svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"รัสเซีย-ยูเครน"สู้รบไกลแต่กระสุนตกมาถึงเกษตรเมื่ออาหารสัตว์ราคาพุ่ง

10 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยิงกันอยู่ยูเครน กระสุนตกถึงเมืองไทย ผลจากสงครามรัสเซียยูเครน ภาคการผลิตเจอเข้าไปเต็มๆทั้งปุ๋ยและอาหารสัตว์ เจาะประเด็นร้อนโดย "ขุนเกษตร"

 

โยนหินถามทางมาเป็นระยะๆของกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงพรวดพราดในปีนี้ ยิ่งเจอภาวะสงครามรัสเซียยูเครนเข้าไป จากทรุดอยู่แล้วเล่นเอาโงหัวแทบไม่ขึ้น เจอพาณิชย์ที่เป็นทองไม่รู้ร้อนรู้หนาวเข้าไปอีก กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ถึงกับโอดครวญในการบริหารงาน เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดถาโถมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆกัน

 

"รัสเซีย-ยูเครน"สู้รบไกลแต่กระสุนตกมาถึงเกษตรเมื่ออาหารสัตว์ราคาพุ่ง

 

เมื่อวานนี้ "ขุนเกษตร" ติดตามผลการประชุมหารือถึงผลกระทบและแนวทางแก้ไขเพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ ระหว่างกรมปศุสัตว์กับภาคเอกชน มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง เพราะนี่คือการรวมตัวของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์

 

ภาครัฐมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์นำทีม

"รัสเซีย-ยูเครน"สู้รบไกลแต่กระสุนตกมาถึงเกษตรเมื่ออาหารสัตว์ราคาพุ่ง

 

สาระสำคัญของการประชุมอยู่ตรงนี้


สถานการณ์การค้าและผลกระทบต่อวัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แจ้งว่า โรงงานอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนจากราคา วัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30%

 

เมื่อสำรวจตรวจสอบข้อมูลการผลิตอาหารสัตว์ 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่

 
1. สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

 

2. นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น มาตรการควบคุมการ นำเข้าข้าวสาลีโดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้า กากถั่วเหลือง 2% 


ส่วนประเด็นที่สอดรับขับให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทยานฟ้าได้แก่

 

1.สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(Climate change) ประเทศสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกประสบภาวะภัยแล้งส่งผลให้ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง 

 

2. ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งส่งออก วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออก วัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักไป เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น 

 

"ขุนเกษตร" ได้สัมภาษณ์ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ในเรื่องนี้ว่ามีการเตรียมรับมืออย่างไร ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า " แนวทางที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตภาคปศุสัตว์ ต้องมีมาตรการในการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน ซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในที่ประชุมมีข้อสรุปถึงแนวทางมีในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"

 

เมื่อถามถึงแนวทางเร่งด่วน เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและต้องทำทันทีคือ  

 

1. ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเข้า ข้าวสาลีได้โดยเสรีจากหลายแหล่งทั่วโลก ส่งผลให้ราคาการซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาดโลก 

 

2. ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตเนื่องจาก กากถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้เป็นวัตถุดิบสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ 

 

3. เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565 เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบทำให้สามารถนำมาใช้ได้ อย่างเพียงพอตลอดปี และลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์ 

 

เมื่อ "ขุนเกษตร" ถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ต้องวางแผนระยะยาวหลักๆอยู่สามประการ คือ 


1. การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกภายหลัง การเก็บเกี่ยวข้าว (ข้าวโพดหลังนา) 


2. พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ ข้าวโพดให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น 


3. การส่งเสริมการปลูกและใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดพร้อม (Green Deal) 

 

ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวที่ประชุมครั้งนี้เห็นพ้องเพื่อให้กรมปศุสัตว์นำเรื่องเสนอไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในนั้นที่ "ขุนเกษตร" ส่องกล้องมองไปคือ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้พาณิชย์ต้องนำพิจารณาอย่างจริงจังจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเห็นทีจะยาก ที่สำคัญ "ขุนเกษตร" รับทราบมาว่าทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ จะนำเรื่องนี้ เสนอนายกรัฐมนตรี

 

นี่แค่เรื่องอาหารสัตว์  ถ้าจับเรื่อง "ปุ๋ยแพง" มาผสมโรงเข้าไปด้วย "ขุนเกษตร" ฟันธงล่วงหน้าพาณิชย์ ที่ท่องจำเตรียมขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคา ไม่มีทางเอาอยู่ ยิ่งพาณิชย์จังหวัดลองสำรวจตรวจสอบเรื่องปุ๋ยในต่างจังหวัดดูราคาตอนนี้ยูเรียเด้งไปกระสอบละ 1,400-1,500 บาท เกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร ผู้ประกอบการปุ๋ยจะอยู่ได้อย่างไร

 

วันนี้เอาแค่เรื่องอาหารสัตว์ พรุ่งนี้ "ขุนเกษตร" จะชำแหละปุ๋ยแพงให้ดู ที่ผ่านมารัฐแก้ปัฐหาอย่างไร

logoline