svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

ตกปลาบ่อเดียวกัน...ดับฝันภูมิใจไทยสกัดแลนด์สไลด์ 

11 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาของภูมิใจไทยยังไม่จบแค่นี้ เพราะยังมีปัจจัยทั้งภายในและภายใน ปัจจัยอื่นๆ อีก ที่จะฉุดรั้งไม่ให้ "ภูมิใจไทย" กลายเป็นคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับเพื่อไทย 

การที่ภูมิใจไทยจะกลายเป็นพรรคต้นขั้วการเมือง หรือ พรรคหลักของขั้วการเมือง ตามที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรค เคยพูดเอาไว้ได้ และมาขยายความภายหลังว่า ตัวเลข 120 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่พูดกันเล่นๆ แต่เอาจริงนั้น มีเงื่อนไขและข้อจำกัดดังนี้ 

 

ตกปลาบ่อเดียวกัน...ดับฝันภูมิใจไทยสกัดแลนด์สไลด์ 

 

1.ภูมิใจไทยจะต้องเป็น "พรรคหลักของขั้วการเมือง" ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น 

 

-เนื่องจากภูมิใจไทยประกาศตัวชนกับเพื่อไทยชัดเจน แถมยังดูด ส.ส.เพื่อไทยไปหลายคน เห็นๆ ตอนนี้ก็ 7-9 คน ไม่นับ "งูเห่า" ที่ออกไปก่อนหน้านี้ เช่น ปทุมธานี กรณี "ก้อย พรพิมล ธรรมสาร" อดีตนักร้องนำวงโอเวชั่น เจ้าของเพลง "สายเกินไป" ที่ถูกขนานนามว่า "งูเห่าเสียงทอง" 

 

-ประวัติศาสตร์บาดแผลของสองพรรค กรณีครูใหญ่เนวิน นำ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" สวมวิญญาณ "อนาคอนด้า" หันไปหนุน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จากประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2551 ก่อนจะกำเนิดเป็นพรรคภูมิใจไทย ตามมาด้วยถ้อยคำระดับตำนาน "มันจบแล้วครับนาย" 

 

ว่ากันว่าเรื่องนี้ทำให้ 2 พรรค ทั้ง "เพื่อไทย vs ภูมิใจไทย" และ 2 คนการเมือง "ทักษิณ vs เนวิน" สวมคอนเวิร์ส เดินคนละทาง และทักษิณ ก็สั่งไล่บี้ภูมิใจไทยมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2554 แล้ว ทำให้ภูมิใจไทยได้มาแค่ 34 เสียง คือ เขต 29 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 5 คน

 

ซึ่งจะว่าไป จำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 62 ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมาก ส.ส.เขตขยับขึ้นแค่ 10 คน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นกว่าเท่าตัว คือ จาก 5 เป็น 12 แต่ กติกาการเลือกตั้งได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม 

2.เมื่อต้องการเป็นพรรคหลักของขั้วการเมืองตรงข้ามเพื่อไทย ก็ต้องเป็นพันธมิตรกับพรรคที่อยู่ตรงข้ามเพื่อไทยด้วยกัน ได้แก่ 

 

-พลังประชารัฐ

 

-ประชาธิปัตย์ 

 

-ชาติไทยพัฒนา 

 

-ก้าวไกล (ฐานเสียงทับซ้อนเพื่อไทย) 

 

-พรรคใหม่ๆ เช่น ไทยสร้างไทย สร้างอนาคตไทย 

 

แต่ปรากฏว่า ภูมิใจไทยกำลังเดินเกมเป็นปฏิปักษ์กับแทบทุกพรรคที่เอ่ยชื่อมา 

 

-พลังประชารัฐ - ภูมิใจไทยดูด ส.ส.มาจำนวนไม่น้อย ดูจากกลุ่ม 28 ส.ส. มี ส.ส.จากภาคตะวันออก เช่น เพชรบุรี และยังมีข่าว กลุ่ม "เสี่ยบี" หรือ "พุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์" อดีต รมว.ดีอีเอส อดีตขุนพล กทม.ของพลังประชารัฐ พา ส.ส.กทม. กลุ่มใหญ่ย้ายซบภูมิใจไทยด้วย 

 

โดยการเลือกตั้งปี 62 พปชร.ได้กทม. 12 เก้าอี้ อนาคตใหม่ กับเพื่อไทย ได้พรรคละ 9 ตอนหลัง มีเลือกตั้งซ่อม เพื่อไทยเพิ่มเป็น 10 พปชร.เหลือ 11 

 

-ประชาธิปัตย์ - ภูมิใจไทยดูด ส.ส.มาบ้าง แต่น้อยกว่าพลังประชารัฐ แต่ที่หนัก คือ ภูมิใจไทยกำลังเร่งเปิดเกมช่วงชิง ส.ส.ใต้ ซึ่งจะมี 58 ที่นั่ง ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ บางส่วนก็เป็นพื้นที่ฐานเสียงเดิมของพลังประชารัฐด้วย ที่มี ส.ส.ขณะนี้ 14 คน 

 

-ชาติไทยพัฒนา - ภูมิใจไทย มีโอกาสปะทะในพื้นที่ภาคกลาง และตะวันออก รวมทั้งแข่งกันดูดบ้านใหญ่เข้าพรรค ที่สำคัญ แหล่งทุนใหม่คนสำคัญของชาติไทยพัฒนา คือ คู่อริ "ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ" ของภูมิใจไทย 

 

-ก้าวไกล - มีแนวนโยบายสุดโต่ง โดยเฉพาะเรื่องสถาบันหลักของชาติ สวนทางกับภูมิใจไทย 

 

-พรรคใหม่ - สร้างอนาคตไทย ทับไลน์กันในภาคใต้ ส่วนไทยสร้างไทย ก็ทับไลน์กันในอีสาน 

3.พรรคฝั่งตรงข้ามเพื่อไทย ไม่มีพรรคไหนสู้เพื่อไทยแบบเดี่ยวๆ ได้เลย แต่ต้องแพ็คกันเป็นเหมือน "อัมโน" ของมาเลเซีย จึงจะสู้ได้ แต่ภายในกลับแตกกันเอง โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทย ขย่มกันทั้งในและนอกสภา 

 

-ในสภา ภูมิใจไทยดอดจับมือฝ่ายค้านผ่านร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับปลอดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ไม่มีคนค้ำ

 

-ในสภา ประชาธิปัตย์นำทีมถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง 

 

-นอกสภา ซัดกันนัวในการแย่งชิงพื้นที่ภาคใต้ 

 

4.ฝั่งไม่เอาเพื่อไทย ไม่เอาทักษิณ ไม่รังเกียจทหาร โดยฝั่งนี้จะสู้เพื่อไทยได้อย่างไร เพราะมีพรรคเดียวเท่านั้น ที่ไปตัดแต้มเพื่อไทยได้  คือ ภูมิใจไทย ส่วนที่เหลือตัดแต้มกันเอง รวมทั้งภูมิใจไทยก็ไปตัดแต้มเพื่อน หรือ "ตกปลาบ่อเดียวกัน" ด้วย

 

ดังนั้น การจะเอาชนะเพื่อไทย ต้องลดจำนวน ส.ส.เพื่อไทย แล้วมาเพิ่มฝ่ายตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไทยไม่กระทบเท่าไหร่ แต่ฝั่งไม่เอาเพื่อไทย แย่งกันหนัก ทะเลาะกันเละ 

 

5.พื้นที่เลือกตั้งภาคใต้คือพื้นที่ที่ดุเดือด และตัดแต้มกันเองสูงสุด ยกตัวอย่าง

 

-ถ้าประชาธิปัตย์ได้ 35-40 ที่นั่งจริง จะเหลือเก้าอี้ ส.ส.ให้แย่งกันอีก 18-23 ที่นั่ง จากเก้าอี้ ส.ส.ทั้งหมด 58 ที่นั่ง ถ้าพรรคประชาชาติกวาดไปสัก 10 ที่นั่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ด้ามขวานก็แทบไม่เหลือเก้าอี้ให้ชิงแล้ว จาก 12 เก้าอี้ ซึ่งก็จะทำให้ภูมิใจไทยได้น้อยลงด้วย 

 

-แต่หากภูมิใจไทยได้ 20 ที่นั่ง จะเหลือเก้าอี้แค่ 38 ที่นั่ง ถ้าพรรคประชาชาติได้ 10 เพราะฐานเสียงแน่นในสามจังหวัดใต้ ก็จะเหลือที่นั่งให้ประชาธิปัตย์แค่ 28 เท่านั้น เสียงรวมของฝั่งรัฐบาลเดิม ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่ถ่ายจากกระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวาเท่านั้น

 

หากแบบนี้เพื่อไทยลอยลำ เพราะไม่มีลุ้นในพื้นที่ภาคใต้อยู่แล้ว 

 

แต่ข่าวล่ามาเร็วที่ "เนชั่นทีวี" ได้มาล่าสุด คือ เพื่อไทยเดิมจะไม่ส่ง ส.ส.เขตในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อหลีกทางให้ประชาชาติ ปรากฏว่าสุดท้ายลงมติส่งครบทุกเขต โดยวางยุทธศาสตร์ตัดแต้มประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ไม่ให้คะแนนไปเข้าสองพรรคนั้น เพื่อช่วยประชาชาติทางอ้อม 

 

ขณะที่อีกด้าน ประชาชาติก็ไปเปิดตัว เปิดพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนบน เพื่อส่งผู้สมัคร เช่น นครศรีธรรมราช ตอนแรกจะส่งเขตเดียว คือ เขต 8 แต่พอลงพื้นที่จริง กระแสตอบรับดี จึงจะส่งทั้ง 9 เขต ก็เท่ากับไปตัดแต้มประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทยลงอีก โดยเฉพาะฐานเสียงมุสลิมที่ไม่เอากัญชาเสรี และพรรคประชาชาติ คือ พรรคเดียวที่โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ตั้งแต่วาระแรก ส่วนพรรคอื่นเพิ่งมาโหวตถอนร่าง ในวาระ 2 

 

6.พื้นที่ภาคกลาง กทม. ตะวันตก ตะวันออก แทบไม่มีเจ้าของพื้นที่ตัวจริง แบบกวาดเกือบยกภาค ที่ผ่านมาก็ได้เก้าอี้ ส.ส.เฉลี่ยๆ กันไป ฉะนั้นภูมิใจไทยจะกวาดให้ได้ 80-85% เหมือนที่เพื่อไทยกวาดเก้าอี้ ส.ส.ในภาคอีสาน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย คู่แข่งมีทั้งชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ พรรคใหม่ รวมถึงเพื่อไทยเอง ที่ก็ไม่ได้อ่อนยวบในพื้นที่นี้

logoline