svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

”กบน.” จ่อถก ราคาก๊าซหุงต้ม หาแผนรับมือ ก่อนหมดมาตรการ ตรึงราคา 30 มิ.ย. นี้

21 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับตาสัปดาห์หน้า กบน. อาจพิจารณาหาแนวทางรับมือ ราคาก๊าซหุงต้ม ที่จะหมดมาตรการตรึงราคา 30 มิ.ย. นี้ ด้านเอกชนหวังต่ออายุมาตรการอีก เพื่อลดผลกระทบด้านค่าใช้จ่าย ให้ประชาชน

รายงานข่าวจาก กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์หน้า คาดว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ในฐานะฝ่ายปฏิบัติมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านน้ำมัน จะพิจารณาแนวทางดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่จะสิ้นสุดการตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ในวันที่ 30 มิ.ย. 2566

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากขณะนี้ยอมรับว่า อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ทำให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านนโยบายพลังงานไม่สามารถพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมาตรการใด ๆ ได้

ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเห็นว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีอำนาจใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ได้ ซึ่งขณะนี้ กบน.กำลังพิจารณารายละเอียดคาดว่าจะพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ได้ต้นสัปดาห์หน้า

โดยปัจจุบันกองทุน อุดหนุนราคาแอลพีจีเพียง 17 สตางค์ต่อ กก. หลังราคาแอลพีจีตลาดโลก (CP) เดือน มิ.ย.ลดลงจากเดือน พ.ค.ถึง 110 เหรียญต่อตัน มาอยู่ที่ 445 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อรวมกับกองทุนมีเงินไหลเข้าราว 20.38 ล้านบาทต่อวัน หรือเดือนละราว 611 ล้านบาท ถือว่ายังน้อย เห็นได้จากฐานะกองทุนสุทธิล่าสุด ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2566 ติดลบ 60,189 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 14,077 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 46,122 ล้านบาท

นายนรุตม์ ภัทรชัยพร นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เผยว่า คาดหวังให้กระทรวงพลังงานจะพิจารณา ต่ออายุมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ออกไปจากที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2566 เพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ยังอยู่ในระดับสูง หรือหากเป็นไปได้อยากเห็นลดราคาแอลพีจีลงด้วยซ้ำ เพราะการตรึงราคา ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน

โดยปัจจุบันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยประมาณ 3-5% แต่เข้าใจว่ากองทุนยังแบกภาระจากการเข้าไปอุดหนุนราคาแอลพีจีก่อนหน้านี้ที่ราคาตลาดโลกสูง ดังนั้น ขอเพียงไม่ปรับขึ้นก็นับว่าไม่ทำให้ประชาชนรับภาระค่าครองชีพเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการ อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ลดลงจากก่อนหน้านี้อุดหนุน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

logoline