svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทพลิกแข็งค่า ! รั้งอันดับ 5 ในภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

17 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เกาะติดประชุมเฟดคาดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% เปิดสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค.-15 มี.ค.เงินบาทแข็งค่าเพราะอะไร

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation  STORY  ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50%

โดยจุดสนใจหลักจะอยู่ที่การเปิดเผยประมาณการดอกเบี้ย (dot plot) ชุดใหม่จากเจ้าหน้าที่เฟด ว่ายังคงบ่งชี้แนวโน้มที่ว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้หรือไม่

เงินบาทพลิกแข็งค่า ! รั้งอันดับ 5 ในภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร


ทั้งนี้หากมีการทบทวน dot plot เป็นส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้ง หรือ 0.75% ในปีนี้ ดอลลาร์และบอนด์ยิลด์จะได้แรงหนุน ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า แต่ถ้าเป็นกรณีคงประ มาณการตามเดิม คาดเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)  และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน 

สำหรับปัจจัยที่น่าสนใจในประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1 มี.ค.- 15 มี.ค. พบว่า  สกุลเงินส่วนใหญ่แข็งค่านำโดย เปโซ-ฟิลิป ปินส์ 1.12% รองลงมาเป็นริงกิต-มาเล เซีย 0.85%  ดอล ลาร์-สิงคโปร์ 0.62% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.57%

บาท-ไทย 0.14% วอน-เกาหลีใต้ 0.10%ยกเว้นดอง-เวียดนามแข็งค่า 0.30%   ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.15%หยวน-จีน 0.11%รูปี-อินเดียแข็งค่า 0.00%

สำหรับสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าเกิดจาก

  • ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จบวงจรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า
  • บอนด์ยีลด์ร่วง จากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดจะไม่ใช้นโยบายการเงินเข้มงวด
  • ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งสูงเกินคาด
  • ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระตุ้นการส่งออกทองคำ

 

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation  STORY ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50 - 36.20 บาทต่อดอลลาร์  โดยเงินบาทมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์)

หลังจากผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงช้า

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุมเฟดวันพฤหัสฯ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้คาดการณ์เศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่  ทำให้แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด อาจมาจากความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้

โดยเฉพาะในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่อง กดดันเงินบาทผ่านการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่นได้ 

นอกจากนี้ยังคงต้องระวังความผันผวนจากราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน และอีกปัจจัยที่ควรจับตา คือ ทิศทางเงินหยวนจีน ซึ่งอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

อนึ่ง หากเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง เช่นในกรณีที่ Dot Plot ใหม่ของเฟดไม่ได้แตกต่างจากเดิม ทำให้เงินดอลลาร์ทรงตัวหรือย่อลงบ้าง เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็จะเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับแรก และมีโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป

ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติประเมินว่า การขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แรงขายของนักลงทุนต่างชาติอาจไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งต้องจับตาภาวะตลาดการเงิน ว่าจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ เพราะหากตลาดหุ้นไทยเสี่ยงปรับฐานต่อ พร้อมกับการอ่อนค่าของเงินบาททะลุแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติก็อาจขายหุ้นไทยเพิ่มเติม


ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท 

 เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจผันผวนไปตามบรรยากาศในตลาดการเงิน รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินหยวนจีน และเงินเยนญี่ปุ่น

สำหรับปัจจัยในประเทศ ควรรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างยังเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย

ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC วันพฤหัสฯ ที่แม้ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ ว่าจะเปลี่ยน แปลงไปจากคาดการณ์ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหรือไม่

 ยุโรป ควรรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)  พร้อมจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษและยูโรโซน 

ส่วนเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งญี่ปุ่น ทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI

 

logoline