svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

จับตาจุดยืนกนง. ! ฝ่าแรงกดดันรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจ

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่แผ่ว หนุนเฟดตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ส่วนดอกเบี้ยไทยประชุม กนง.วันที่ 7 ก.พ.นี้ จะออกมาในทิศทางใด NationSTORY ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลการประชุมรอบนี้ให้ฟังกัน ตามไปดูกันเลย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 22 ปี ในการประชุมเมื่อวันที่  31 ม.ค. ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565
   
โดยเฟดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอก เบี้ยลงเหมือนอย่างที่นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ไว้ เนื่อง จากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด โดยเฟดไม่ได้คาดหวังว่าจะปรับลดช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดออกมาย้ำจุดยืนว่า  ในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 19-20 มีนาคม จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. แทนที่จะเป็นเดือนมี.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงรวมกัน 1.25% ตลอดปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของบาร์เคลย์ส ที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค. แทนเดือนมี.ค. เช่นกัน  

จับตาจุดยืนกนง. ! ฝ่าแรงกดดันรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจ


สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของไทย ยังคงร้อนระอุต่อเนื่อง หลังจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาเรียกร้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ.  ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% เพื่อช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ เนื่องจากดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง จึงมีผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการไทย

ฝั่งนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็ออกมาตอกย้ำว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา ถูกต้องแล้ว โดยพิจารณาบนหลักการที่ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องไม่เป็นอุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่กระทบเสถียร ภาพทางการเงิน และกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภายใต้บริบทเฉพาะของเศรษฐกิจไทย

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนั้น ธปท.ชี้แจงว่า การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและความเสี่ยง ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ธนาคารกลางทุกประเทศต้องดูหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน ไม่ได้ดูแค่ระยะสั้น เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน

สำหรัลเงินเฟ้อที่ติดลบมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน มาจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล อย่างมาตรการคุมราคาพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงในวงกว้าง เงินเฟ้อที่ติดลบไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่วลง ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วแบงก์ชาติไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
   
โดยธปท.คาดว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปถึงอย่างน้อยเดือนก.พ. และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1-2% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติ

จับตาจุดยืนกนง. ! ฝ่าแรงกดดันรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจ

หันไปฟังมุมมองคนกลางอย่างนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักต่างๆ กันบ้าง เริ่มจาก ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรม การผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยโตช้า เงินเฟ้อต่ำ ทำให้คาดว่า การประชุมกนง.ครั้งนี้จะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และลดคาดการณ์จีดีพีปี 66 ที่ผ่านมา โดยความเสี่ยงเศรษฐกิจปีนี้มาจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล้าช้า ทำให้ความเชื่อมั่นเอชชนไม่เต็มที่  และเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากมาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม เช่น การผ่อนคลายสินเชื่อเพิ่ม ส่วนการประชุมกนง.ครั้งนี้ คาดว่าจะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่สิ้นปีดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2% เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีแผนที่จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.นี้  จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.25 – 5.50% ขณะที่ดอกเบี้ยไทยคาดว่าจะลดประมาณส.ค. ซึ่งหากไทยไม่ลดดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินทุนไหลออก เพราะดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าเฟด  
   
โดยสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.1% แต่จะทบทวนใหม่หรือไม่ ต้องรอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินจีดีพีก่อน แต่ที่ต้องจับตา คือความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน

จับตาจุดยืนกนง. ! ฝ่าแรงกดดันรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจ

ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดอกเบี้ยในปัจจุ บัน 2.5% เป็นอัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเงินเฟ้อติดลบ แต่คาดว่าจะเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น และปัจจัยแวดล้อมของไทยกับประเทศอื่นๆ ก็มีความแตกต่างกัน มีสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน เช่น เวียดนามที่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแรง 0.50-1.00% ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าจะโตได้ 3.1%
   
สำหรับการประชุมกนง.ในครั้งที่จะถึงนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่ต้องดูว่า กนง.จะส่งสัญญาณทิศทางเศรษฐกิจและดอกเบี้ยอย่างไร โดยเบื้องต้นมองว่ากนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เพราะตัวขับเคลื่อนเศรษฐ กิจอย่างการลงทุนภาครัฐหายไปตั้งแต่หลังมีการเลือกตั้ง และกว่าที่การเบิกจ่ายจะออกมาได้ น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ
   
ปิดท้ายที่นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโย บายการเงิน มองว่า  การดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ที่ผ่านมามีเหมาะสมแล้ว  โดยทิศทางดอกเบี้ยของไทยเชื่อว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี เพื่อรอดูสถานการณ์ เช่นเดียวกับเฟดที่คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% และยังสัญญาณยังไม่มีแผนลดดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์

ส่วนการที่ภาครัฐจะให้กนง.ลดดอกเบี้ยนั้น ถือว่าเป็น การแทรกแซงการทำงาน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่อง จากดำเนินงานของธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระจากการฝ่ายเมือง และนโยบายการเงินของธปท. อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นกรอบที่ได้ผ่านการหารือร่วมกันกับรัฐบาลไว้ทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งการทำแบบนี้รัฐบาลต้องการสร้างกดดันให้กับกนง.

คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้ว คณะกรรม การ กนง.จะตัดสินใจอย่างไร และจะบริหารแรงกดดันที่ถูกโยนมาจากฝั่งรัฐบาลได้อย่างราบรื่นหรือไม่ เพื่อให้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ยังสามารถทำงานสอดประสานกันต่อไปได้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยที่เดินช้าและล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ให้กลับมาก้าวได้เร็วขึ้น แต่ต้องเป็นก้าวย่างแห่งการเติบโตที่ยั่งยืนและมีเสถียร ภาพในระยะยาวด้วยเช่นกัน....

logoline