svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ส่องปฏิรูปการศึกษาสำรวจโรงเรียนทางเลือก "แม่พิมพ์โรงเรียนร่วมพัฒนา”

08 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ปัจจุบันมีเครือข่าย 151 โรงเรียน ใน 43 จังหวัด และกำลังขยายตัวออกไปอย่างเงียบๆ ที่ฐานล่าง เมื่อเครือข่ายสภาประชาสังคมไทยประกาศเข้าร่วมขบวนปฏิรูปการศึกษาจากฐานล่าง ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

"โรงเรียนมีชัยพัฒนา" หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในชื่อ Bamboo School ตั้งอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโรงเรียนทางเลือกในเครือของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดี มีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ สามารถคิดนอกกรอบและค้นคว้าหาคำตอบ พร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการการเกษตรและธุรกิจเพื่อสังคมและเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนในอนาคต

 

ส่องปฏิรูปการศึกษาสำรวจโรงเรียนทางเลือก "แม่พิมพ์โรงเรียนร่วมพัฒนา”

 

ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ปัจจุบันมีเครือข่าย 151 โรงเรียน ใน 43 จังหวัด และกำลังขยายตัวออกไปอย่างเงียบๆ ที่ฐานล่าง เมื่อเครือข่ายสภาประชาสังคมไทยประกาศเข้าร่วมขบวนปฏิรูปการศึกษาจากฐานล่าง ล่าสุดมีแผนช่วยขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง ใน 13 จังหวัด

 

1.เป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล

 

โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นตัวอย่างของโรงเรียนเอกชน ที่จัดการศึกษาในลักษณะการกุศลอย่างเต็มรูปแบบ คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยตัวท่านเอง  เมื่อพบว่าให้ทุนการศึกษาที่ให้ไปเป็นเพียงวงจรที่ส่งเด็กกลับไปเข้าไปในระบบเดิม จึงเริ่มคิดว่าต้องหาระบบใหม่ที่เป็นของตนเอง 

 

ขอบคุณภาพจากเพจ โรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ

 

โรงเรียนตั้งขึ้นในปี 2552 ได้สร้างนวัตกรรมระบบการศึกษาที่เน้นทักษะชีวิตไปพร้อมกับทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาสามารถบริหารจัดการการใช้ชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายให้ครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น โดยมิได้ละทิ้งเนื้อหาหลักสูตรแกนกลาง ผลสัมฤทธิ์การศึกษากลับดีขึ้นอย่างโดดเด่น

 

ส่วนในด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของโรงเรียน ปีละ 18 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่มูลนิธิต้องแบกรับ คุณมีชัยได้พิสูจน์แล้วว่า ทั้งหมดนี้อยู่ในวิสัยของภาคธุรกิจเพื่อสังคมของคนไทย สามารถช่วยกันแบ่งเบาภาครัฐและทำงานการกุศลแบบหวังผลเชิงคุณภาพเช่นนี้ได้  


2.รัฐบาลมอบหมายให้บุกเบิก

 

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คุณมีชัยช่วยบุกเบิกโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ในลักษณะให้ภาคเอกชนและประชาสังคมเข้ามาร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการโรงเรียน แบบทดลองไปปรับปรุงพัฒนากันไป 

 

ด้วยภาวะผู้นำ ศักยภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนเครือข่ายองค์กรและชุมชนเข้มแข็งของคุณมีชัย ท่านได้ใช้โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นห้องแล็บสำคัญ ในการคิดค้นและทดลองนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบใหม่ จนสามารถตอบโจทย์การสร้างพลเมืองรุ่นเยาว์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจิตสำนึกทางสังคม รวมทั้งสามารถตอบโจทย์โรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบและควบรวมอีกด้วย 

ที่นี่จึงเป็นทั้งเบ้าหลอม แม่พิมพ์ และฐานที่มั่นคง ในการขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ

 

ขอบคุณภาพ จากเพจโรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ

 

3.เรียนประจำเต็มร้อย

 

กลุ่มประชากรเป้าหมายที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากครอบครัวยากจน ผู้ยากลำบาก คนชายขอบ ชายแดน 

 

นักเรียนไม่ได้จ่ายค่าเทอมด้วยเงิน แต่จ่ายด้วยการทำความดี 400 ชั่วโมงและปลูกต้นไม้ 400 ต้น ในแต่ละปีการศึกษา รวมทั้งเป็นนักเรียนประจำที่มีระบบการกินการอยู่ การเรียนและการทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นหมู่คณะ

 

นอกจากเรียนหนังสือในห้องเรียนแล้ว เขาเน้นการทำกิจกรรมร่วมกันและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้นักเรียนได้ทำการเกษตรร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกัน ทำความสะอาดที่พัก ห้องเรียน และสถานที่ส่วนรวมร่วมกัน รวมไปถึงการออกไปในชุมชนเพื่อเรียนรู้นอกห้องเรียนและช่วยเหลือผู้อื่น

 

การส่งเสริมภาวะผู้นำ เป็นอีกภารกิจหลักของโรงเรียน นักเรียนได้รับการบ่มสอนให้รู้จักดูแลตนเองและปกครองโรงเรียนด้วยกันเองได้ นักเรียนเป็นผู้ที่สัมภาษณ์และคัดเลือกคุณครู รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโรงเรียน คณะมนตรีโรงเรียน คณะกรรมการตรวจสอบป้องกันคอรัปชั่น และคณะกรรมการจัดซื้อต่าง ๆ

 

ขอบคุณภาพจากเพจโรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ

 

4.โรงเรียนรัฐก็ทำได้  

 

โรงเรียนร่วมพัฒนามุ่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน-โรงเรียน-ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม โดยการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนที่มีอยู่ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ทำโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน 

 

ในสถานการณ์ที่อัตราการเกิดของเด็กลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กกำลังจะว่างงาน ทั้งที่โรงเรียนรัฐทุกแห่งล้วนมีทรัพยากรพื้นฐานอยู่แล้วอย่างเพียงพอ ทั้งที่ดิน อาคาร และคน 

 

ดังนั้น ถ้า รมว.ศธ.ประกาศแผนงานรูปธรรม มุ่งเปลี่ยนบทบาทโรงเรียนขนาดเล็กสัก 1,500 แห่ง ให้เป็นอย่างโรงเรียนร่วมพัฒนา บทบาทผู้นำปฏิรูปการศึกษาจะปรากฏโดยฉับพลัน.

logoline