svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อน ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

24 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติใหม่รอบ 10 เดือน นับจากพ.ย. 65 กูรูประเมินสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.50  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เกาะติดเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ -ประชุมกนง. เปิดสถิติตั้งแต่ 1 ก.ย.-22 ก.ย. เงินบาทอ่อนนำโด่งภูมิภาค

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวใน  35.80-36.50  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ติดตามเงินเฟ้อ PCE เดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยเงินบาทในช่วงสั้นๆมีแนวโน้มอ่อนค่าขณะที่เฟดส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับสูงอย่างยาวนาน

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คาดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% แต่หากปรับขึ้นสู่ 2.50% น่าจะเป็นการขึ้นรอบสุดท้ายของวัฎจักร

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วง 1 ก.ย.- 22  ก.ย. พบว่าบาท-ไทยอ่อนค่ามากสุด   3.39% รองลงมาเป็นวอน-เกาหลีใต้ 1.20% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.16% ริงกิต-มาเลเซีย 1.11% ดอง-เวียดนาม 1.03%รูเปียห์-อินโดนีเซีย 1.01%  ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.93% หยวน-จีน  0.58% เปโซ-ฟิลิปปินส์  0.47%รูปี-อินเดีย 0.37%

เงินบาทอ่อน ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาค

  • แรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งพุ่งขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะบั่นทอนสถานะดุลการค้าของไทย
  • ตลาดกังวลว่ารัฐบาลอาจจะยอมแลกการเติบโตระยะสั้น กับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยธปท.ให้ความเห็นหลายครั้งว่าปัจจุบันไทยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเรื่องการบริโภค แต่ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนและภาพระยะยาวมากกว่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยกระชากขึ้น จากความวิตกเรื่องหนี้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นตามนโยบายประชานิยม
  • เงินทุนไหลออก ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1.83 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรไทยสุทธิ 1.82 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ 1 ก.ย.-21 ก.ย.ที่ผ่านมา

เงินบาทอ่อน ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation Online ว่า   ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า มาจากทั้ง 1. การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ตามแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาดของเฟด รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน และ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังดูดีและโดดเด่นกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป

2. แรงขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ

3. การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัด อาจเกินดุลลดลงมากหรือเสี่ยงจะขาดดุลได้ หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้แย่กว่าคาดมาก

4. โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับในระยะสั้น

ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังไม่หายไปไหน โดยเฉพาะทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาอ่อนค่าลงได้ตามที่เราเคยประเมินไว้ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบยังมีความเสี่ยงปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินใหม่แถว 36.50-37 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี  โซนดังกล่าวถือว่าเป็นโซนที่เงินบาทมีระดับ valuation ที่ถูกมากพอสมควร ทำให้หากปัจจัยกดดันอ่อนค่าคลี่คลาย หรือ ลดลง ก็อาจทำให้เงินบาทพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ส่วนการประชุมกนง. คาดว่าอาจมีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% แบบไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดตีความว่า มีโอกาสที่ กนง. อาจใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์มีการย่อตัวลงบ้าง หลังจากปรับตัวขึ้นแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้

โดยหากบอนด์ยีลด์เริ่มทรงตัว หรือ ลดลงได้ ก็จะหนุนโอกาสการกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยของทั้งนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยเงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลง หรือ แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย

ทั้งนี้หาก กนง.คงอัตราดอกเบี้ย มองว่าภาพดังกล่าวจะส่งผลไม่ต่างกับการขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะระดับบอนด์ยีลด์ปัจจุบัน ได้สะท้อนมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้ไปแล้ว ดังนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ย่อตัวลงได้บ้าง ทำให้นักลงทุนอาจเริ่มกลับมาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง และสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งอาจสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าลงหนัก หากกนง. ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย

logoline