svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ไหวมั้ยดิจิทัลวอลเล็ต? นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท กับข้อจำกัดของบล็อกเชน

12 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การที่จะใช้บล็อกเชนเพื่อใช้ดำเนินงานในนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ในทางเทคนิกนั้นอาจไม่เหมาะสม แต่ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการออกมาแถลงถึงโครงสร้างระบบต่างๆ อย่างชัดเจนจึงอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า มันเป็นแค่ buzzword ตามเทรนด์ หรือจำเป็นจริงๆ

หนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงหากได้จัดตั้งรัฐบาลคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศ นโยบายที่มีกระแสตีกลับจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านเช่นล่าสุด 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบาย

วันนี้ เรามาทำความเข้าใจกันว่า บล็อกเชน (blockchain) คืออะไร? และ ทำไมถึงเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะสมกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท


Blockchain คืออะไร? ทำงานอย่างไร?

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2008 ที่บุคคลนิรนาม Satoshi Nakamoto หยิบคอนเซปต์ของบล็อกเชนมาเติมกลไกหลายๆ อย่างเข้าไป และสร้างเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกอย่าง บิตคอยน์ (Bitcoin) มาแก้ปัญหา trust หรือ ‘ความเชื่อมั่น’

สมมติว่า นาย A ต้องการทำธุรกรรมบางอย่างกับ นาย B โดยถ้า นาย A และ B รู้จักกัน มีความเชื่อมั่นในกันและกัน มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่นาย A และ B จะดำเนินธุรกรรมกันเพียงสองคนเท่านั้น กลับกัน หากนาย A และ B ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่มีความเชื่อมั่นในกันและกัน และยังต้องการทำธุรกรรมร่วมกัน วิธีการแก้ไขคือจะต้องมี ‘ตัวกลาง’ เข้ามา โดยตัวกลางที่ว่าต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ นาย A และ B จะต้องเชื่อใจคนกลางคนนี้ เพื่อให้เป็นทางผ่านระหว่างทั้งคู่ การทำงานในลักษณะนี้เรียกว่า การทำงานแบบรวมศูนย์ (centralised) ตัวอย่างของการทำงานในลักษณะนี้คือ ธนาคาร สถาบันการเงิน และระบบการทำงานของรัฐบาล

ยกตัวอย่างเช่น นาย A ต้องการขายที่ดินให้นาย B แต่ก่อนที่นาย B จะจ่ายเงินให้นาย A ตรง ๆ นาย B จะต้องมั่นใจก่อนว่า นาย A มีการถือครองที่ดินผืนนี้ขนาดเท่านี้จริงๆ แปลว่า นาย B ไม่เชื่อใจนาย A จึงจำเป็นต้องใช้คนกลาง คนกลางที่ว่าก็คือ กรมที่ดิน คนกลางที่นาย A และ B เชื่อถือ โดยทำหน้าที่ออกเอกสารโฉนดที่ดิน ดังนั้นเพื่อให้ธุรกรรมนี้เกิดขึ้น นาย B จำเป็นต้อง ‘เชื่อใจ’ กรมที่ดินว่าออกเอกสารอย่างถูกต้อง และมีการโอนก่อนที่นาย B จะจ่ายเงินให้นาย A ไป

ทำให้เกิดคำถามว่า “ถ้าไม่มีคนกลาง และเราไม่เชื่อใจกันและกัน ธุรกรรมนี้จะยังสามารถเกิดขึ้นหรือไม่?” ในจุดนี้เองที่ การทำงานแบบกระจายศูนย์ (decentralised) เข้ามาช่วยเหลือเราได้ โดยการช่วยกันยืนยันธุรกรรมร่วมกัน ยิ่งมีจำนวนของผู้ยืนยันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ธุรกรรมนั้นมีความน่าเชื่อถือมากเท่านั้น

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ทำงานในลักษณะแบบการกระจายศูนย์คือบล็อกเชน โดยการทำงานคือ หลักฐานการทำธุรกรรมทั้งหลายจะถูกบรรจุลงไปในกล่อง โดยในหนึ่งกล่องสามารถบรรจุหลักฐานของหลายๆ ธุรกรรมได้ เรียกว่า บล็อก (block)

Blockchain เมื่อหลักฐานถูกบรรจุลงไปในกล่องเรียบร้อย ต่อมาหากจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นหลักฐานถูกบิดเบือนหรือมีแก้ไขหลังจากใส่กล่อง ในโลกแห่งความเป็นจริง เราอาจจะล็อกด้วยแม่กุญแจ เอาดินน้ำมันพอกแม่กุญแจ พร้อมประทับตราเอาไว้ หลักการในระบบคอมพิวเตอร์ก็ไม่ต่างกันคือ ระบบป้องกันจำเป็นต้องป้องกันการปลอมแปลงได้ และหากมีการปลอมแปลงเกิดขึ้น ระบบจำเป็นต้องรู้ตัว

สิ่งที่เครื่องทำคล้ายกันมีสองขั้นคือ เมื่อกล่องถูกปิด (seal) มันจะคำนวณการเข้ารหัส เปรียบได้กับดินน้ำมันที่พอกอยู่บนแม่กุญแจพร้อมประทับตรา หากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อคำนวณการเข้ารหัสออกมาจะได้รหัสที่แตกต่างจากเดิม และบล็อกเชนจะเพิ่มความยากในการคำนวณไปอีก โดยการคำนวณรหัสใหม่นั้น จำเป็นต้องใช้รหัสอ้างจากกล่องก่อนหน้ามาด้วย แปลว่า หากมีการแก้ไขกล่องสักหนึ่งกล่อง เครื่องจำเป็นต้องคำนวณรหัสของกล่องตั้งแต่กล่องที่แก้จนถึงกล่องล่าสุดใหม่ทั้งหมด คล้ายกับการเอาโซ่คล้องกล่องแต่ละกล่องเข้าด้วยกัน นั่นเป็นเหตุที่ทำให้มันถูกเรียกว่าบล็อกเชน

จุดอ่อนต่อมาคือ หากผู้แก้ไขข้อมูลและคำนวณรหัสในแต่ละกล่องหรือบล็อกใหม่ได้ เท่ากับว่ากลไกแรกที่นำเข้ามาใช้งานนั้นไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่อีกหนึ่งกลไกคือ การทำงานแบบกระจายศูนย์ ที่กล่องทั้งหมดจะถูกจัดเก็บโดยเครื่องจำนวนมาก เรียกว่า validator หรือผู้ตรวจสอบ

ผู้ตรวจสอบคือคนทำหน้าที่ทดลองเข้ารหัสข้อมูล เมื่อข้อมูลตรงกับผู้ตรวจสอบเครื่องอื่น ๆ ในระบบ มันจะทำการใส่ข้อมูลลงไปในบล็อกเชน โดยความเร็วและความปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละบล็อกเชน เช่น Proof-of-Stake (POS) แบบบิตคอยน์จะให้รางวัลสำหรับคนที่สามารถเข้ารหัสได้ตรง รางวัลที่ได้คือบิตคอยน์จำนวนหนึ่งที่หักมาจากผู้โอน เรียกว่า transaction fee นี่คือที่มาของสิงนักขุดเหมือง (miner) ทั้งหลาย เหล่าคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรอรับรางวัลแบบนี้ไปเรื่อยๆ

การทำงานในลักษณะนี้ทำให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นไปได้ยาก เพราะหากจะทำก็จำเป็นต้องแก้ไขข้อมูลในบล็อกเชนของทุกๆ บล็อกพร้อมกัน แต่เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น อาจจะมีการตั้งค่าให้ใช้การยืนยันความถูกต้องเพียง 50% จากผู้ตรวจสอบทั้งหมด ส่งผลให้ยิ่งมีจำนวนผู้ตรวจสอบในระบบมาเท่าไหร่ยิ่งลดโอกาสการถูกปลอมแปลงได้มากขึ้นเท่านั้น (หากสนใจคำถามที่ว่าบล็อกเชนสามารถถูกปลอมแปลงได้หรือไม่ สามารถลองศึกษาการโจมตีที่เกี่ยวข้องได้เช่น ‘51% Attack’)

เมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อโดยผู้ตรวจสอบจำนวนมาก ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นจึงถูกแก้ไข นอกจากนั้น ยังมีข้อดีในแง่ความโปร่งใส เนื่องจากวิธีการทำงานไม่ได้ถูกปิดเป็นความลับ และข้อมูลทั้งหมดไม่สามารถถูกใครคนใดคนหนึ่งเข้าไปแก้ไขย้อนหลังได้เลย

 

ไหวมั้ยดิจิทัลวอลเล็ต? นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท กับข้อจำกัดของบล็อกเชน


Blockchain ถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง?
คำว่าบล็อกเชนถูกนำมาใช้งานจริงครั้งแรกในช่วงปี 2008 ที่บุคคลนิรนามชื่อ Satoshi Nakamoto ให้กำเนิดบิตคอยน์ขึ้นมา โดยถือว่าเป็นการใช้งานบล็อกเชนแรก ๆ เลยก็ว่าได้

หลังจากนั้นบล็อกเชนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำมาใช้งานที่หลากหลายอย่างการใช้งาน smart contract เช่น นาย A และ B ต้องการโอนที่ดิน ก็สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้แก้ปัญหาคนกลางได้ หรือตัวอย่างที่ออกมาเยอะมาก ๆ ในช่วงปี 2008-2010 คือการแลกเปลี่ยนตัวตน เช่น การแลกเปลี่ยนนามบัตร ที่เข้ามาแก้ปัญหาว่า นามบัตรนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ลดปัญหาการปลอมแปลงตัวบุคคล

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจและเป็นกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง คือ NFT (Non-Fungible Token) เป็นตัวอย่างของการนำ smart contract มาใช้งาน เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ โดยความแตกต่างที่สำคัญคือการมีกลไกในการบ่งบอกว่าของชิ้นนั้นสามารถมีได้เพียงชิ้นเดียวในระบบเท่านั้น จึงถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนของหายาก ของสะสม และงานศิลปะ


Blockchain กับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท
จากการให้สัมภาษณ์ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ว่า “บล็อกเชนแน่นอนครับ” ต่อคำถามที่ว่า พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันว่าจะใช้บล็อกเชนแจกดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ น่าจะเป็นเสียงยืนยันที่ชัดเจนว่า แนวทางในการดำเนินงานนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทน่าจะเป็นการทำระบบบล็อกเชนขึ้นมาเพื่อตอบสนองนโยบายนี้ ซึ่งหากนโยบายนี้ดำเนินด้วยการใช้งานบล็อกเชนจริงจะมีข้อกังวลทั้งหมด 3 ประการ

ประการที่หนึ่งคือ การจำกัดขอบเขตการใช้งานจากร้านค้าและบริการด้วยระยะทางจากทะเบียนบ้านถึงร้านค้า โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน สำหรับการใช้งานในเมืองใหญ่อาจไม่มีปัญหามาก เนื่องจากมีความหนาแน่นของร้านค้าให้บริการสูง จึงมีตัวเลือกในการใช้งานเยอะ แต่กลับกันสำหรับคนที่อาจจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความหนาแน่นของร้านค้าต่ำ ในกรณีที่แย่ที่สุดอาจจะไม่มีร้านค้าใกล้เคียงสำหรับการใช้บริการเลยก็เป็นได้ แม้จะเพิ่มรัศมีการใช้งาน มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยังมีโอกาสที่ไม่มีร้านค้าให้เลือกมากนักในพื้นที่ห่างไกล

ประการที่สองคือ ความเร็วในการใช้งาน การจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลส่วนใหญ่ในประเทศไทยทุกวันนี้ เราใช้งานกันผ่านระบบ Promptpay ทั้งแบบผ่านเบอร์โทรศัพท์และ QR Code เบื้องหลังการทำงานคือระบบธนาคารดั้งเดิม มีตัวกลางแค่ธนาคารต้นทาง ธนาคารปลายทาง และ ITMX (Interbank Transaction Management and Exchange) จากการใช้งานที่ผ่านมา อาจจะมีบ้างที่ล่มในช่วงที่มีการใช้งานสูง แต่ในเวลาปกติทั่วไป ตัวระบบมีความเร็วในการทำธุรกรรมในหลักวินาที แต่กลับกัน บล็อกเชนไม่ได้อาศัยตัวกลางเช่นเดียวกับระบบเดิม แต่อาศัยผู้ตรวจสอบที่อยู่ในระบบ ในการที่จะทำให้ธุรกรรมสมบูรณ์ถูกบันทึกลงในบล็อกเชน และผู้ตรวจสอบมากกว่าครึ่งของระบบจำเป็นต้องยอมรับ ส่งผลให้ตัวละครจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้การทำธุรกรรมอาจใช้เวลามากกว่าเดิม แน่นอนว่ากระทบกับความสะดวกสบายในการใช้งาน

ประการที่สามคือ ความกังวลในแง่ของการออกแบบและการลงทุนในการทำระบบขึ้นมา เนื่องจากเป็นระบบใหม่ที่ประเทศของเราไม่เคยมี เรียกว่าเป็นระบบสำหรับการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ของรัฐไทยเลยก็ว่าได้ หากคิดว่าการทำระบบ PromptPay ใหญ่แล้ว ตัวนี้จะใหญ่กว่า ใช้เงินมหาศาลแน่นอน เพราะระบบอย่าง PromptPay เป็นเพียงระบบที่ทำหน้าที่เหมือนสมุดโทรศัพท์เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารเดิมเข้ากับเลขบัตรประชาชนของเรา แตกต่างจากระบบบล็อกเชนที่ทำหน้าที่เป็นระบบการจัดการบัตรแลกเงินบาทใหม่ทั้งหมด จึงมีความกังวลในแง่ของงบประมาณที่ต้องใช้ และน่ากังวลว่าเมื่อระบบทำออกมาแล้วระบบจะถูกใช้งานเพียงแค่งานเดียวแล้วจะหายไป ทำให้เป็นการผลาญเงินมหาศาลโดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และที่สำคัญ หากคำนึงถึงจุดประสงค์ของตัวบล็อกเชนจริงๆ ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการไม่ไว้ใจตัวกลาง แต่ถูกนำมาใช้ด้วยการที่ตัวกลางทำระบบที่แก้ปัญหาการไม่ไว้ใจตัวกลางด้วยตัวกลางเสียเอง (ฟังดูงงใช่มั้ยครับ) เช่น เมื่อทำออกมาจริงๆ ผู้ตรวจสอบทั้งหลาย แน่นอนว่าไม่ใช่ใคร นอกจากตัวรัฐบาลเสียเอง กลายเป็นว่า มันไม่ได้แก้ปัญหาในแง่ของความเชื่อมันที่เป็นแนวคิดหลักที่บล็อกเชนพยายามแก้ ในมุมเชิงเทคนิกเมื่อฟังแล้วจึงรู้สึกว่ามันขัดกันแปลกๆ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราเองมีระบบสำหรับการทำธุรกรรม และใช้สิทธิเยียวยาต่างๆ จากภาครัฐเช่นโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปฯ เป๋าตัง และ G-Wallet อยู่แล้ว ทำให้ยิ่งมีความแปลกมากขึ้นไปอีก


จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้การที่จะใช้บล็อกเชนเพื่อใช้ดำเนินงานในนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ในทางเทคนิกนั้นอาจไม่เหมาะสม แต่ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการออกมาแถลงถึงโครงสร้างระบบต่างๆ อย่างชัดเจนจึงอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า มันเป็นแค่ buzzword ตามเทรนด์ หรือจำเป็นจริงๆ สำหรับนโยบาย เนื่องจากอาจจะยังมีเหตุผลในเชิงนโยบาย หรือแผนระยะยาวในอนาคต เราเป็นต้องติดตามไปต่อไป แล้วท่านผู้อ่านละครับ เห็นด้วยกับการลงทุนทำระบบบล็อกเชนของประเทศเราหรือไม่

logoline