svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐรับลูกธปท.สางปัญหาหนี้ครัวเรือน

26 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์พาณิชย์- แบงก์รัฐ-นอนแบงก์ ขานรับ ธปท. แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เล็งดึงกลุ่มสหกรณ์-เช่าซื้อเข้าร่วมโครงการ ด้านสมาคมธนาคารไทยพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ขณะที่ "ธ.ก.ส." ออกสินเชื่อแทนคุณ ให้ทายาทกู้ช่วยปิดหนี้สูงอายุ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้

โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) โดยเกณฑ์จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ธปท.เตรียมหารือแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนกับหน่วยงานที่อยู่นอกการกำกับดูแล 30% ของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ และกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ให้เข้ามาอยู่ในมาตรการดังกล่าว เพื่อแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วน 36% ของจีดีพี จากหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 90.6% ของจีดีพี แต่ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งสาเหตุแตกต่างกันลูกหนี้ขาดความรู้การใช้เงิน การใช้สินเชื่อส่วนบุคคลราคาแพงที่มีดอกเบี้ยสูง และบางกลุ่มขาดกลไกที่จะมองเห็นภาวะรวมทั้งระบบของตนเอง

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐรับลูกธปท.สางปัญหาหนี้ครัวเรือน

โดยสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยด้านความยั่งยืน ตามหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม (healthy borrowing) ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

2.การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด (open competition) ลูกหนี้ใช้บริการสินเชื่อและเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ

3.ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (level playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร นอนแบงก์ และสหกรณ์อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน

4.ความยุติธรรม (fairness) อัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี

5.ความครอบคลุมและเข้าถึง (inclusion) สามารถนำข้อมูลมาส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้กำกับและรัฐ ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบ และทุกภาคส่วนร่วมแชร์ความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้

นอกจากนี้ ธนาคารสมาชิกฯ ยังร่วมกิจกรรมช่วยเหลือลูกหนี้อื่น ๆ รวมไปถึงมาตรการที่ธนาคารได้ออกมาเพื่อประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของตนเอง แบบตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ร่วมกับ ธปท.แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ข้อมูลสิ้นเดือนเมษายน 2566 มีลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้ที่เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมากับสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ระยะยาว ตามที่ ธปท.วางไว้ว่าจะลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ระดับต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีภายใน 5 ปี เชื่อว่ามาตรการนี้ และมาตรการที่จะออกมาในอนาคตจะบรรลุเป้าหมายแน่นอน ซึ่งสมาคมสถาบันการเงินของรัฐพร้อมสนับ สนุนมาตรการดังกล่าว

สำหรับมาตรการแก้หนี้เรื้อรังที่ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อ ในการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี จะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นได้มากขึ้น และมีโอกาสสูงขึ้นในการปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารออมสินในการสร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรมที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลานี้ 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธกส.ดูแลลูกค้าทั้งหมด 4.3 ล้านราย หรือ 10 ล้านสัญญา เกือบทั้งหมดเป็นลูกค้าเกษตรที่มีทั้งรายกลาง และรายย่อย ซึ่งเป็นเกษตรกรบุคคล 6 ล้านสัญญา หรือ 3 ล้านคน ซึ่งมีความเปราะบาง และมีความพิเศษ นอกจากจะมีปัญหาเป็นหนี้เรื้อรัง โดยกลุ่มนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีราว 1.2 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ลูกค้ามีหนี้ที่แตกต่างกัน ธ.ก.ส. จึงมีแนวทางดูแลหนี้เกษตรกรที่สอดคล้องกับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรังและสูงอายุ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงิน 20,000 ล้านบาท หรือ 42,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2567

ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ทายาทมารับภาระหนี้ต่อและเป็นการรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว และมาตรการลดภาระหนี้และดอกเบี้ยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้

สำหรับหนี้เกษตรเป็นปัญหาสะสม แม้ ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเหลือ แต่ด้วยปัญหาด้านรายได้ส่งผลต่อการชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังที่แม้จะเป็นสินเชื่อที่มีงวดจ่ายชำระชัดเจน (term loan) แต่การพักชำระเงินต้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตได้รับผลกระทบช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกหนี้จ่ายชำระเฉพาะดอกเบี้ยและไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นเพื่อปิดจบหนี้ได้ 

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างจำกัด ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการ แต่ผลกระทบในระยะยาวของการผ่อนชำระขั้นต่ำที่จำกัด ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้เรื้อรังค่อนข้างสูง

“ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิก เห็นถึงความจำเป็นและพร้อมนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจสามารถปิดจบหนี้ โดยเริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และสนับสนุนให้เกิดการเสริมความรู้พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กันไป” 

logoline