svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ประสานเสียงรุมค้านภาษีหุ้น ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดสภาพคล่อง

23 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วงการตลาดทุน-นักวิชาการ ประสานเสียงค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดสภาพคล่อง ลดขีดความสามารถแข่งขันประเทศ ทำต่างชาติหนีตลาดหุ้นไทย กระทบการระดมทุนของบริษัทใหญ่ในอนาคต

ประสานเสียงรุมค้านภาษีหุ้น ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดสภาพคล่อง

นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ไพบูลย์ นลินทรางกูร กล่าวภายในงาน FETCO Capital Market Outlook

เสวนาพิเศษ “ภาษีขายหุ้น…คุ้มหรือไม่” จัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ระบุว่า การเก็บภาษีขายหุ้นได้ไม่คุ้มเสีย

ไม่ควรเก็บ ไม่ใช่เรื่องของเวลาเก็บเมื่อไหร่ คาดว่าเม็ดเงินภาษีได้จริงๆ แล้วไม่ถึงหมื่นล้านบาทแน่นอน และยังลดลงทุกปี

ทางภาครัฐคงต้องทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะเป็นการอ้างอิงตัวเลขฐานปีก่อนที่มีสภาพคล่องสูง มูลค่าซื้อขาย 100,000 ล้านบาทแต่วัน

แต่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวมีความเสี่ยงถดถอย ปัจจุบัสภาพคล่องลดลงเหลือ 30,000 ล้านบาท ตอนนี้แม้ยังไม่ได้เก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว

สภาพคล่องก็หายไปเกินครึ่งแล้ว

ประสานเสียงรุมค้านภาษีหุ้น ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดสภาพคล่อง

อีกทั้งหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว จะกระทบกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีต้นทุนการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันถึง 200 เท่าและเท่าที่สำรวจพูดคุย

กับนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาเทรดกันเองจำนวนมากและสร้างสภาพคล่อง พบว่า สัดส่วน 80-90% ถ้าเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวคงไม่อยู่

ดังนั้นภาษีขายหุ้นดังกล่าว มีโอกาสทำให้สภาพคล่องจากนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองหุ้นไทยสัดส่วน 50% หายไปเกือบทั้งหมด

กระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุนไทยลดลงตามไปด้วยและกำลังจะทำให้ตลาดทุนไทยถอยหลังกลับไปถึง 10 ปี 

ตลาดทุนไทย มีจุดขายเดียวคือ สภาพคล่อง แต่การเก็บภาษีขายหุ้นเหมือนกับ เรากำลังยิงขาตัวเอง ทั้งที่เรากำลังแข็งแรง

แต่ภาษีตัวนี้กำลังทำให้เราด้อยกว่าคู่แข่งอย่างแท้จริง คือ สิงคโปร์  ที่ไม่เก็บภาษีอะไรเลย ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเป็นไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์

ขณะที่เวียดนามถือเป็นคู่แข่งอันตรายในระยะยาว หากสามารถปลดล็อกจากตลาดชายขอบและเศรษฐกิจเติบโตสูง

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโต 1-2% ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงก่อนโควิดมาเป็นระยะเวลา 4-5 ปีแล้ว น่าเป็นห่วง

ภาครัฐควรใช้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกำดักรายได้ปานกลาง และต่อสู้กับสังคมสูงวัย

ตอนนี้มองว่าใช้ศักยภาพของตลาดทุนไทยไปแค่ 20% ในการพัฒนาประเทศ ยังเหลืออีก 80% ซึ่งเราอยู่ในช่วงของการพัฒนาตลาดทุนไทย

โดยการพัฒนาตลาดทุนไทย สามารถใช้เป็นแหล่งระดมทุน ดึงภาคธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ เพิ่มมากขึ้น

แน่นอนว่าบริษัทจดทะเบียนสามารถสร้างรายได้ทางอื่นให้กับภาครัฐ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินปันผล ภาษีแวต ปัจจุบันเป็นเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท

ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินภาษีขายหุ้นดังกล่าวที่ระดับหมื่นล้านเท่านั้น 

 

ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มา 25 ปี  มีรายได้ 1,000 กว่าล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้รัฐราว 40 กว่าล้านบาทในปีแรก แต่ช่วงปีก่อนโควิด มีรายได้เพิ่มเป็นเกือบ 100,000 ล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้รัฐเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4,000 ล้านบาท  หรือเพิ่ม 100 เท่า แน่นอนว่ารัฐบาลได้ประโยชน์จากการที่มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ และยังมีภาษีเงินปันผลที่ในตลาดทุนไทยจ่ายกันอยู่ปีละ 60,000 ล้านบาท ฯลฯ 

 

ด้านนักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ระบุ การเก็บภาษีขายหุ้นคาดว่าคงยาก

ที่จะได้เม็ดเงินถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งอย่างมากอาจได้เพียง 8,000 ล้านบาท หากนำมาใช้ทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 2 ปีก็หมด

คุณค่าของการนำเงินจากการเก็บภาษีขายหุ้นไปใช้ มองว่าเป็นการเก็บภาษีที่ได้ไม่คุ้มเสีย และไม่ควรเก็บดังนั้นคำถามว่าเก็บเมื่อไหร่ก็ไม่ควรจะพูดถึง 

นอกจากนี้ ภาษีดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะออกจากตลาดทุนไทยได้ โดยคาดว่าเงินลงทุนต่างชาติจะหายไป 30%

และยังทำลายโอกาสทุกคนที่เก็บออมเงิน หวังลงทุนในตลาดทุนไทย โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อยกระดับฐานะทางการเงินและรองรับวัยเกษียณ

ภาครัฐควรเก็บภาษีอื่นแทน เช่น คนหนีภาษี มีหลายบัญชี หรือภาษีที่ดิน คนที่มีฐานะไม่กระทบมากขณะเดียวกันมองว่าตลาดทุนไทยเป็นคำตอบสำคัญ

ทำให้ทุกคนมีเงินเก็บออม สำหรับคนรุ่นใหม่และการออมเพื่อรองรับวัยเกษียณ  

 

 

นักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ VI ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ระบุ การเก็บภาษีขายหุ้นจะได้เม็ดเงินแค่หมื่นล้านบาท ไม่คุ้มเสียอย่างมาก

และไม่ใช่เวลาที่จะเก็บ ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ สภาพคล่องลดลง ตลาดเงียบเหงา มูลค่าหุ้นลดลง

เป็นความเสี่ยงมหาศาลสุดท้ายแล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบ หรือจะตายกันหมด

และประเทศชาติเสียประโยชน์ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ภาครัฐต้องเปลี่ยนมาสนับสนุน ตลาดทุนไทยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ

จากนโยบาย ไล่ถอนขนห่านทองคำมาเป็น ขุนห่านทองคำ  ดึงบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัป บริษัทต่างชาติ 

 

ภาคธุรกิจยอมเข้าตลาด เพราะมีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนภาพธุรกิจครอบครัว เป็นบริษัทมหาชนระดมทุนได้เพิ่มขึ้น กำไรเติบโตขึ้น ยอมแลกกับยอมเสียภาษี

ไม่เป็นบริษัทนอกตลาด รัฐเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทุกอย่างโปร่งใส เปลี่ยนภาพธุรกิจครอบครัว เป็นบริษัทมหาชน แต่ถ้าเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว

สภาพคล่องหาย พี/อีเหลือ 10 เท่า จากปัจจุบัน 17 เท่า คงไม่มีใครอยากเข้ามาเป็นเรื่องที่น่ากลัว

 

พร้อมกับมองว่ายังต้องผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่ง หากภาครัฐส่งเสริมเก็บออมในหุ้นดีๆ  ยังมีความหวังว่า

คนไทยจะมีชีวิตในอนาคตเอาตัวรอดในวัยเกษียณได้ ไม่ต้องทำงานไปจนวันตาย เพราะตอนนี้มีคนแค่กระจุกเดียวลงทุนในหุ้น

ในขณะที่ฝากเงินให้ดอกเบี้ยต่ำไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อสูงได้ และคนวัยเกษียณเพิ่มขึ้นเมื่อไม่มีเงินพอใช้ ก็เป็นภาระรัฐบาล

ขณะที่หนี้ภาครัฐก็เพิ่มพูนขึ้นเป็นความเสี่ยงประเทศไทยในอนาคต

 

 

ด้านประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ระบุ สภาพคล่องดึดดูดสภาพคล่อง 

เป็นสิ่งสำคัญและเป็นจุดขายของตลาดทุนไทย  หากเปรียบสภาพคล่องเหมือนหนองน้ำถ้าน้ำลึกปลาจะมาอยู่เยอะ ออกลูกเยอะ

เก็บลูกหลานกินก็ไม่หมดแล้วแต่น้ำแห้ง ปลากระโดดนี้ เก็บอะไรก็ลำบากหรือเราต้องทำตัวเป็นทุ่งหญ้า ที่ห่านทองคำหลายตัวๆจะบินมาไม่ใช่บินจากไป

 

ดังนั้น มองว่า การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวจะได้ไม่คุ้มเสีย กระทบทางตรงต่อสภาพคล่องลดลง ทำลายเสน่ห์ของตลาดทุนไทย 

และกระทบทางอ้อมต่อคนที่เก็บเงินออมเพื่ออนาคต จึงถือเป็นการบั่นทอนตัวเอง ส่วนปีหน้าก็ไม่ใช่เวลาที่ดีแน่ๆ

เศรษฐกิจโลกยังไม่พ้นจากปัญหาที่จะเกิดขึ้น  อยากให้เริ่มที่จุดว่าเก็บภาษีนี้แล้วทำให้ประเทศไทยโดยรวมเจริญขึ้นหรือไม่ 

อยากให้ภาครัฐมองตลาดทุนไทยเป็นโอกาสของประเทศไทยระยะข้างหน้า เป็นเครื่องมือเปลี่ยนประเทศยกระดับเศรษฐกิจไทยปลดล็อกสู่ประเทศพัฒนา

logoline