svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"ปฏิรูปประเทศ" จบหรือไม่อยู่ที่ประชาชน รายงานประชาชน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

23 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สร้างความงุนงงสงสัยในหมู่นักปฏิรูปฯ เมื่อมีการรายงานให้ยุติการทำหน้าที่โดยอ้างว่า บัดนี้แผนปฏิรูปประเทศในช่วง 5 ปีแรก ทุกแผน ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว ไม่ต้องมีแผนปฏิรูประยะสองอีกต่อไป หรือนี่คือขบวนการต้มตุ๋นแห่งชาติ

 

ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งล่าสุด (22 สิงหาคม 2565) ได้มีมติรับทราบรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ว่า บัดนี้แผนปฏิรูปประเทศในช่วง 5 ปีแรก ทุกแผน ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว ทั้งให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติใช้แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 13 เป็นกรอบแทน โดยไม่ต้องมีแผนปฏิรูประยะที่สอง 

 

"ปฏิรูปประเทศ" จบหรือไม่อยู่ที่ประชาชน  รายงานประชาชน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ด้วยเหตุนี้ ทำเอาบรรดาสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่มาด้วยรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล ให้ทำหน้าที่ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด (ต-ส-ร)การปฏิรูปโดยตรง  อีกทั้งทุ่มเททำงานด้วยความแข็งขันในระดับมากถึงมากที่สุด  ทั้งที่โดนกระบวนการขอปรับเปลี่ยนเป้าหมายของแผนอยู่หลายรอบจนจับเป้าไม่ติด จู่ๆมาบอกว่าหมดเวลา ไม่มีแผนต่อเนื่องอีกแล้ว 


นี่อะไรกันแน่ ระหว่างกระบวนการต้มตุ๋นแห่งชาติครั้งประวัติศาสตร์ในยุค คสช. หรือ การแก้คืนการปฏิรูปของพรรคข้าราชการไทย

 

ในเวทีการสัมมนาวิชาการของวุฒิสภาที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ระหว่าง 13-15 กันยายน 2565 "ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป" และ ส.ว.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการบวนการระดมความคิดเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหาคำตอบว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  งาน ต-ส-ร จะไปต่ออย่างไร?

 

เริ่มจากโจทย์ข้อแรก "ประเมินผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของแผนปฏิรูปจนถึงปัจจุบัน" ส.ว. 40 ท่านที่อยู่ในเวทีระดมความคิด ช่วยกันให้คะแนนประเมินภาพรวมความก้าวหน้าของแผนปฏิรูปเป็นรายแผน โดยมีคะแนนจาก 1 (น้อยที่สุด) ถึง 10 (มากที่สุด)  ผลการจัดลำดับคะแนนเป็นดังนี้

 

"ปฏิรูปประเทศ" จบหรือไม่อยู่ที่ประชาชน  รายงานประชาชน โดย พลเดช ปิ่นประทีป
 

แผนปฏิรูปประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

 

1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านสาธารณสุข 3.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ส่วนกลุ่มถัดไปได้แก่ 4.ด้านการศึกษา 5.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 6.ด้านกระบวนการยุติธรรม 7.ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ 8.ด้านสื่อสารมวลชนและICT  9.ด้านกฎหมาย 10.ด้าน ป.ป.ช. 11.สังคม 12.ด้านพลังงาน และ 13.ด้านการเมือง อยู่รั้งท้าย


โจทย์ข้อที่สอง เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองกันในประเด็น "บทเรียนรู้ ต-ส-ร และเงื่อนไขการทำงานต่อไปเป็นอย่างไร"มีประเด็นสำคัญที่พอสรุปได้ ดังนี้


- ประเมินว่า ส.ว.ชุดนี้เข้าใจบทบาทที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอย่างดี  ตีบทแตก มีความเป็นเอกภาพ  ทำงานหนัก ทั้งยังได้พัฒนาระบบและจัดทำคู่มือการ ต-ส-ร ที่มีความสมบูรณ์พร้อม สามารถส่งมอบภารกิจให้กับวุฒิสภาชุดต่อไป 

 

- ประเมินว่า แผนปฏิรูปประเทศทุกแผนจัดทำมาได้ดี แต่ผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปในภาพรวมมีความ "เบาบาง"เนื่องจากการขับเคลื่อนแผนของฝ่ายบริหารและหน่วยปฏิบัติอยู่ในสภาพ "ไม่เต็มร้อย"

 

- เห็นว่า การปฏิรูปมิใช่งานที่ทำแล้วเสร็จตามกิจกรรมโครงการระยะสั้น แต่เป็น "กระบวนการทำงานแบบต่อเนื่องที่ไม่รู้จบ" แม้บางเรื่องบางด้านจะทำได้ดีแล้วก็ยังต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก


- เห็นว่า การปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จมักมิได้เกิดจาก "คนใน"ของหน่วยงาน เพราะคนในส่วนกระแสหลักมักอยู่ใน comfort zone ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตนสูญเสียสถานะเดิม  การเปลี่ยนแปลง จึงมักเกิดจากแรงภายนอกหรือส่วนที่อยู่ชายขอบ (marginal) มากกว่า ดังกรณีศึกษาการปฏิรูประบบสาธารณสุขในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา


- พบว่า ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดที่ทำการ "รื้อปรับระบบ" กลไกรัฐและโครงสร้างองค์กรของตนอย่างจริงจังตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิรูปเลย  อีกทั้งการจัดทำกฎหมายปฏิรูปทั้งหลายก็ไม่เข้าเป้า


- ประเมินว่า เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดแผนปฏิรูปประเทศ "เป็นภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งต่องาน ต-ส-ร" เพราะอาจจะไม่มีแผนปฏิรูปมารองรับการดำเนินงานอีกต่อไป


- ตระหนักดีว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในรัฐสภาและรัฐบาลกำลังจะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า อีกทั้งวุฒิสภาชุดนี้เหลือเวลาทำงานเพียง 20 เดือนเท่านั้น

 

"ปฏิรูปประเทศ" จบหรือไม่อยู่ที่ประชาชน  รายงานประชาชน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

โจทย์ข้อสุดท้าย  "จะทำงาน ต-ส-ร อย่างไร ในช่วงเวลาที่เหลือ"  วงสัมมนาได้ถกแถลงแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรสออกชาด สรุปประเด็นทำงานได้ 3 แนวทางหลัก ดังนี้


1. มุ่งเป้าผลสัมฤทธิ์ (FOCUSING)  -  ให้คณะกรรมาธิการสามัญฯผู้รับผิดชอบแผนปฏิรูป นำเสนอประเด็นที่เป็นจุดโฟกัสของตน  โดยประกาศ  "1 แผน  1 จุดโฟกัส  หลากรูปแบบ  หลายพื้นที่รูปธรรม"  ทั้งนี้เพื่อให้ทุกกลไกของวุฒิสภาที่มีกิจกรรมลงพื้นที่และตรวจเยี่ยมหน่วยงาน สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามค้นหาตัวอย่างผลงานรูปธรรมการปฏิรูปที่เด่นชัด  นำไปสู่การยกย่อง ชื่นชม หรือให้รางวัลแก่หน่วยงาน องค์กร ตามความเหมาะสม การทำเช่นนี้จะเป็นเสมือนการสร้าง "ปฏิมากรรมการปฏิรูป" ภายใต้การ ต-ส-ร อย่างสร้างสรรค์ของวุฒิสภา ให้สังคมจับต้องได้  


2.  สื่อสารด้วยปฏิบัติการ (ACTION/COMMUNICATION)  -  การลงพื้นที่ เพื่อค้นหาตัวอย่างผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ทั้งระดับหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และชุมชนท้องถิ่น ในแต่ละครั้งควรออกแบบกระบวนการสังเคราะห์องค์ความรู้และกระทำการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อให้งาน ต-ส-ร การปฏิรูปกลายเป็นประเด็นที่สาธารณะชนให้ความสนใจ กระแสสังคมจะช่วยตัดสินอนาคตการปฏิรูป


3. แสดงจุดยืนชัดแจ้ง (POSITIONING)  -  วุฒิสภาควรแสดงจุดยืน "ไม่เห็นด้วย" ต่อการยุติระบบแผนปฏิรูปประเทศ  นำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และสาธารณชนอย่างหนักแน่น ตรงไปตรงมา รวมทั้งเสนอให้มีแผนปฏิรูประยะที่สอง โดยมุ่งโฟกัสเฉพาะประเด็นปฏิรูปสำคัญ และมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบในหน่วยงานเป้าหมาย

logoline