svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิดแนวทาง ครม. “เศรษฐา” ลดค่าไฟเอาใจประชาชน-ธุรกิจ

12 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลุ้นครม.ชุดใหม่เคาะปรับลดค่าไฟฟ้าเอาใจประชาชน-ภาคธุรกิจ เปิดแนวทางให้กฟผ.ยืดหนี้ แต่รัฐต้องค้ำประกันสถานะการเงินให้ หวั่นกระทบเครดิตการลงทุนในอนาคต

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมต่างจับตามอง หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายต่อรัฐสภาแล้วเสร็จ  โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานและจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่ม 

ซึ่งนโยบายเร่งด่วนที่เสนอครม.นัดแรก คือการปรับลดค่าไฟฟ้า โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) งวดก.ย.-ธ.ค. 66 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวด (พ.ค.- ส.ค.66) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วยที่ประชาชนจะต้องจ่าย โดยในการประชุมครม.นัดนี้ คาดกันว่าอาจจะกดค่าไฟลงมาได้อีก 38 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับวิธีการลดแนวทางหลัก คือ การยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท  ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.บริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย 

- ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท

-  ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน 30,000 ล้านบาท  และเลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดย กฟผ.มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี 2567

แต่ปัจจุบัน กฟผ.ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ.ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของ กฟผ. ซึ่งแนวทางนี้รัฐบาลต้องรับความเสี่ยงสถานะการเงินให้ กฟผ. เพราะกระทบกับเครดิต การลงทุนในอนาคต 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่รัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 1 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ถ้าลดรวดเดียว 38 สตางค์ต่อหน่วยต้องใช้เงินประมาณ 22,800 ล้านบาท  

หรืออาจจะเป็นการให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การันตีราคาก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่งเพื่อคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้า หรืออาจจัดสรรก๊าซมาผลิตไฟฟ้าให้ครัวเรือนก่อน แต่วิธีดังกล่าวภาคธุรกิจจะใช้ไฟราคาแพงที่สูงและอาจทำให้มีต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นนำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผู้บริโภค 

อีกทั้งอาจจะติดประเด็นที่ว่า ในช่วงปลายปีเป็นที่รู้กันว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นเพราะเข้าสู่ฤดูหนาว ประกอบกับแหล่งเอราวัณปริมาณการผลิตก๊าซปลายปีไม่ถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อตันตามที่แจ้งไว้ ทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทน 2 ลำต่อเดือน ลำละ 60,000 ตัน ซึ่งราคาแอลเอ็นจีอยู่ที่ 18 เหรียญสหรัฐต่อตัน แพงกว่าก๊าซอ่าวไทย ซึ่งอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐต่อตัน 

เปิดแนวทาง ครม. “เศรษฐา” ลดค่าไฟเอาใจประชาชน-ธุรกิจ

ขณะที่การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ  จากเดิมที่คาดว่าผลิตก๊าซได้ในปริมาณขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวันได้ในช่วงแรกที่เริ่มสัญญา ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐ ในวันเริ่มต้นสัญญาช่วง เม.ย.2565 

แต่การที่บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ผู้ได้รับสัมปทานใหม่ต่อจาก  บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เข้าพื้นที่ล่าช้ากว่า 2 ปี ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซฯ ไม่สามารถผลิตได้ตามสัญ ญาที่ได้ระบุไว้

โดยผลิตได้เพียง 375 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและลดลงเหลือ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ล่าสุดได้มีการระดมทุนติดตั้งแท่นเจาะหลุมผลิตและแท่นขุดเจาะเพิ่มทำให้เพิ่มการผลิตก๊าซกลับมาอยู่ที่​ 400​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในวันที่  1 ​กรกฎาคม​ 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณยังไม่ได้ตามสัญญาที่ระบุไว้ทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทน ซึ่งส่งผลต้นทุนขยับขึ้นอีก

งานนี้คงต้องรอลุ้นครมใหม่.เคาะเลือกทางออกในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานะทางการเงินของกฟผ. จนนำไปสู่การเสียเครดิตและความน่าเชื่อ ขณะที่ภาคธุรกิจอยู่ได้ และไม่เป็นภาระของประชาชนมากเกินไป

เปิดแนวทาง ครม. “เศรษฐา” ลดค่าไฟเอาใจประชาชน-ธุรกิจ

 

logoline