svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิด “เอเลียนสปีชีส์” 13 สายพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามนำเข้าไทย!

06 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สายพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ “เอเลียนสปีชีส์” ที่กรมประมงได้ประกาศห้ามนำเข้าประเทศไว้ จำนวน 13 ชนิด นอกจาก "ปลาหยก" แล้วมีชนิดไหนอีกบ้าง หากมีไว้ในครอบครองต้องทำอย่างไร ติดตามรายละเอียดได้ที่นี้

“ปลาหยก” หรือ ปลาเก๋าหยกสายพันธ์ปลาที่ได้รับความสนใจในช่วงนี้ หลังจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพี ได้เปิดตัว ยกให้เป็น วากิวแห่งสายน้ำ สัตว์เศรษฐกิจใหม่ของไทย ด้วยประโยชน์และรสชาติที่โดดเด่น ท่ามกลางกระแสความสงสัย บวกกังวลใจ เนื่องจาก ปลาหยก เป็น 1ใน 13  สายพันธุ์ “เอเลียนสปีชีส์” ที่กรมประมงประกาศห้ามนำเข้าเพื่อป้องกันอันตรายต่อระบบนิเวศ

"ปลาเก๋าหยก" 1ใน13 สายพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามนำเข้าไทย

ทำความรู้จัก “เอเลียนสปีชีส์”  

“เอเลียนสปีชีส์”  เป็นคำเรียกของสิ่งมีชีวิต ที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น โดยข้อมูลจาก "กรมประมง" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงสัตว์น้ำกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “Alien Aquatic Species” หรือสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทย ที่บางชนิดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสูง โดยสามารถแบ่งได้ตามบทบาทที่มีต่อระบบ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น 2 ประเภท

1. ประเภทที่ไม่รุกราน (Non invasive)

สำหรับกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่น หรือขัดกับสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศ ที่เปลี่ยนไปอาจมีผลให้ชนิดพันธ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และ ขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศได้ สัตว์น้ำในประเภทนี้ เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆ จึงถูกปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วไปได้

2. ประเภทที่รุกราน (Invasive alien species, IAS)

เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว และ มีความสามารถในการปรับตัวแข่งขัน แทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี แถมยังมีการดำรงชีวิต ที่ขัดขวาง หรือ กระทบต่อสมดุลนิเวศ ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพันธุ์พื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกอัฟริกัน (ดุกรัสเซีย) และลูกผสม และหอยเชอรี่ 

อัตเดท 13 สายพันธุ์ห้ามนำเข้าไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 กรมประมง ได้อาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2560 ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พ.ค.2564  เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่

  • ปลาหมอสีคางดำ
  • ปลาหมอมายัน
  • ปลาหมอบัตเตอร์
  • ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
  • ปลาเทราท์สายรุ้ง
  • ปลาเทราท์สีน้ำตาล
  • ปลากะพงปากกว้าง
  • ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
  • ปลาเก๋าหยก                    
  • ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
  • ปูขนจีน
  • หอยมุกน้ำจืด
  • หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena

13 สายพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น ห้ามนำเข้าไทย

ทำการวิจัยได้ บริโภคได้ ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำ

จากประกาศฉบับดังกล่าวฯ มีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ คือ กรณีที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาต และ เมื่อไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นกลุ่มดังกล่าวแล้ว ให้รีบนำสัตว์น้ำส่งมอบให้สำนักงานประมงจังหวัด หรือ หน่วยงานกรมประมงอื่น ๆ ในพื้นที่โดยด่วน 

กรณีที่ประชาชนได้สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้สัตว์น้ำตายก่อนนำไปจำหน่าย , กรณีที่สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้จากธรรมชาติได้หลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

เปิด “เอเลียนสปีชีส์” 13 สายพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามนำเข้าไทย!
กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือ กรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงก่อน, ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2558

บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

logoline