svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ปัญหา “เมียนมา-ทะเลจีนใต้” วัดความน่าเชื่อถืออาเซียน

04 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาเมียนมา และทะเลจีนใต้ จะเป็นวาระร้อนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในสัปดาห์นี้ และอินโดนีเซียเรียกร้องให้ชาติสมาชิกร่วมกันพิสูจน์ความน่าเชื่อขององค์กร

ปัญหา “เมียนมา-ทะเลจีนใต้” วัดความน่าเชื่อถืออาเซียน การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 จะจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 5-7 กันยายนนี้ โดยจะมีผู้แทนจากติมอร์-เลสเต หรือ ติมอร์ตะวันออก เข้าร่วมการประชุมด้วยในฐานะว่าที่สมาชิกในอนาคต และจะมีผู้นำชาติมหาอำนาจอย่าง รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนเข้าร่วมการประชุมในกรอบอื่น ๆ ด้วย

ซัมมิตครั้งนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับวิกฤตเมียนมา และทบทวนแผนสันติภาพที่หยุดชะงัก รวมไปถึง กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ตึงเครียดขึ้นสืบเนื่องจากแผนที่ฉบับใหม่ของจีน ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 90% ของทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังมีวาระอื่น ๆ ที่จะหารือในการประชุม เช่น เศรษฐกิจ และอาชญากรรมข้ามชาติ

ปัญหา “เมียนมา-ทะเลจีนใต้” วัดความน่าเชื่อถืออาเซียน เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันจันทร์ (4 กันยายน)ว่า สายตาของประชาชนในภูมิภาคกำลังจับตาดูว่า อาเซียนยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่ และเธอบอกด้วยว่า อาเซียนจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังได้ ก็ต่อเมื่อสามารถแสวงหาหนทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมาได้

สื่อรายงานด้วยว่า การประชุมครั้งนี้จะถูกจับตาว่า อาเซียนจะสามารถลดความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขวิกฤตเมียนมาได้อย่างไร ในขณะที่นักการทูต มองว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถสร้างความแตกแยกในอาเซียนได้สำเร็จ

 

ปัญหา “เมียนมา-ทะเลจีนใต้” วัดความน่าเชื่อถืออาเซียน นอกจากนี้อาเซียนยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และยังมีความตึงเครียดยิ่งขึ้นในเดือนที่แล้ว กรณีเรือของจีนฉีดน้ำใส่เรือขนส่งเสบียงของกองทัพฟิลิปปินส์ในบริเวณทะเลจีนใต้ และจีนประกาศแผนที่ประเทศฉบับใหม่ ที่ครอบคลุมน่านน้ำเกือบ  90%ในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของบางชาติในอาเซียน

ซัมมิตอาเซียนครั้งนี้จึงถูกจับตาจากทั่วโลกว่า อาเซียนจะสามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่ออกแถลงการณ์เพียงผิวเผินเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากเสียงวิจารณ์ว่าเป็นเพียงเวทีพูดคุยเท่านั้น

และเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ยังถูกจับตาด้วยว่า จะแสดงบทบาทอย่างไร ท่ามกลางความแตกแยกในอาเซียนและแรงกดดันจากจีน  โดยบางคน คาดหวังว่า เขาจะไม่เลือกแนวทางเดียวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา

ยิ่งกว่านั้นอาเซียนยังถูกจับตาว่า จะสามารถรักษาสมดุลของความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯ ได้อย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันแย่งชิงอิทธิพลของสองมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ ในขณะที่ลาว ซึ่งพึ่งพาจีนอย่างมาก กำลังจะเป็นประธานอาเซียนรายต่อไปในปีหน้า

logoline