svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยปี 66 ยังไม่พ้น "ปากเหว"หวั่นทั่วโลกถดถอยดับฝันการฟื้นตัว

29 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้เศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากปัจจัยในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ทั่วโลกเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งฉุดให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และดึงให้เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะสะดุดหรือชะงักงัน  

เศรษฐกิจไทยในรอบปีที่ผ่านมาต้องเผชิญสิ่งเลวร้ายและความผันผวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่สงครามรัสเซียยูเครน  ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง  แม้เงินเฟ้อจะปรับลดลงบ้างแล้ว

แต่ธนาคารกลางเหล่านี้ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า เพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลดลงตามกรอบที่วางไว้ 2%  จนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแรงกว่าคาด 

ขณะที่จีนมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ตามมาตรการ Zero-Covid  ทำให้แรงส่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยังแผ่ว  

นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด (ต.ค. 65)  ได้คงประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะเติบโต 3.2% เท่ากับการคาดการณ์เดิมในเดือน ก.ค. 65  

แต่ในปี 66  คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.0% (เฉลี่ยปี 60-62 ) 

กลุ่มเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะชะงักงัน หรือแทบจะไม่โตจากปี 65   หมายถึงประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐฯ จีดีพีอยู่ที่ 1.0%  สหภาพยุโรป 0.5% ซึ่งลดลงมากจากระดับ 3.1% ในปี 65

ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 65 และในปี 66

ส่วนในปี 66  เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัว 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี  65  แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6.5% ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 (เฉลี่ยปี 60-62) 

สำหรับอินเดียและ ASEAN-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง  คาดว่าจีดีพีไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปีนี้  และปี 66 เป็น  3.7% ท่าม กลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

ดังนั้นแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกในปี 66  จะเปิด "บาดแผลทางเศรษฐกิจ" อีกครั้งหรือไม่  เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะกลายเป็นปีเผาจริงตามที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่นั้น คงต้องตามไปส่องดูข้อมูลทางเศรษฐกิจของแต่ละสำนักกันเลยว่าแต่ละค่ายมีมุมมองอย่างไร

เริ่มจาก  ttb analytics  ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้า จะขยายตัวที่ 3.6% เร่งตัวขึ้นจากปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 3.2%  ตัวขับเคลื่อนมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี   

ซึ่งสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีความชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง เบื้องต้นจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 อยู่ที่ 10.5 ล้านคน และ ปี 66 อยู่ที่ 22.4 ล้านคน

 โดยการฟื้นตัวมาจากนักท่องเที่ยวจีน เอเชียใต้และตะวันออกกลาง เป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดภายในประเทศลงแล้ว รวมถึงผ่อนคลายการเดินทางเข้าออกพรมแดนกับฮ่องกง 

 สอดรับกับ "คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร." ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก  ขณะที่มีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ 

ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7- 3.2% 

 

 

 

ด้าน "ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" มองว่า  ปีหน้าเศรษฐ กิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสงคราม นโยบายซีโร่โควิดเป็นศูนย์ของจีน จึงได้ทำการประเมินจีดีพีปี 66 เป็น 2 กรณี คือเลวร้ายสุดเศรษฐกิจโลกถดถอยทำให้การค้าโลกลดจากกรณีฐาน 1% จีดีพีจะโตแค่ 3.1% 

กรณีที่ดีที่สุดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากสมมติอีก 2 ล้านคนเป็น 24 ล้านคน จีพีพีจะโตได้ 4.1%  หรือโดยเฉลี่ยเศรษฐกิจไทยปี 66 โต 3.6% จากปี 65 โต 3.3%โดยแรงขับเคลื่อน ให้เศรษฐกิจขยายตัวยังมาจาก ภาคการท่องเที่ยว 

ฝั่ง "ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์หรืออีอีซี" มองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆที่สำคัญ คือ 1. เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกดดันการส่งออกและลงทุน 

2.นโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยังไม่แน่นอนกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออก  3.เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง หนี้สูง กดดันการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง และ 4.ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน 

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนในปีนี้ และจะชะลอลงมากในปี 66 ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลงช้า วิกฤตพลังงานยืดเยื้อ และนโยบายการเงินเข้มงวดทั่วโลก บางประเทศหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ เช่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป

ขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 66  EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 65 ลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.9% และปีหน้าลดจาก 2.7% มาอยู่ที่  1.8%  นอกจากนี้ได้ปรับลดประมาณการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 66 เหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.7% 

ด้าน "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 66 ไว้ที่3.2% จากเดิมที่มองไว้ที่  3.2-4.2 % เนื่องจากเศรษฐกิจเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรป ขณะที่แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 66 มีมากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในจีนหลังจากนี้ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุข 

เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน ดังนั้นได้คงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน  จากปี 65 ที่ปรับจีดีพีขึ้นมาที่ระดับ 3.2% จากเดิมตั้งไว้ 2.9% 

ขณะที่ "วิจัยกรุงศรี" คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี  66 จะเติบโต 3.6 % จาก 3.2% ในปี 65 แรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว สวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตได้จากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

การจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง ด้านการลงทุนของภาคธุรกิจมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ  การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการขยายตัวของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางสาขาและการส่งออกในภาพรวมเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐ กิจของไทย

ส่วน "สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)"  มองว่า  ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยคือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวขึ้นหนุนจีดีพีปีหน้าโต 3.5% จากกรอบ 3-4% 

ฟาก "สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย" มองว่า  เศรษฐกิจปี 65 เผาหลอก แต่ห่วงว่าปีหน้าจะเผาจริง เนื่องจากเต็มไปด้วยหลายปัจจัยเสี่ยงปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูง เช่น อิตาลี หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เช่นในอดีต รวมถึงวิกฤติตลาดเกิดใหม่ สืบเนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย และโควิดกลายพันธุ์ แพร่ได้เร็ว หลบภูมิคุ้มกัน แม้อาการไม่รุนแรง แต่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมอีกรอบ

สำหรับปัจจัยการเมืองที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้านั้น จะดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาไทยหลังตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ  โดยธนาคารคงจีดีพีปี 65 ขยายตัวอยู่ที่ 3.2% และปี 66 ขยายตัว 3.4%

ด้าน "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)"  มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.7%  แม้เศรษฐ กิจโลกชะลอลง การส่งออกถูกกระทบเติบโตเหลือ 1% แต่จะถูกฟื้นด้วยการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว

คาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 10 ล้านคน ปี 66 บวกลบ 20 ล้านคน  จากปี 65 จะขยายตัวได้ระดับ 3%  คาดว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบ 1-3% ครึ่งหลังของปีหน้า

โดยพยายามรักษาเสถียรภาพ การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย เงินเฟ้อที่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 7.9% ก็ทยอยลดลงมา

ด้าน "ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์" ได้ปรับจีดีพีปี 65 ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 2.9% เป็น 3.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศหนุ

แต่ตรงข้ามกับปี 66 ที่เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยจากขยายตัว 4.3% มาอยู่ที่  4.1% และลดลงเหลือ 3.6% ซึ่งเมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดในปี 2565 และปี 2566 ถือว่าเป็นการเร่งตัวขึ้นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

เพราะไทยประสบปัญหาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลงใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกสินค้าหดตัว 2.1% ในปี 66 จากปี 65 ขยายตัว 8.1%  


ปิดท้าย "ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)"  ประเมินเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปี 65 ลดลงมาอยู่ที่ 4.2% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.3% และนับเป็นครั้งที่ 5 ที่เอดีบีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 66 ลงสู่ระดับ 4.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.9%

เนื่องจากเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% จากเดิมอยู่ที่ 3.3%  ในปี 65 และ 4.3 % จากเดิม 4.5%

นอกจากนี้ได้ปรับจีดีพีไทยปี 65 ขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากตัวเลขเดิมอยู่ที่  2.9% และคงคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยปีนี้ 6.3% และปีหน้า 2.7%  อย่างไรก็ตาม เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 66 ลงสู่ระดับ 4.0% จากระดับ 4.2%

ในภาพรวมหน่วยงานเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจีดีพีปีหน้าจะปรับตัวลดลงจากที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและฉุดรั้งการส่งออกทรุด  

ส่วนความหวังที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ โดยใช้ท่องเที่ยวทดแทนส่งออก เพื่อเป็นแรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจไม่เต็มที่นัก  เพราะจีนยังไม่เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 
 

ดังนั้นภาครัฐและเอกชน ต้องใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ ควรอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่  เพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบและรักษาการจ้างงาน

เพราะไม่เช่นนั้นธุรกิจอาจจะต้องล้มหายตายไปอีกมาก และคนตกงานเพิ่มขึ้น  ขณะที่ประชาชนก็ต้องบริโภคสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้รอดจากวิกฤติ
...

เศรษฐกิจไทยปี 66 ยังไม่พ้น \"ปากเหว\"หวั่นทั่วโลกถดถอยดับฝันการฟื้นตัว

logoline