svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

รัฐลุยเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ! จับตา 10 เม.ย.- เคาะบทสรุปทุกเงื่อนไข

28 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐลุยไฟเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ยันเงินถึงมือประชาชนไตรมาส 4 ปีนี้ เร่งคลังศึกษาใช้งบประมาณแทนเงินกู้ อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” สอนมวยรัฐ กำหนดขอบเขต-กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนหากอยากเห็นโครงการฉลุย ฝั่งนักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามซอยงบทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามเป้าไหม

ลุ้นกันอีกยกสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลัง “เศรษฐา ทวีสิน”  นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมายืนยันว่า ในวันที่ 10 เม.ย.นี้  จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่กันอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนส่งไม้ต่อไปที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเม.ย.นี้  โดยรัฐบาลยืนยันไทม์ไลน์ของโครงการว่า จะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และในไตรมาสที่ 4 เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะถึงมือประชาชนแน่นอน

ทั้งนี้ได้มอบหมายกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปหาข้อสรุปเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้น นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง  ได้เสนอ 3 แนวทางที่เป็นไปได้ แนวทางแรกคือการใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้

แนวทางที่สองคือการใช้งบประมาณเข้ามาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โครงการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวงเงินในการจัดทำงบประมาณปี 68

ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขตรงนี้ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน ขณะที่งบประมาณปี 67 จะเข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วยหรือไม่นั้นต้องหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อเคาะรายละเอียดออกมาอีกครั้ง

 แนวทางที่ 3 คือการใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้ เนื่องจากสถานการณ์มีการปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลาก็ต้องมาดูว่าแหล่งเงินใดมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันมากสุด


 

 

รัฐลุยเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ! จับตา 10 เม.ย.- เคาะบทสรุปทุกเงื่อนไข

 

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ของร้านค้า และสินค้าที่จะเข้าร่วมในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สรุปรายละเอียดของการพัฒนาระบบแบบเปิด เพื่อให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินดิจิทัล เข้าร่วมโครงการได้

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบการตรวจสอบ วินิจฉัย ร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืน เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการใช้จ่ายผิดจากวัตถุประสงค์  ซึ่งเป็นการสนองตอบต่อคําถามในส่วนของป.ป.ช. และส่วนงานอื่นๆ ที่มีข้อห่วงใย  เพื่อมารายงานที่ประชุมครั้งต่อไป

ฝั่ง "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์"  รมช.คลัง และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาย้ำว่า  ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่นโยบายพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งได้แถลงต่อสภาแล้ว รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม จึงต้องมีการหารือเพื่อหาจุดสมดุลของนโยบายต่างๆ เมื่อเดินหน้าเราก็ต้องหากลไกที่เหมาะสม และตอบสนองต่อหลักการและวัตถุประ สงค์ของนโยบายให้ได้มากที่สุด

โดยโครงการนี้ไม่ใช่การจูงใจในการเลือกตั้ง เพราะผ่านพ้นการเลือกตั้งมานานแล้ว นี่คือการทํานโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้แก่พี่น้องประชาชน

ซึ่งทุกพรรคการเมืองย่อมมีนโยบายลักษณะนี้ ถ้าบอกว่านโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิตัลวอลเล็ตเป็นการจูงใจเหมือนซื้อเสียง ก็ต้องถามกลับว่า นโยบายบัตรคนจน นโยบายการเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นการจูงใจหรือไม่ ซึ่งก็เป็นกลไกลักษณะเดียวกัน

 

หากย้อนไทม์ไลน์การขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมานั้น รัฐจะออก พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท  แต่เมื่อถูกหลายฝ่ายท้วงติง ทั้งปปช. กฤษฎีกาก็จะต้องจัดทัพปรับกระบวน การใหม่  เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนกลุ่มเป้าหมายต้องจับตาดูว่าจะลดสเปกลงอีกหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้ลดมาแล้ว 1 รอบ ดังนั้น จะต้องดูกันอีกทีว่างบประมาณที่ใช้เพียงพอหรือไม่ โดยเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้คือ

- ประชากร 50 ล้านคน

- อายุ 16 ปีขึ้นไป

- รายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน

- เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท จากเดิมที่กำหนดว่าจะให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้หมดทุกคน ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนแนวทางการใช้เงินงบประมาณมาขับเคลื่อนโครงการฯ แทนการใช้เงินกู้ จะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น Nation STORY ได้รับฟังมุมมองจาก “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง ว่า ถ้าภาครัฐใช้งบประมาณมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความปลอดภัยไม่เสี่ยงในด้านการฝ่าฝืนกฏหมาย แต่จะต้องทยอยจ่าย เพราะหากจะใช้งบประมาณก้อนเดียวทั้งหมด 5 แสนล้านบาทคงไม่เพียงพอ

ซึ่งกว่าจะได้เงินงบประมาณคงไม่ใช่ปีนี้อาจเป็นปีหน้า โดยผลลัพธ์ ที่จะเกิดขึ้นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะย่อลงไปแทนที่จะเกิด 100% ก็เป็นแค่สัดส่วนที่จะแจกได้ในแต่ละปี

“ หากจะทำเป็นงบประมาณและให้เพียงพอกับกลุ่มเป้าหมายนั้นจะต้องตัดงบรายจ่ายด้านอื่นมหาศาลทำให้การทำโครงการใช้เงินก้อนเดียวเป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นต้องไปหาแนวทางพลิกแพลงเก็บภาษีเพิ่ม หรือหารายได้เข้ามาเพิ่มมหาศาลเช่นเดียวกัน” 

อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณขาดดุลตามกฎหมายมีข้อบังคับอยู่แล้วว่า การขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่เกินเท่าไหร่ เพราะมีเงื่อนไขบังคับไว้อัตโนมัติ ส่วนการปรับลดจำนวนคนเข้าโครงการนั้น ตนไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลได้

แต่ข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มองว่า ควรแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษไม่ใช่แจกชนิดเหวี่ยงแห  ถ้าย่อลงมาและบีบแคบแจกเฉพาะคนเดือดร้อนจริง แม้ว่าไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ก็ทำได้

ส่วนจะผิดวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องไปถามพรรคเพื่อไทยว่าตรงกับที่หาเสียงไว้หรือไม่ เพราะการหาเสียงไว้นั้นได้ให้ความหวังประชาชนไว้อย่างไร และปฏิบัติตามสิ่งที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือยัง

ขณะนี้ต้องรอดูจุดยืนของพรรคเพื่อไทย  ถ้ารัฐบาลแจ้งไปยังคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีข้าราชการประจำอยู่ด้วยว่า หากต้องการย่อโครงการลงมาจ่ายเฉพาะเปราะบางจริง ๆ การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการดิจิทัลวอเล็ตจะได้ไปถูกทาง   ไม่ใช่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสนอไปยังคณะกรรมการไปแล้วมาปรับทีหลัง ซึ่งจะทำให้โครงการวนไปวนมา

“ถ้าอยากจะทำให้เร็วต้องตั้งธงไปเลย และแจ้งคณะกรรมการไปเลยว่าจะทำอย่างไร หากเลือกใช้งบประมาณไม่ใช้เงินกู้จะทำให้การประชุมวันที่ 10 เม.ย.ออกมาชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ และถ้าทำได้ติดขัดตรงไหนจะได้ร่วมกับแก้ไขปัญหา แต่ถ้าไม่ชัดเจนและปล่อยข่าวออกมาทางคณะอนุกรรมการก็จะไม่หยิบเรื่องไปพิจารณาก็จะทำให้โครงการไม่เสร็จและอาจต้องเลื่อนโครงการออกไปอาจเป็นปีหน้าหรืออีก 2 ปีหน้า”

ด้านนักเศรษฐศาสตร์อย่าง “ ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล”  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ที่มองว่า ถ้านำงบประมาณมาใช้จะไม่ติดคอมเมนท์เรื่องกฏหมายก็สามารถที่จะนำโครงการมาบรรจุในงบประมาณได้เลย   แต่ต้องผ่านสภาฯ  ซึ่งสิ่งที่เป็นประเด็นคือเม็ดเงินงบประมาณจะมีเพียงพอหรือไม่ต้องดูว่าทางรัฐจะบริหารจัดการงบประมาณปี 68 อย่างไร เพราะงบประจำได้จัดสรรไว้แล้วแม้ว่าจะเป็นงบก้อนใหญ่ ที่เหลือเป็นงบลงทุนประมาณ 6 แสนกว่าล้าน 

ซึ่งหากใช้งบประมาณ 5 แสนล้านดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่รู้ว่าจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากน้อยแค่ไหน โดยที่ผ่านมา รัฐทำงบประมาณขาดดุลมาตลอด 7 แสนกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันต้องดูว่าติดเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่  โดยปกติสามารถทำงบขาดดุลได้ 80% ของงบคืนเงินต้น และ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีกฎหมายกำหนดเพดานไว้อยู่แล้ว

สำหรับการขาดดุลงบประมาณเป็นการกู้อยู่แล้ว สมมุติว่าขาดดุลเพิ่มและติดเพดานหนี้สาธารณะและได้เงินมาประมาณ 3-4 แสนล้านบาท อาจจะต้องไปเบียดโครงการอื่นหรือไม่  แต่ถ้าหากมีการทยอยทำโครงการแบ่งเงินทำแต่ละปี โครงการแต่ละครั้งก็ต้องเลื่อนไป 12 เดือน จะทิ้งช่วงห่างผลโครงการที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการทำคนละโปรเจกต์

ซึ่งโครงการดิจิทัลไม่ใช่โครงการก่อสร้างที่ทยอยก่อสร้างและใช้งบประมาณ 2-3 ปี แต่วัตถุประสงค์คือกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เหมือนกัน และผลที่ได้รับต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยเข้าข่ายวิกฤตหรือไม่ ถ้ามองในภาพรวมยึดนิยามคำว่าวิกฤติคืออะไร เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติด อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไปอ้างอิงตรงจุดนั้นก็ยังไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติ แต่ถ้าถามว่ากลุ่มเปราะบางบางคนก็คิดว่า ตนเองได้รับผลกระทบก็มองว่าวิกฤติ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบ แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง

อย่างวิกฤติที่ผ่านมาโควิดเป็นเรื่องเฉพาะ เศรษฐกิจหดตัว อัตราการว่างงานสูง ซึ่งการมาถกเถียงกันวิกฤติแล้วยังไงต่อ น่าจะมีคำอธิบายมากกว่านี้

หากเศรษฐกิจชะลอและมองไปข้างหน้าแล้ว แนวโน้มการฟื้นตัวเปราะบางอาจจะต้องมีเครื่องมือมาตรการทางการเงินและคลังเข้ามาช่วย สิ่งสำคัญต้องวิเคราะห์ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมาจากปัจจัยระยะสั้นหรือปัจจัยโครงสร้างมองไปข้างหน้าทิศทางดีขึ้นหรือไม่

ถ้าเป็นปัจจัยระยะสั้นจะต้องใช้เครื่องมือแบบไหน  เช่น ในช่วงโควิดอัดเงินเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าไม่เข้าไปช่วยเศรษฐกิจก็จะแย่อยู่ดี ๆ ก็ถูกล็อกดาวน์  เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นปัจจัยโครงสร้างระยะยาวต้องไปดูว่าเรื่องอะไรเกิดจากความสามารถในการแข่งขันหรือไม่  เป็นเรื่องของโครงสร้างประชากรหรือเปล่า ซึ่งจะใช้มาตรการระสั้นมาแก้ปัญหาไม่ได้จะผิดที่ผิดทางจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือให้ถูกต้องกับปัญหา

ทั้งนี้มองว่าหากนำงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบ 70% แต่ต้องอธิบายให้ได้ว่าในอนาคตข้างหน้ารายได้ภาครัฐจะมาจากไหนบ้าง

ซึ่งหากหนี้สาธารณะเกินเพดานที่กำหนดและไทยมีความเสี่ยงถูกหั่นเครดิตหรือไม่นั้น บริษัทเครดิตเรตติ้งจะต้องดูว่าไทยดำเนินนโยบายสอดคล้องกับเศรษฐกิจหรือไม่ โดยจะดูหลายปัจจัย เช่น การเติบโตของประเทศ การเมือง นโยบายภาครัฐด้วย และถ้านโยบายการเงินและการคลังไม่สอด คล้องเหมือนกับที่อังกฤษเคยทำมาก่อนหน้านี้ในอดีตจะกระทบความเชื่อมั่นเงินทุนไหลออกและค่าเงินปอนด์อ่อนค่าหนัก  

แม้รัฐยังไม่ยอมถอดใจ พร้อมทั้งเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตตามที่เคยหาเสียงกับประชาชนไว้ แต่ผลสรุปสุดท้ายจะออกมาในรูปแบบใด คงต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เคาะโต๊ะ ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ดำเนินโครงการ ที่ต้องรัดกุมและคุ้มค่า เพราะหากใช้การกู้ ก็เพิ่มภาระหนี้ให้ประเทศอย่างมหาศาล

แต่ถ้าจะใช้งบประมาณอัดฉีดครั้งเดียว 5 แสนล้านบาท หน้าตักก็คงไม่เพียงพอสำหรับทำโครงการ เนื่องจากต้องมีการตัดทอนงบประมาณโปรเจกต์อื่นเข้ามาช่วย ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและขีดความสามรถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้.....

logoline