมกับชาติอื่น รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธของญี่ปุ่น ตลอดจนเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีความมั่นคงของโลก

โฆษกรัฐบาล บอกด้วยว่า การตัดสินใจครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น และยืนยันว่า ญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นหลักปรัชญาพื้นฐานในฐานะประเทศที่รักสงบ

ปัจจุบันญี่ปุ่นจับมือกับอิตาลีและอังกฤษพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่เพื่อแทนที่เครื่องบินขับไล่ F-2 ที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ และมีอายุมากแล้วของญี่ปุ่น และเครื่องบินขับไล่รุ่น ยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น  ที่ใช้ในกองทัพอังกฤษและอิตาลี โดยคาดหวังว่าจะประจำการในกองทัพของทั้ง 3 ชาติ ได้ภายในปี 2035 และจะสามารถส่งออกไปประเทศอื่นได้

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นออกแบบเครื่องบินขับไล่ของตัวเอง ที่มีชื่อว่า F-X ก่อนจะตกลงในเดือนธันวาคม 2565 ว่าจะเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาวุธกับอังกฤษและอิตาลี ภายใต้ชื่อ Global Combat Air Program (GCAP) ที่มีฐานอยู่ในอังกฤษ

ญี่ปุ่นหวังว่า เครื่องบินรุ่นใหม่จะเพิ่มความก้าวหน้าด้านศักยภาพตามที่ญี่ปุ่นต้องการเพื่อให้มีเทคโนโลยีเหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ได้แก่ จีนและรัสเซีย

แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ เผชิญเสียงวิจารณ์ว่าอนุมัติการส่งออกเครื่องบินขับไล่ในโครงการ โดยไม่มีคำอธิบายแก่สาธารณชน หรือ ขอความเห็นชอบสำหรับการเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่นี้

ขณะที่รัฐบาลมีแนวทางแก้ไขข้อกังวลดังกล่าว โดยจะยังไม่มีการส่งออกเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ในเวลานี้ และสัญญาว่าจะไม่จำหน่ายเครื่องบินดังกล่าวเพื่อใช้ในสงครามที่ยังมีการสู้รบอยู่ และการแก้ไขแนวปฏิบัติเรื่องการส่งออกอาวุธร้ายแรงจะอนุญาตเฉพาะเครื่องบินขับไล่อย่างเดียวก่อน และต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในแต่ละครั้งด้วย

นอกจากนี้ญี่ปุ่นจะจำกัดการจำหน่ายแก่ 15 ประเทศ ที่ลงนามเป็นหุ้นส่วนทางการทหาร และมีข้อตกลงการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์ร่วมกันเท่านั้น

logoline