svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

วิกฤตแบงก์สหรัฐฯล้ม ! แบงก์ไทยไม่กระเทือนฐานทุนแน่น

06 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปั่นป่วนไปทั่วโลกเมื่อสหรัฐฯเกิดวิกฤติสถาบันการเงินล้มต้องปิดตัวลง 3 แห่งไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดธนาคาร ‘First Republic’ ได้ประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ส่วนผลกระทบต่อไทยจะมากน้อยแค่ไหนนั้นตามไปดูกันเลย

เมื่อกลางเดือนมีนาคม สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา อย่าง Silicon Valley Bank (SVB) , Silvergate Bank (SI) และ Signature Bank New York (SBNY) ต่างพากันปิดตัวลงทั้ง 3 สถาบัน โดย Silicon Valley Bank  หรือ SVB ได้รับความสนใจจากตลาดมากกว่า เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่และอยู่ในอันดับที่ 16 ซึ่งปิดตัวลงในรอบ 15 ปี

สาเหตุหลักมาจากเกิดเหตุการณ์ Bank Run ที่เกิดจากผู้ถือเงินฝากพากันถอนเงินออกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการลงทุนของธนาคารที่กระจุกตัว ทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวัง ซ้ำเติมด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED  ทำให้ SVB ล้มละลายและปิดตัวลง

ในอดีตก็เคยมีกรณีคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้น  ซึ่งบทเรียนนี้สำคัญต่อการพัฒนาระบบของธนาคาร ทั้งระบบการออมและการกู้ยืมเงิน ตามประเด็นดังต่อไปนี้

  • ปี 1980 วิกฤต S&L (Saving and Loan) หรือ Thrift  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ แต่เน้นปล่อยสินเชื่อบ้านจำนวนเกือบ 4,000 แห่งในสหรัฐฯ สาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้านซึ่งมีกำหนดให้มีอายุระยะยาว เรียกความไม่สมดุลนี้ว่า Maturity Mismatch จุดประสงค์หลักของนโยบายนี้คือ ต้องการให้คนในสหรัฐฯ มีบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
  • โดยสถาบัน S&L เริ่มเปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 1930 และกิจการสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี แม้จะมีความเสี่ยงจากรายได้ที่อาจขาดทุนจากนโยบายการเงิน จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้ S&L ล้มลงเนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่ไม่สามารถทํากําไรได้อีกต่อไป และต้องพึ่งพาการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังปี 1970 นั่นคือ จากปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่สูง FED จึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลง และขึ้นต่อเนื่องจนดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ราว 12%  สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่มีการกำหนดดอกเบี้ยแบบตายตัวต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับตัวขึ้นจาก FED นั่นเอง


ทั้งนี้นอกจากสถาบันการเงินอย่าง S&L ที่ต้องปิดตัวลงแล้วผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ครั้งนั้นยังทำให้สถาบันการเงินต้องปิดตัวลงไปกว่า 1,043 แห่ง
 

  • ยิ่งไปกว่านั้น จากบทเรียนในอดีตเราจะสังเกตุได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะสัมพันธ์กับการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของเงินฝากธนาคารสังเกตุได้จากความสัมพันธ์จากกราฟด้านล่างนี้ โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นช่วงต้นทศวรรษ 1980

    รวมถึงในตอนนี้ที่นักลงทุนยินดีที่จะย้ายจากการฝากเงินประจำในธนาคารออกไปลงทุนใน Money Market Fund (MMF) แทนเพื่อรับผลตอบแทนที่มากขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนเงินไหลเข้าสู่ MMF มากกว่าเงินฝากทั้งธนาคารขนาดเล็กและขนาดใหญ่โดยเงินที่ไหลเข้าสู่ MMF ปรับตัวขึ้นราว 3.6 แสนล้านดอลล่าสหรัฐ ณ 29 มีนาคม 2023 เนื่องจาก MMF ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

    วิกฤตแบงก์สหรัฐฯล้ม ! แบงก์ไทยไม่กระเทือนฐานทุนแน่น
  • บทเรียนที่ได้จากครั้งนี้แน่นอนว่าแตกต่างจากในอดีตมาก เนื่องจากภาครัฐไหวตัวทันก่อนที่จะเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ อีกทั้งธนาคารก็เข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น แม้จะเข้มงวดมาระยะหนึ่งแล้วโดยเฉพาะในกลุ่ม Commercial และ Industrials รวมถึงการจำนองเชิงพาณิชย์

กลับมาดูฝั่งของไทย ซึ่งเคยเกิดวิกฤตอันเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินอย่าง วิกฤตต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุหลักๆ ดังนี้

  • ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศมากถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1997 จากค่าเงินบาทของไทยที่มีมูลค่าน้อยลง อีกทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 1987-1996 ทำให้ความคล่องตัวทางการเงินลดลง
  • ประสิทธิภาพในการทำงานของสถาบันการเงินด้อยลง ทำให้รัฐบาลสั่งปิดไปกว่า 58 แห่ง ส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน รวมถึงการลงทุนที่เกินตัวและฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์
  • นโยบายของรัฐบาลที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายเงินลงทุนได้อย่างเสรี โดยไม่มีความพร้อมในการกำกับดูแล กระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ

    วิกฤตภาคธนาคารในปัจจุบันหากนำมาเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตแล้ว อาจกล่าวได้ว่ามีความปลอด ภัยมากกว่าในอดีต เนื่องจากภาครัฐไหวตัวทันต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ซึ่งในวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น ไม่ได้หยุดอยู่ที่เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยตกต่ำ แต่ยังกระทบไปถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียเช่นกัน โดยสรุปของวิกฤตในไทย คือ ปัญหาโครงสร้างหนี้และโครงสร้างของสถาบันการเงิน แตกต่างจาก S&L และ SVB ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED

    หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินในประเทศไทยยังไม่ได้มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าจะมีปัญหาในระยะสั้น สังเกตได้จากการที่ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังยังคงมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงนโยบายทางการเงินต่างๆที่รัดกุมมากขึ้นจากการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตนั่นเอง

    ที่มา :  นที ดำรงกิจการ  Executive Director, Head of Financial Advisory, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย
logoline