svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เปิดโมเดลการศึกษาเพื่อ"แก้ความยากจน"ผ่านโรงเรียนนำร่อง

11 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัมผัสมุมมอง "ดร.วณี  ปิ่นประทีป" นำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหา"ความยากจน"และลดความเหลื่อมล้ำ จากกรณีโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 4 แห่ง ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

"ดร.วณี  ปิ่นประทีป" ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข เคยช่วยทำหน้าที่เลขานุการให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(อานันท์ ปันยารชุน) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(ประเวศ วะสี) ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาอิสระที่มีงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดทั่วประเทศ 

 

วณี ปิ่นประทีป  ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข เคยช่วยทำหน้าที่เลขานุการให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

 

ท่านศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ จากกรณีโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 4 แห่ง ได้แก่ 


1) โรงเรียนมีชัยพัฒนา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์   เป็นต้นแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา มีการขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ มีลักษณะการทำงานที่สำคัญ 10 ประการ อาทิ มุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ  เน้นการสร้างคนดี ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแบ่งปัน เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม

 

เปิดโมเดลการศึกษาเพื่อ\"แก้ความยากจน\"ผ่านโรงเรียนนำร่อง

 

บรรยากาศ โรงเรียนมีชัยพัฒนา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์  

 

โรงเรียนบ้านสันดาบ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

 

2) โรงเรียนบ้านสันดาบ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร   เป็นตัวอย่างของโรงเรียนขนาดเล็กที่กล้าลุกขึ้นมาปฏิรูปโรงเรียน ปรับการเรียนการสอน จนสามารถก้าวพ้นภาวะวิกฤตได้ทั้ง 6 ด้าน ครูและนักเรียนร่วมกันเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนที่ใกล้จะถูกยุบ กลายมาเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัล บูรณาการหลักสูตร เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติจากการลงมือทำจริง 

 

3) โรงเรียนรวมมิตรวิทยา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์  เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง กำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนให้เป็น“ยุวทูตรักท้องถิ่น ทำกินด้วยสัมมาชีพ มีจิตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”  

 

เปิดโมเดลการศึกษาเพื่อ\"แก้ความยากจน\"ผ่านโรงเรียนนำร่อง

 

4) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาที่สามารถขยายเครือข่ายออกไปได้มากที่สุด รวม 56 แห่ง สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า เก็บค่าเช่ามาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน พัฒนาเป็นดิจิทัลทั้งระบบ ปรับปรุงอาคารเรียนโรงเรียนที่ถูกยุบมาเป็นหอพักให้นักเรียนที่ยากจนและใช้พื้นที่ทำแปลงเกษตร  

 

 มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 15 ประการ ดังนี้    

  
1. กระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนนวัตกรรมการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบหรือถูกควบรวมและโรงเรียนขยายโอกาส 

 

 2. กระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนให้โรงเรียน มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยปรับการเรียนการสอนให้เป็นแบบฐานสมรรถนะ(Competency Based Education) 

 

 

 

3. กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายต่อการจัดสรรงบประมาณ อาหารกลางวันของโรงเรียนของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คนละ 21 บาท (ปี พ.ศ. 2565) ซึ่งรวมทั้งประเทศประมาณ 25,500 ล้านบาท โดยปรับเป็นการสนับสนุนการใช้พื้นที่ในโรงเรียน และชุมชน เพื่อการทำการผลิตพึ่งตนเองและจัดการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ของทั้งโรงเรียนและหมู่บ้านชุมชน
 

4. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ปรับบทบาทและรูปแบบในการจัดการศึกษาในแนวทางของโรงเรียนร่วมพัฒนา ทั้งในโรงเรียนที่สังกัดท้องถิ่นและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล 
 

5. ควรเน้นการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น ให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอได้ เรียนตามภูมิสังคมของตนเองและยึดโยงกับชุมชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถต่อไป

 

6. สนับสนุนการกระจายอำนาจและระบบงบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ
 

7. เสนอให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินการให้มีการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคีทุกภาคส่วนในทุกจังหวัด เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา


เปิดโมเดลการศึกษาเพื่อ\"แก้ความยากจน\"ผ่านโรงเรียนนำร่อง

 

8. เสนอให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนให้มีเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถควบรวมได้และโรงเรียนขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา 

 

9. สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับตามแนวทาง “การใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน” โดยสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานตามแนวคิด “โรงเรียนร่วมพัฒนา” 
 

10. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจ เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนารูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา ให้สามารถขยายตัวได้อย่างกว้างขวาง โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้การประกอบอาชีพระหว่างเรียน 
 

11. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่จังหวัดแต่ละแห่ง สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา 

 

12. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนในท้องถิ่น เปิดโอกาสรับนักเรียนเข้าฝึกงาน ฝึกอาชีพเพื่อเตรียมตัวสำหรับการจบการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพแลพสามารถพึ่งตนเอง 

13. สนับสนุนให้มีการประสานความร่วมมือกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนภายในจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัด และรวมตัวกันเป็นครือข่ายประชาคมหรือสมัชชาจังหวัด เพื่อการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัด
 

14. สนับสนุนให้องค์กรชุมชนและกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน  กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนแม่ของแผ่นดิน รวมถึงกองทุนอื่น ๆ สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนและชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการประกอบอาชีพ และสามารถพึ่งตนเองพร้อมทั้งแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน

 

15. สนับสนุนให้สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (สมาคม อบจ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (สมาคม อบต.) และสภาประชาสังคมไทย ได้เข้าไปมีบทบาทในโรงเรียนในสังกัดของท้องถิ่นระดับต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของจังหวัด
 

logoline