svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 2 ในภูมิภาคเกิดจากปัจจัยอะไร

20 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีฯ ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 34.90-35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปิดสถิติ 1 ส.ค.-18 ส.ค.เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค ขณะที่แบงก์กรุงไทยมองเงินบาทเผชิญปัจจัยลบจากนอกประเทศ

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  34.90-35.75  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ติดตามจีดีพีไตรมาส 2 ของไทย (คาด +3.1% y/y) รวมถึงสัญญาณจากประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการประจำปีที่เมือง Jackson Hole ช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วง 1 ส.ค. -18 ส.ค.  พบว่าวอน-เกาหลีใต้อ่อนค่ามากสุด  4.72% รองลงมาเป็นบาท-ไทย 3.34%   ริงกิต-มาเลเซีย 3%  เปโซ-ฟิลิปปินส์  2.43% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 2.03% หยวน-จีน  1.90% ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.50% รูเปียห์-อินโดนีเซีย  1.48% รูปี-อินเดีย 0.99% ดอง-เวียดนามอ่อน 0.48%  

โดยทุกสกุลเงินในภูมิภาคถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่สูงขึ้น ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯยังออกมาดีเกินคาด ตรงกันข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตร 5.3 หมื่นล้านบาท โดยมีตรา สารครบอายุ 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้มองว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงยาวนาน แม้จะมีกระแสข่าวว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนก.ย.นี้ ส่วนประเด็นโหวตนายกฯ หากยืดเยื้อ จะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 2 ในภูมิภาคเกิดจากปัจจัยอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทช่วงนี้อ่อนค่าปัจจัยกดดันส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก โดยมีธีมหลัก คือ

1. ความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด ที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ อีก 1 ครั้งในปีนี้ เป็น 40% จากเดิมที่ตลาดมองไม่ถึง 20% มาโดยตลอด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ยังคงสนับสนุนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยได้ ทำให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 2 ในภูมิภาคเกิดจากปัจจัยอะไร

2.ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับกว่า 4.3% สูงที่สุดในรอบกว่า 15 ปี

3.การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวหนัก ซึ่งเรายังคงเห็นปริมาณธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว  โดยธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงนี้

ส่วนปัจจัยภายในอย่างประเด็นการเมือง แม้ว่าจะมีผลทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าบ้าง แต่แรงขายนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มชะลอลง โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า สุดท้าย หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลง เงินบาทก็พร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนและทิศทางของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากจบลงได้เร็วและมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม หากการโหวตเลือกนายกฯ ยืดเยื้อและสถาน การณ์การเมืองกลับมาอึมครึมอีกครั้ง  นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยและแรงขายก็กลับมาเช่นกัน  กดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

logoline