svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ชำแหละเบื้องลึก รอก่อนนะศึกซักฟอก เปิดโอกาสต่อลมหายใจรัฐบาล"นายกฯลุงตู่"

11 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่ได้เกี้ยเซียะรัฐบาล ไม่ได้เลื่อนญัตติซักฟอก แม้ "ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงอย่างไร แต่บทสรุปเหมือนเดิม คือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่เกิดขึ้นทันทีที่เปิดประชุมสภา 23 พ.ค.นี้ มูลเหตุสำคัญคืออะไร ติดตามเจาะประเด็น โดยอสนีบาต

 

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองลุ้นระทึก ทันทีที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ค. 65 หรืออีกประมาณหนึ่งเดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีวาระร้อนๆจ่อเข้าสภาท้าทายการทำงาน "รัฐบาลลุงตู่" จะไปต่อถึงไหน  จะเกิดอุบัติเหตุล้มคว่ำคะมำหงายให้เป็นเหตุ"ยุบสภา"ก่อนหรือหลังการประชุมเอเปก 2022  ตามที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ 

 

เหตุลุ้นระทึกกลางสภา ถูกจุดประเด็นก่อนหน้านี้ ผ่านถ้อยแถลงของ "ยุทธพงษ์  จรัสเสถียร"  รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ด้วยการบอกว่า "นายกฯอย่าเพิ่งยุบสภาหนีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ" 

 

ชัดยิ่งกว่าชัด เมื่อ"ยุทธพงศ์"แถลงข่าวรายสัปดาห์ว่าทันทีที่เปิดสภาวันที่ 23 พ.ค.65 พรรคเพื่อไทย พร้อมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 

 

ยุทธพงษ์  จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

"การประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตัวแทนพรรค ไปประชุมร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเปิดประชุมสมัยหน้า โดยวันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 08.30 น. พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะยื่นญัตติทันที พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไม่ต้องยุบสภาหนี"  ยุทธพงศ์ กล่าวไว้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 65 

 

ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เมื่อประธานสภาฯรับเรื่องเพื่อบรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั่นหมายความว่า  นายกฯ จะ"ยุบสภา" ไม่ได้ ต้องรอให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นกระบวนความทำการลงมติให้เรียบร้อยเสียก่อน ถึงค่อยตัดสินใจจะไปต่อหรือพอแค่นี้กับอนาคตทางการเมือง 

 

ทว่า การตีฆ้องร้องป่าว สร้างพื้นที่ข่าวให้ฝ่ายค้านทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ต้องปรับบทเล่นกันใหม่ ด้วยการออกมาชี้แจงของ นพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงสองครั้งสองครา 

 

น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

ครั้งแรก 7 เม.ย.65  นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า  ไทมไลน์การทำงานของฝ่ายค้านหลังเปิดประชุมสภา มีวาระการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ฉะนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล"ลุงตู่" ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 

 

"ยังไม่ได้กำหนดว่าวันที่ 23 พฤษภาคม จะเป็นวันยื่นญัตติ จริงๆ ใจเราเดิมต้องการยื่นก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566  เพื่อจะดูเรื่องเสียงในสภาและเมื่อกำหนดไทม์ไลน์พิจารณางบประมาณเช่นนี้มาแล้ว เราก็ไม่สามารถอภิปรายก่อนพิจารณางบแน่นอน ยกเว้นงบประมาณผ่านไปแล้วและกลับมาในวาระ 2-3 ประมาณปลายเดือนสิงหาคม"  นพ.ชลน่าน กล่าว เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65  

 

คล้อยหลังไม่นาน  "นพ.ชลน่าน" เปิดชี้แจงอีกว่า เหตุที่กำหนดไทม์ไลน์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไว้เดือนส.ค.ไม่ได้เป็นการเกี้ยะเซียะกับรัฐบาล 

 

"เพื่อไทยไม่เคยพูดว่าเราจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เรายึดมั่นในเจตนารมณ์ว่าจะจับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันเท่านั้น" นพ.ชลน่าน กล่าวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 65  

 

ขณะที่ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา"  นายกฯและรมว.กลาโหม  ออกมาปฏิเสธและยืนยันกลับไปว่า พร้อมที่จะชี้แจงได้ทุกวันอยู่แล้วหากถูกตรวจสอบ 

 

หากทำความเข้าใจกันในรายละเอียด เหตุใดไทมไลน์การตรวจสอบของฝ่ายค้านจึงเอาปากกามาวงปฏิทินไว้เดือนส.ค.!!!

 

เหตุเพราะ เมื่อมีการเปิดสภา ประเด็นสำคัญที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเฝ้ารอคอย นั่นคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ ร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

 

ต่างฝ่ายต่างรอลุ้น กติการองรับการเลือกตั้งรอบใหม่จะสมประโยชน์ให้กับผู้ลงสนามการเลือกตั้งได้มากน้อยขนาดไหน  และที่สำคัญจะสามารถโหวตผ่านวาระสามได้หรือไม่  ซึ่งตามวงรอบการทำงานพิจารณาร่างกม.ประกอบรธน. กำหนดไว้ 180 วันหรือ 6 เดือน ซึ่งจะเข้าสู่วาระสามในราวเดือนกรกฎาคมอีกนั่นเอง 

 

นี่คือ ประเด็นที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องการปิดจ็อบให้สำเร็จภายในเดือนกรกฎาคมก่อนถึงสิงหาคม   

 

ตรองคิดดูหากมีวาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามาคั่นรายการ ระหว่างการทำการใหญ่ของทั้งสองฝ่าย  ดันเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น จะด้วยเกมการเมืองของฝ่ายค้าน หรือมาจากกลุ่มตีจากพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของผู้กองคนดัง "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า"  เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ในการผ่านร่างกฎหมายทางการเงินจนเป็นเหตุให้นายกฯต้องตัดสินใจยุบสภา  เมื่อถึงตรงนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด จะต้องใช้กติกาแบบไหนมาแทนร่างพรป.ทั้งสองฉบับ  ซึ่งหวั่นเกิดเด้ดล็อคทางการเมืองขึ้นได้ 

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย

 

ประการถัดไป เป็นไปตามที่ "นพ.ชลน่าน" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองตรงกับฝ่ายรัฐบาล นั่นคือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  ซึ่งจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาในช่วงเดือนมิ.ย.  นี่คือ กฎหมายทางการเงินฉบับสำคัญถึงสำคัญที่สุด ที่ผู้ทำหน้าที่ในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต้องร่วมพิจารณาตรวจสอบ เช่นเดียวกันหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจากการไม่ผ่านร่างกม.งบประมาณ  โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านกำลังจับจ้องเกมตีรวนของ"ผู้กองคนดัง" จะกลับมาเขย่าเก้าอี้  "นายกฯลุงตู่" ได้มากน้อยขนาดไหน  เพราะอย่าลืมว่า การทำให้ร่างกม.งบประมาณสะดุด ไม่เพียงแต่ทำให้ นายกฯหลุดเก้าอี้ แต่ยังส่งผลกระทบให้ปฏิทินการใช้จ่ายงบประมาณมีอันต้องสะดุดหยุดลง ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่เตรียมจัดทำงบประมาณรายจ่าย

 

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หรือกลุ่มกบฎพร้อมจริงหรือที่จะใช้เงื่อนไขร่างกม.งบประมาณ คว่ำรัฐบาล"นายกฯลุงตู่" เพราะมีผลเสียต่อทุกฝ่ายอย่างใหญ่หลวง   

 

ทำนองกลับกัน  รัฐบาลเป็นเจ้าของเรื่อง ต้องรับผิดชอบผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณให้เป็นไปตามปฏทินงบประมาณ แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านก็รออานิสงค์จากการผ่าน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณเช่นเดียวกัน จากการทำหน้าที่ตรวจสอบในสภาเพื่อนำไปหาเสียงทางอ้อมเป็นผลงานการตรวจสอบ 

 

นั่นคือ มูลเหตุที่เพื่อไทย ประเมินแล้ว การกำหนดปฏิทินยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือนส.ค. ก็เพื่อให้ผ่านสองวาระสำคัญ ซึ่งยังไม่นับรวมกรณีส้มหล่นเกี่ยวกับวาระการทำงานของนายกฯครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. ที่จะเป็นเหตุให้นำมาอภิปรายซักฟอกได้อีกด้วย  

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

อย่างไรก็ตามแต่  อีกเหตุผลที่พรรคเพื่อไทย ไม่แจกแจงอย่างตรงไปตรงมา หรือคงไม่จำเป็นต้องชี้แจงอยู่แล้ว นั่นคือ ความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน การตระเตรียมข้อมูลการตรวจสอบรัฐบาลบริหารงานบกพร่องก็ยังไม่มีภาพชัดเจนหรือโดดเด่นที่จะนำไปสู่การอภิปรายชนิดทำให้ "นายกฯลุงตู่" น็อคกลางสภา 

 

ด้วยข้อจำกัดของการผลักดันร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรป.พรรคการเมือง รวมถึงการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อนำไปหาเสียง และความไม่พร้อมของพรรคฝ่ายค้านในการจัดระเบียบข้อมูลซักฟอกรัฐบาล 

 

จึงเป็นโอกาสต่อลมหายใจรัฐบาล"นายกฯลุงตู่" ในช่วงบริหารงานทุลักทุเลแบบนี้ไปได้  สามารถประคับประคองรัฐบาลไอซียูไปถึงหลังการประชุมเอเปค หรือ เดือนพ.ย. เป็นแน่แท้  

 

 

 

 

 

logoline