svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ดราม่าการเมือง สู่สงครามคีย์บอร์ด พลวัตรใหม่สังคมไทย

31 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากที่เมื่อวานนี้ นักร้องดัง “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” ส่งตัวแทน ฟ้องร้องเอาผิดเกรียนคีย์บอร์ด หลังเจอถล่มด้วยถ้อยคำรุนแรงตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงเพราะเธอโพสต์แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่เรื่องบานปลายเพราะเธอได้โต้ตอบผู้ที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้มีคนเข้ามาด่าทอ และป่วนไม่เลิก

          ไม่ใช่แค่เจนนิเฟอร์ คิ้ม เมื่อวานยังมีผู้เสียหาย อีก 3 คน ที่เดินทางไปแจ้งความ เพราะเจอถล่มในลักษณะเดียวกัน  1 ในนั้น คือ ร.ต.ท.หญิง เรวดี ศรีท้าว อดีตนักกรีฑาทีมชาติไทย เคยโพสต์เฟซบุ๊ก เตือนสตินักกีฬารุ่นน้องทีมชาติ ว่าก่อนพูด จะเขียนอะไรควรใช้สติไตร่ตรองว่า ควรหรือไม่ หลังจากนั้นก็โดนชาวเน็ตถล่มยับเช่นกัน เพราะเธอก็เคยไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. และมีจุดยืนโน้มไปทางฝั่งเดียวกับรัฐบาล 

 

          ทั้งนี้ เจนนิเฟอร์ คิ้ม และผู้เสียหายอีก 3 คนฟ้องเอาผิดเกรียนคีย์บอร์ดหลายสิบคน ด้วยข้อหาต่างๆดังนี้

  1. ดูหมิ่นผู้อื่น
  2. หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 
  3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 

 

          ทั้งนักร้องดัง และอดีตนักกรีฑา ยืนยันไม่เอาผิดเยาวชน เพราะเข้าใจว่ายังขาดวุฒิภาวะ

 

          จริงอยู่ ทุกคนมีสิทธิคิด มีสิทธิแสดงความคิดเห็นในจุดยืนของตัวเอง เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตย ดังที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560  หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตาม มาตรา 34 ระบุไว้ว่า

 

          “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา

 

          การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่การแสดงความคิดเห็นนั้น กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น 

 

          การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

 

          แต่จุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์ และเกิดการด่าทอกันรุนแรงมากขึ้น หลายคนโดยเฉพาะคนดัง ตกเป็นเป้าโจมตีในโซเชียลมีเดีย น่าห่วงว่า จะกลายเป็นปัญหาสังคมรูปแบบใหม่ และจะมีการฟ้องร้องมากกว่านี้หรือไม่ 

 

          ต้องยอมรับว่า สงครามทางความคิดในโลกออนไลน์ นับวันยิ่งมีรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

          ย้อนกลับไป ที่ผ่านมา มีกระแสออนไลน์โยงกับเรื่องการเมืองค่อนข้างบ่อย

 

ย้อนTimeline กระแสออนไลน์โยงการเมือง (ก.ค.-ส.ค.64)

  1. ดารา Call out 
  2. การเอาผิด Fake news 
  3. พูดหยุดโกง
  4. ดาราแสดงความจงรักภักดี 
  5. #เจนนิเฟอร์คิ้ม 

 

(1) ดารา Call out 

          เริ่มจาก ดารา Call out คนดัง คนมีชื่อเสียง ออกมา Call out วิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์การทำหน้าที่ รัฐบาลที่บริหารจัดการโควิด 19 ล้มเหลว โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน  และเรียกร้องให้ปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพกว่านี้

 

          ถึงขั้นที่ นายกรัฐมนตรี ส่งทนายไปแจ้งความ เอาผิดดาราบางคน เช่น แรปเปอร์สาว มิลลิ ข้อหาหมิ่นประมาท ไม่แน่ใจว่านี่เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู หรือไม่

 

          ขณะที่ นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือ ถึงตำรวจนครบาล ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ดารา ประมาณ 20 คน 

 

          นายสนธิญา แจงว่า “ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย บิดเบือน เพราะจะมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ” 

 

          แต่ก็เกิดกระแสตีกลับทันที ดาราบางคนจะฟ้องกลับฐานหมิ่นประมาท และบ้างก็โต้แย้งว่า ดาราก็คนไทย มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นเหมือนกัน 

 

(2) การเอาผิด Fake news 

          หลังจากนั้น ที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ได้ออกมาเตือนบรรดาดารา ศิลปินที่ออกมา call out  ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยแถลงเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่า 

 

          "ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟกนิวส์ (ข่าวปลอม) ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย"

 

          แต่หลังจากนั้น 2 วัน ออกมาแถลงกลับลำว่า

 

          "เท่าที่ได้ดูการคอลเอาต์ ออกมาเรียกร้องต่าง ๆ ของดารายังไม่เข้าข่ายความผิด เป็นการเรียกร้องถึงปัญหาความไม่พอใจต่าง ๆ ที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของโควิด เราก็เข้าใจ"

 

          เล่นเอาประชาชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยมองว่ารัฐบาลต้องการเอากฎหมายมาใช้เพื่อปิดปากประชาชน ที่ตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่รัฐบาล เข้าข่ายจำกัดสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ 

 

          แม้มีบางส่วนสนับสนุนการเอาผิดทางกฎหมาย เพราะระยะนี้มีเฟกนิวส์ออกมาสร้างความแตกตื่นให้ประชาชนมากมาย  แต่หลักเกณฑ์ประเมินว่าข่าวแบบไหนคือ เฟกนิวส์ ก็ยังไม่ชัดเจน

 

(3) พูดหยุดโกง

          พูดหยุดโกงกลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อดาราแห่โพสต์ภาพ พร้อม #พูดหยุดโกง ในสื่อต่างๆ หลังมีการเสนองบทำโครงการจาก ปปช. งบประมาณ 7 ล้านบาท จ้างให้ดาราโพสต์ รณรงค์ให้ทุกคนกล้าออกมาพูดความจริง เพื่อหยุดการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย แต่ก็มีกระแสตีกลับเพราะต้องการให้เหล่าดาราขยายประเด็นทุจริตให้ใหญ่ในระดับชาติขึ้น

 

          ฝั่งเชียร์รัฐบาล เรียกร้องให้พูดถึงกรณีรุกป่าของ แม่ของนายธนาธร ประธานคณะก้าวหน้าบ้างหรือให้พูดถึงคดีโกงจำนำข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศในขณะนี้  บางส่วนก็แขวะว่า แค่ดาราเสียภาษีให้ครบถ้วน ไม่หลบเลี่ยงภาษี และไม่รีวิวขายสินค้าโฆษณาเกินจริงอันเป็นการหลอกลวงชาวบ้านดีกว่ามั้ย

 

          ส่วนฝั่งต่อต้านรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับแคมเปญดังกล่าว มองว่าเป็นการเปลืองงบประมาณ ควรนำเงินจำนวนนี้ไปจัดหาวัคซีน mRNA มาฉีดให้ประชาชนดีกว่าหรือไม่ ถามกลุ่มศิลปินดารา กล้าพูดถึงความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ และวิจารณ์แคมเปญของ ป.ป.ช. องค์กรเดียวกับที่ตัดสินว่า พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาเพื่อนไม่ผิด

 

          ซึ่งมีข้อมูลว่า ปี 64 ปปช.ใช้งบประมาณทำโครงการไปทั้งสิ้น 70 กว่าล้านบาท

 

(4) ดารา แสดงความจงรักภักดี 

          ดาราแห่โพสต์ภาพ และข้อความในโซเชียลมีเดีย แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน  หลังจากที่ ไฮโซลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย แต่งกายใส่สูท คล้องกล้องถ่ายรูปที่คอ ออกมาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา  หลังพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บที่ตาจนดีขึ้น หลายคนมองว่า ไฮโซลูกนัทมีเจตนาแต่งกายเลียนแบบในหลวง ร.9  เป็นการหมิ่นเบื้องสูง หลังจากนั้นดาราหลายคน ออกมาโพสต์แสดงความจงรักภักดีทันควัน 

 

          แต่หลังจากนั้นก็เกิดดราม่า ทัวร์ลงในโซเชียลของดาราเหล่านั้นทันที กลุ่มที่เห็นต่างแห่เข้าไปคอมเมนท์ใช้คำพูดด่าทอดาราเหล่านั้น เรียกดาราเหล่านั้นว่าเป็น “ดาราสลิ่ม” ตามมาด้วยเรียกร้องให้แบน และเลิกติดตามผลงาน

 

          ดาราหลายคนใช้วิธีสงบนิ่ง ไม่ตอบโต้ใดๆ แต่มีบางคน ตอบกลับด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อน คนที่เป็นกระแสและถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” เรียกได้ว่า ด่ามาด่ากลับไม่โกง ทำให้ #เจนนิเฟอร์คิ้ม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

 

          นี่คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ เจ้าตัวต้องส่งตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีที่ บก.ปอท.เมื่อวานนี้

 

(5) #เจนนิเฟอร์คิ้ม

          การตอบโต้ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์   ความจงรักภักดีต่อสถาบันของเจนนิเฟอร์ คิ้ม นำมาสู่ดราม่าถาโถมใส่เจ้าตัว และแฮชแท็ก #เจนนิเฟอร์คิ้ม กลายเป็นแฮชแท็กมาแรงในโลกทวิตเตอร์ ในช่วงจังหวะเดียวกับข่าวคดีอดีตผู้กำกับโจ้  ที่มี #ผู้กำกับโจ้ ติดอันดับด้วยเช่นกัน

 

          สาเหตุที่เป็นประเด็นร้อน เพราะนักร้องดังได้ด่ากลับผู้ที่เข้ามาด่าทอ วิจารณ์เธอในอิสตาแกรมด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างหยาบคาย จนทำให้หลายคนเลิกติดตามผลงาน และตาม Instagram ด้วยสาเหตุต่างๆ บ้างก็บอกว่าหมดศรัทธา บ้างก็บอกว่าไม่ชอบในความหยาบคายของนักร้องดัง 

 

          แต่ถึงแม้ยอด follower ลดฮวบ เหลือ 3 แสนกว่าคน แต่นักร้องดังก็ไม่เเคร์ ยังโพสในสตอรีอินสตาแกรมว่าแม้ยอดผู้ติดตามลด แต่แผ่นดินจะสูงขึ้น  สุดท้ายแม้จะมีกระแสถล่มแต่ก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจเธอเยอะเช่นกัน ล่าสุดยอดติดตามกลับมาพุ่งกว่าเดิม กว่า 4 แสนคนแล้ว 

 

          แม้ผ่านไปกว่าสัปดาห์ กระแสด่าทอต่อว่านักร้องดังดูท่าไม่จบง่ายๆ จนไม่กี่วันก่อนหน้า เจ้าตัวตัดสินใจปิดการแสดงความเห็นในอินสตาแกรม และล่าสุด ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่มาคอมเมนต์ ต่อว่า และมีแนวคิดต่อต้านสถาบันรุนแรงในสื่อของเธอ

 

          นี่คือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางกระแสการเมือง ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น และแสดงออกผ่านโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย

 

          แม้จุดเริ่มต้น หลายฝ่ายอาจมองว่า มาจากการเมืองไทย มาจากรัฐบาล หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ในโลกคู่ขนานที่จับต้องไม่ได้นี้เราคงต้องปล่อยให้ดำเนินไปตามวิถีของมัน เพราะ “โลกเปลี่ยนไปแล้ว” 

 

          แต่สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่า คือเราจะสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงออกอย่างไรที่สร้างสรรค์ ลดความขัดแย้ง สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว  และควบคุมไม่ให้ละเมิดสิทธิกันจนเกินเลย

 

          เพราะสุดท้ายพื้นที่ทางความคิดล้วนหลากหลาย การจะโพสต์อะไรในพื้นที่ตัวเอง ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น 


ลลิตา มั่งสูงเนิน

logoline