svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" คาด"ภาษีคาร์บอน"ข้ามแดนกระทบส่งออกไทยหนัก

สัปดาห์นี้ "รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" ให้มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบภาษีคาร์บอนข้ามแดนกระทบส่งออกไทยหนัก ท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจแต่ขาดแรงงาน  ติดตามได้ในเจาะประเด็น

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์  กล่าวถึง การขาดการเตรียมการที่ดีพอของภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะทำให้ อุตสาหกรรมส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนข้ามแดน ตลาดสินค้าส่งออกสำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป เร่งรัดการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดนเร็วขึ้น มากขึ้นและขยายขอบเขตมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก กระทบต่อชั้นบรรยากาศและปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

 

โดยรัฐสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คาดว่า ร่างกฎหมายเสนอโดยพรรคแดโมแครตผ่านรัฐสภาแน่นอน เนื่องจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯพรรคแดโมแครตเป็นส่วนข้างมากในวุฒิสภา ขณะนี้ สวีเดนเก็บภาษีคาร์บอนสูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 137 ดอลลาร์ สวิตเซอร์แลนด์เก็บภาษี 101 ดอลลาร์ต่อคาร์บอน 1 ตัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายดังกล่าวหากผ่านรัฐสภาสหรัฐฯแล้ว แม้นว่ากฎหมายได้วางกรอบเวลาเริ่มบังคับใช้กับประเทศคู่ค้าในปี พ.ศ. 2567 เพื่อให้มีการปรับตัวตามข้อกำหนดเรื่องการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการการผลิต แต่จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกไทยค่อนข้างมากเพราะจะปรับตัวกันไม่ทันและต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น กฎหมายนี้จะเริ่มใช้บังคับกับสินค้า

 

อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต อาจทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบชะลอลงอย่างชัดเจนหากปรับตัวไม่ทัน



ส่วนมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมของอียูนั้นจะใช้แนวคิดกลไกตลาดมาควบคุมการปล่อยมลพิษมากกว่าการควบคุมโดยตั้งกำแพงภาษีแบบสหรัฐฯ สหภาพยุโรปหรืออียูได้ประกาศนโยบาย European Green Deal มาหลายปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้อียูบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ Net zero emissions ภายในปี 2593 ซึ่งมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งมีวัตุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนและลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน ปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการเสียเปรียบคู่แข่งนำเข้าต่างชาติในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจากที่เข้มข้นน้อยกว่าอียู อย่างกรณีของไทยเราก็มีมาตรการเข้มข้นในการควบคุมการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าอียูหลายระดับ 


"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่า มาตรการ CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM certificate) โดยราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู โดยราคาซื้อขาย เดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 76 ยูโรต่อตันคาร์บอน กิจการอุตสาหกรรมส่งออกไทยสามารถนำใบอนุญาตเหล่านี้มาซื้อขายในตลาดได้หากมีการลงทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและควบคุมการปล่อยมลพิษได้ดีขึ้น

 

สำหรับ มาตรการ CBAM  นั้นจะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้ากับสินค้า 8 ประเภท ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติกและอาจพิจารณาขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติมได้ในอนาคต คาดว่าจะกระทบภาคส่งออกสินค้ากลุ่มมาตรการ CBAM อย่างหนัก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 66-68 ผู้นำเข้าอาจมีหน้าที่เพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้เต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM การที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยยังลงทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่มาก และยังไม่ได้ลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตปล่อยของเสียน้อยลงมากนัก ทำให้ภาคธุรกิจอาจไม่ได้ประโยชน์จากตลาดซื้อขายใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังจะมีเก็บภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกใหม่ และ สินค้าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งในสหรัฐฯและอียู อาจกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกที่ใช้พลาสติกดังกล่าวของไทย

 

นอกจากนี้อียูยังประกาศมาตรการห้ามใช้ Single Use Plastics – SUPs มาตั้งแต่ปีที่แล้วส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกไทยเกี่ยวกับพลาสติก 10 รายการ ได้แก่ ภาชนะใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม ก้านสำลีเช็ดหู ช้อนส้อม ลูกโป่ง ก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก ทิชชูเปียกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย กติกาของการค้าโลกใหม่ มุ่งสู่การทำธุรกิจการค้าคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นจะเป็นโอกาสของสินค้าที่อยู่ภายใต้โมเดล BCG เป็นสินค้าแนวสร้างความยั่งยืนต่อโลก หรือ ตลาดสินค้า Sustainability นั่นเอง 

 

ผลกระทบในเบื้องต้นจากภาษีคาร์บอนข้ามแดนก็ดี CBAM ก็ดี จะทำให้สินค้าของไทยที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าอียูและสหรัฐฯ จะมีราคานำเข้าสูงขึ้น ทำให้ความสามารถแข่งขันเชิงราคาลดลง ส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการส่งออกได้ ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคในอียูหรือสหรัฐฯหันไปใช้สินค้าผลิตภายในประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงกว่ามากขึ้น หากผู้ประกอบการส่งออกไทยสามารถผลิตสินค้าโดยปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ก็จะกลายเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกจากไทย เพราะสินค้าราคาถูกจากประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าก็จะกีดกันไม่ให้เข้าตลาดเช่นกัน 

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตั้งข้อสังเกต ว่า สถานการณ์ Deglobalization ดีขึ้นหลังการระบาดโควิดคลี่คลาย ความตึงเครียดการค้าลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติตะวันตกซับซ้อนขึ้นจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้นำจีนและโลกอาหรับเปิดความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างแนบแน่น

 

รวมทั้ง ซาอุดิอารเบียและชาติอาหรับอาจสมัครเข้าเป็นสมาชิก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่มีจีนเป็นผู้นำ ทำให้ระบบโลกาภิวัตน์มีการก่อรูปของการแบ่งออกเป็นสองขั้วใหญ่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ขั้วจีนและพันธมิตร กับ ขั้วชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา การแบ่งขั้วมากเกินไปอาจทำให้โลกสูญเสียโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษยชาติก้าวหน้าขึ้น ดีขึ้น ที่เห็นรูปธรรมขณะนี้ คือ ผลกระทบและพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมชิป เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ของโลก คาดว่า จะมีการลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน ปัญหาชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 อาจดำรงอยู่ต่อไป

 

บริษัท Foxconn สัญชาติไต้หวัน บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company – TSMC บริษัท Samsung อย่าง Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนมือถือและอุปกรณ์สื่อสาร เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ ให้ APPLE มีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในจีน บริษัทเหล่านี้คาดว่าจะทยอยย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจาก จีน มายัง อาเซียนและไทย มากขึ้น 

 


"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวช่วงท้ายว่า คาดการณ์การส่งออกในปีหน้าอาจชะลอลงบ้างจากเศรษฐกิจถดถอยของคู่ค้าบางประเทศ แต่อัตราการขยายตัวของการลงทุนต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นในปีหน้า การท่องเที่ยวในปีหน้าจะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ ตลาดแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ธุรกิจการบินจะเกิดภาวะตึงตัว ไม่สามารถหา "พนักงาน" หรือ "คนทำงาน" ได้ทันกับการฟื้นตัว

 

ยกตัวอย่าง ในบางพื้นที่ที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วมากโดยเฉพาะจากต่างชาติ อย่างภูเก็ต มีการขาดแคลนแรงงานเกือบ 18,000 ตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ สองปีช่วงโควิดระบาด แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างในเมืองท่องเที่ยวและส่วนใหญ่กลับคืนถิ่น กลุ่มคนเหล่านี้จะกลับมาทำงานในแหล่งท่องเที่ยวอีกจำเป็นต้องปรับค่าจ้างค่าตอบแทนให้ดึงดูดมากกว่าเดิม หากค่าจ้างไม่ดึงดูดแรงงานที่มีทักษะอาจสมัครใจอยู่ในภูมิลำเนาต่อไป

 

อีกวิธีหนึ่งในการบรรเทาปัญหาแรงงานในกิจการท่องเที่ยว คือ การให้พนักงานทำโอทีเพิ่มเติม การนำระบบอัตโนมัติให้บริการ การนำนักศึกษาในพื้นที่เอามาฝึกอบรมและสามารถทำงานได้ รวมทั้ง การเปิดรับแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม ส่วนการเพิ่มพนักงานเอาต์ซอร์ซของธุรกิจท่องเที่ยวและการบินเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการประกอบกิจการ แต่ พนักงานหรือแรงงานเอาต์ซอร์ซก็มักไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการและความมั่นคงในงาน การจ้างงานแบบเอาต์ซอร์ซในกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินควรปรับปรุงให้มีมาตรฐานแรงงานที่ดีขึ้นในอนาคต ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นวิกฤติมักเกิดในกิจการหรือองค์กรที่ปรับลดคนมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมาเพื่อประหยัดต้นทุนและลดการขาดทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด