svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ส่องสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่ารั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค

11 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีฯประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.35-34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดเงินเฟ้อเดือนม.ค.สหรัฐฯ -ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ-จีดีพีไทย  ขณะที่กรุงไทยมองกรอบ 33.30 - 34 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มอ่อนค่า จับตารายงานงบบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแล โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ถึงค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าว่า กรอบการเคลื่อนไหว 33.35-34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ปัจจัยที่ติดตามคือเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ คาดชะลอลงเป็น 6.2% จาก 6.5% หากสูงกว่าคาดจะหนุนการคาดการณ์ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดและดอลลาร์แข็งค่า (บาทอ่อน) นอกจากนี้ ยังมีดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกสหรัฐฯ จีดีพีปี 2565 ของไทย กรุงศรีฯ คาดอยู่ที่  3.2%

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่ 1 ก.พ.-10 ก.พ.ว่า  พบว่า วอน-เกาหลีใต้อ่อนค่ามากสุด 2.45% รองลงมาคือเงินบาท-ไทย 1.91% ริงกิต-มาเลเซีย 1.21% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.94% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.93% รูปี-อินเดีย 0.72%  ดอง-เวียดนาม 0.57% หยวน-จีน 0.52% ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.19% ยกเว้น เปโซ-ฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.02%

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าเป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลออก แรงขายทำกำไรปรับพอร์ตของต่างชาติ และการทบทวนการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดที่สูงขึ้นหลังตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.สดใสเกินคาด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1-9 ก.พ. นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท  และพันธบัตรสุทธิ 4.3 หมื่นล้านบาท  

ส่องสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่ารั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ Nation Online ว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  33.30 - 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านได้)  โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายทองคำหรือธุรกรรมเทรดทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร หรือสัดส่วนประมาณ 80%

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และ การปรับสถานะ Short USDTHB รวมถึงมุมมองต่อค่าเงินบาท ของผู้เล่นต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน โดยล่าสุด จะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แรงขายบอนด์ระยะสั้นเริ่มชะลอตัวลงบ้างในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประเมินว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่เริ่มคาดว่า เงินบาทอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างในระยะสั้น และมีสถานะการถือครองกลับมาเป็นฝั่ง Net Long USDTHB มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทยอยขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกก็อาจช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทอ่อนค่ารุนแรงได้ (ยกเว้นในกรณีที่ เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญอย่าง 34 บาทต่อดอลลาร์ ผู้ส่งออกอาจเริ่มปรับการวางออเดอร์และเริ่มคาดหวัง รอให้เงินบาทอ่อนค่าต่อ)

ส่องสาเหตุทำไมเงินบาทอ่อนค่ารั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค

สำหรับไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจนั้น  ฝั่งสหรัฐฯ ที่สำคัญอาจกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ 1. รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมกราคม 2. ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด รวมถึง 3.รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม

ส่วนยุโรปตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่าน รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า รวมถึง รายงานภาวะการจ้างงานในฝั่งอังกฤษและรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษในเดือนมกราคม 

นอกจากนี้ตลาดจะรอลุ้น ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึง เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB

ทางด้านเอเชีย ตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า รวมถึง ยอดการส่งออกและยอดการนำเข้าในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) และ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ซึ่งตลาดมองว่า ทั้งสองธนาคารกลางจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อคุมให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงกลับสู่เป้าหมายให้สำเร็จและในฝั่งไทย ตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกก็จะมีผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะสั้นได้ โดยหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นร้อนแรงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้

สำหรับฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้านั้น บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อหุ้นไทยกลับ หลังจากเดินหน้าขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังดัชนี SET50 ได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ มองขายหุ้นสุทธิ 5 พันล้านบาท

ส่วนบอนด์มองว่า แรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติยังคงมีอยู่ โดยนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจนของเงินบาท หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง (รอ Buy on Dip)ประเมิน ขายบอนด์สุทธิ 5 พันล้านบาท

 

 

 

 

 

 

logoline