svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

จ่อชงรัฐบาลใหม่แก้สัญญาไฮสปีดเทรนร่วมทุน "ซีพี"

01 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จุฬา" เผยร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ "ซีพี" เดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินทันทีหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ เตรียมชงรัฐบาลใหม่แก้สัญญาร่วมทุน โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)ว่า  การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)  พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ- อู่ตะเภาแล้ว 100%

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขทางสัญญาเอกชนจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน ร.ฟ.ท.จึงจะสามารถออกใบอนุญาตเข้าพื้นที่เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP)

แหล่งข่าวจาก สกพอ. ระบุว่า การเตรียมความพร้อมในส่วนของภาครัฐที่จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างภาพรวมใกล้แล้วเสร็จแล้ว 100% 

ซึ่งมีเพียงการแก้ไขปัญหาในช่วงพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงสถานีบางซื่อ - ดอนเมือง ที่ต้องดำเนินการเจรจานำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยจะต้องรอการเสนอในรัฐบาลใหม่ ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน

สำหรับความพร้อมส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบให้เอกชนครบทั้งเส้นทางแล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากเอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมบีโอไอ 

ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าทางเอกชนได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว และทางบีโอไอได้พิจารณาอนุมัติ แต่ตามขั้นตอนจะต้องมีการยื่นขอรับบัตรส่งเสริมด้วย ดังนั้นหลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกชนด้วย

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.แจ้งว่า แผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ

1.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจาก เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ปัจจุบันเอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง

3.ช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567

4.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครง สร้างร่วมไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างลง ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจาก ครม.

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.ยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ปัจจุบันล่าช้ามากกว่า 2 ปี หลังจากลงนามสัญญาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 และยังไม่เริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าหลังลงนามสัญญาแล้ว จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เอกชนใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2569

แต่ขณะนี้ ร.ฟ.ท.คาดการณ์ว่าจะเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้าง ให้โครงการทยอยแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  (ดอน เมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เป็นสัญญาการร่วมทุนระ หว่างภาครัฐและเอกชน ( PPP) ระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี

logoline