svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ชาวสวนยางจ่อร้องศาลปกครอง หลังเกณฑ์เก็บภาษีที่ดิน ต้องปลูกยางขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่

15 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

สหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชี้สวนยาง 21 ล้านไร่ เสี่ยงจ่ายภาษีที่ดินอ่วมสิ้นปีนี้ หลังเกณฑ์เก็บภาษีที่ดินต้องปลูกยางขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ ขณะที่ พ.ร.บ. การยางฯ ระบุต้องปลูกเพียง 25 ต้นต่อไร่เท่านั้น พร้อมเดินหน้ายื่นศาลปกครองตีความระเบียบใหม่ ชะลอการเก็บภาษีออกไปก่อน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือกนย.  กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือเรื่องต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ขอให้ทบทวนการคิดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินขั้นตํ่าของสวนยาง ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566จากที่ต้องมีปลูกยางขั้นตํ่า 80 ต้นต่อไร่ เป็น 25 ต้นต่อไร่

เนื่องจากการปลูกยางของเกษตรกร ปัจจุบันโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 ต้นต่อไร่ และจนถึงระยะเวลาที่ได้ผลผลิต 7 ปี จะมีต้นยางตายเหลือเพียง 50 ต้นต่อไร่ อีกทั้งเกณฑ์การคิดภาษีที่ดินดังกล่างยังขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดคำจำกัดความคำว่า สวนยาง โดยเฉลี่ยต้องปลูกยางไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้นเท่านั้น 

โดยล่าสุด ได้รับหนังสือตอบกลับจาก นายพงษ์ศักดิ์ กวีนันทชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารการคลังท้องถิ่น ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ว่า ก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นกฎหมาย ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้เคยจัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า การกำหนดจำนวนต้นยางพารา 25 ต้นต่อไร่ ตาม พ.ร.บ.การยางฯ มิได้หมายความว่า เกษตรกรจะต้องเริ่มต้นปลูกยางพาราจำนวน 25 ต้นต่อไร่

โดยระยะปลูกยางพาราที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 3 คูณ 7 เมตร หรือประมาณ 76 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นระยะปลูกที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้เพื่อให้ต้นยางพารามีพื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต โดยการปลูกยางพาราจะไม่มีการตัดสาง หรือตัดขยายระยะเพื่อลดจำนวนต้นเหมือนการปลูกไม้ป่า ประกอบกับปัจจุบันประมาณ 80-90% ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดมีการปลูกยางพาราในอัตราประมาณ 76 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นจำนวนต้นยางพาราที่ให้ผลผลิตนํ้ายางลดลง

ทั้งนี้ ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนเพื่อปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2565 ได้กำหนดอัตราแปลงไม้ผลยืนต้นต่อเนื้อที่เพาะปลูก 1 ไร่ ของการปลูกยางพาราไว้ที่ 80 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นการปัดตัวเลขให้เป็นจำนวนเต็มสิบเพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของเกษตรกร และเป็นจำนวนเฉลี่ยของการปลูกยางพาราแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า อัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของพืชชนิดอื่นในบัญชีแนบท้าย ก ของประกาศฯ อ้างอิงมาจากอัตราแปลงไม้ผลไม้ยืนต้นต่อเนื้อที่เพาะปลูก 1 ไร่ ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2565 โดยไม่ได้มีการพิจารณาหักอัตราการตายของพืชชนิดนั้นออก

ดังนั้น หากมีการกำหนดอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของการปลูกพืชยางพารา โดยหักด้วยอัตราการตายของต้นยางพารา อาจเกิดความลักลั่นกับพืชชนิดอื่น ซึ่งจากผลการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว จึงได้ข้อสรุปว่า ให้คงอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของการปลูกยางพารา จำนวน 80 ต้นต่อไร่ ดังปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย

นายอุทัย กล่าวต่อว่า ตอนนี้เกษตรกรยางพาราทั้งประเทศพื้นที่กว่า 21 ล้านไร่ ยังไม่รู้เรื่องเลย ส่วนเจ้าของที่ดินก็ต้องหักกับผู้เช่าที่เป็นเกษตรกร ซึ่งจะเริ่มเก็บภาษีสิ้นปีนี้แล้ว เกษตรกรไม่เคยเสียภาษี ครั้งนี้แหละจะโดนแล้ว และในอัตราที่สูงด้วย เพราะไม่จัดว่า เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วหากโดน เชื่อว่าจะทำให้เกิดม็อบชุมนุมยืดเยื้อแน่นอนหลังจากที่โดนเก็บภาษีแล้ว เหมือนมาซํ้าเติมกันในช่วงราคายางตกตํ่า

โดยหลังจากนี้จะเดินหน้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาตัดสินว่า ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ขัดต่อ พ.ร.บ.การยางฯ หรือไม่ และจะขอให้ชะลอเรื่องเอาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา

อนึ่ง กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งในบัญชีแนบท้ายประกาศ กำหนดชนิดพืช "ยางพารา" มีอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ไว้ 80 ต้นต่อไร่ จะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี (อัตราตํ่าสุด)

logoline