svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

หนังสือ How To ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้จริงๆ หรือ?

18 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทำสิ่งนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้นทันที" "นี่แหละจิตวิทยาของคนที่ได้เป็นหัวหน้า" "100 ทักษะที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น" เรามักจะเห็นชื่อหนังสือคล้ายๆ กันนี้มีอยู่มากมายตามชั้นวางของร้านหนังสือ แล้วหนังสือเหล่านี้ทำให้ชีวิตผู้อ่านดีขึ้นได้อย่างที่หน้าปกบอกไว้จริงไหม?

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสก้าวเท้าเข้าร้านหนังสือเชนดังตามห้างสรรพสินค้า หนังสือหมวดหนึ่งที่มักจะถูกตั้งไว้อย่างโดดเด่นปะทะสายตานักอ่านเป็นอย่างแรกก็หนีไม่พ้นเหล่าหนังสือ How To หรือในภาษาไทยเรียกว่า ‘หนังสือพัฒนาตนเอง’

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยนะครับที่หนังสือหมวดดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะอุตสาหกรรมหนังสือ How To ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่ามีหนังสือ How To อกใหม่แบบไม่เว้นแต่ละวัน ยังไม่นับสารพัดหนังสือคลาสสิกขึ้นหิ้งที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกแม้ว่าจะมาอายุอานามร่วมศตวรรษ อย่างไรก็ตาม หนังสือกลุ่มนี้มีทั้งคนเชียร์และคนชังนำไปสู่คำถามว่าหนังสือ How To เหล่านี้มีประโยชน์กับผู้อ่านจริงหรือไม่

หนังสือ How To ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้จริงๆ หรือ?

งานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Do Self-help Books Help?’ โดย แอด เบิร์กส์มา (Ad Bergsma) นักสังคมวิทยาชาวดัตช์พยายามตอบคำถามข้างต้นด้วยการสำรวจหนังสือ How To ด้าน ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 57 ปกในเนเธอร์แลนด์ โดยเบิร์กส์มาแบ่งหนังสือ How To ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่เน้นแก้ปัญหา (problem-focused) และกลุ่มที่เน้นพัฒนาตนเอง (growth-oriented)
 

เบิร์กส์มาทบทวนงานวิจัยในอดีตหลายชิ้นก่อนจะสรุปว่าหนังสือ How To กลุ่มที่เน้นแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ นับว่าค่อนข้างมีประสิทธิผล โดยสามารถบรรเทากลุ่มอาการซึมเศร้า ความเครียด อาการกระวนกระวาย และอาการนอนไม่หลับ อย่างไรก็ตามการอ่านหนังสือ How To กลุ่มนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างการติดบุหรี่หรือสุราเรื้อรัง ส่วน How To ที่เน้นพัฒนาตนเองซึ่งมักจะเป็นหนังสือสไตล์ ‘ถอดบทเรียนความสำเร็จ’ ทั้งในด้านธุรกิจหรือการเติบโตในหน้าที่การงาน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือรองรับว่ามีประสิทธิผลหรือไม่

นอกจากประเภทของหนังสือแล้ว เขายังย้ำอีกว่าประสิทธิผลของการอ่าน How To ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้อ่าน โดยกลุ่มผู้อ่านที่มีความสุขเพิ่มขึ้นหลังจากอ่าน How To มักเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้น มีทัศนคติเชิงบวก และพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงหนังสือที่อ่านก็มีผลอย่างมากเช่นกัน


เลือกอ่าน How To แบบไหนดี

ก่อนที่จะก้าวเข้าร้านหนังสือ เราต้องมีธงในใจว่าต้องการแก้ปัญหาเรื่องไหนในชีวิตแล้วจึงเลือกหยิบหนังสือ How To ในหมวดที่ตรงใจ โดยสิ่งที่ต้องดูเป็นอย่างแรกคือปีที่หนังสือเล่มนั้นตีพิมพ์ครั้งแรก เพราะในแต่ละปีมีงานวิจัยจำนวนมหาศาลที่พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ซึ่งหลายอย่างก็คัดง้างกับความรู้ชุดเดิม ยังไม่นับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การทำงาน และความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความรู้เก่าเก็บในหนังสือ How To ที่ตีพิมพ์เมื่อสิบปีที่แล้วอาจจะล้าสมัย แม้ว่าหนังสือบางเล่มจะได้รับคำยกย่องว่าเป็น ‘คลาสสิก’ ก็ตาม

หนังสือ How To ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้จริงๆ หรือ?

หลังจากตรวจสอบปีที่พิมพ์ เราก็ต้องค้นข้อมูลเพิ่มสักหน่อยว่าใครเป็นคนเขียน แน่นอนว่าถ้าผู้เขียนเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตัวเองเขียนย่อมมีภาษีดีกว่า ส่วนหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการรับมือภาวะซึมเศร้า ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย หรืออาการนอนไม่หลับที่มักเขียนโดยคนที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้โดยตรงอาจต้องเลือกอ่านอย่างระมัดระวัง เพราะการที่พวกเขาเคยผ่านพ้นปัญหาไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรับมือกับปัญหาเหล่านั้น หนังสือ How To ที่ดีควรจะบอกทางออกที่หลากหลายเพื่อให้ผู้อ่านสามารถทดลองและหาทางเลือกที่เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเองที่สุด

อย่างที่สาม หากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เราก็ควรหันไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น จิตแพทย์ โดยอาจสอบถามหนังสือเล่มที่น่าสนใจเพื่อใช้ประกอบการรักษา เพราะมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าการบำบัดด้วยหนังสือ (bibliotherapy) โดยมีผู้เชี่ยวชาญคัดสรรหนังสือ How To ให้เหมาะสมกับปัญหาที่แต่ละคนเผชิญนั้นเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิผล

ประการสุดท้าย หนังสือ How To มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Self-help’ หรือการรับมือปัญหาด้วยตนเอง ดังนั้นถ้าอ่านจบแล้วแต่ไม่นำไปปฏิบัติย่อมไม่เกิดประโยชน์ หากเราคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนที่กระตือรือร้นสักเท่าไหร่ ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่อยากบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หนังสือ How To อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนัก

 

How To แบบไหนที่ไม่ควรหยิบมาอ่าน?

กลุ่มกองแช่งหนังสือ How To มองว่าหนังสือกลุ่มนี้ขายฝันลมๆ แล้งๆ หรือให้คำแนะนำซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการ บางเล่มที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามแต่กลับให้คำแนะนำที่ล้าสมัย ตัวอย่างเช่น ‘ถ้าโกรธก็ให้ระบายความโกรธนั้นออกมา โดยการต่อยหมอน เตะกระสอบทราย ตะโกน หรือด่าทอด้วยคำหยาบคาย’ แต่งานวิจัยสมัยใหม่บ่งชี้ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ได้ทำให้ความโกรธมลายหายไปแต่ยิ่งโหมให้อารมณ์คุกรุ่น ทางออกที่เหมาะควรคือการเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น เช่น ฟังเพลงที่ชอบ หรือเปิดคลิปหมาแมวดูเพื่อผ่อนคลาย

แม้คำแนะนำผิดๆ จะนับว่าอันตราย แต่สำหรับผมแล้วคงไม่มี How To กลุ่มไหนที่น่ากลัวเท่าหนังสือกลุ่มที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘ผลลัพธ์จากการคิด’ (manifestation) หรือความเชื่อที่ว่าจักวาลจะจัดสรรเรื่องดีๆ มาให้เราตราบใดที่เราเชื่อและแสดงออกแบบนั้น เช่น ถ้าเราใฝ่ฝันถึงความร่ำรวย เราก็ต้องเชื่อและจินตนาการว่าเรารวย บอกกับตัวเองว่าเรารวย และทำตัว ‘เสมือนหนึ่งว่ารวย’

หนังสือ How To ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้จริงๆ หรือ?

งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมาโดย ลูคัส ดิกสัน (Lucas Dixon) และคณะพบว่า กลุ่มคนที่เชื่อในแนวคิดดังกล่าวแม้จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงขึ้นก็จริง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการเชื่อเช่นนี้ช่วยให้ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง ในทางกลับกัน คนกลุ่มนี้กลับมีแนวโน้มที่จะลงทุนในตัวเลือกที่ความเสี่ยงสูง ถูกหลอกให้ลงทุนในกลุ่มแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายกว่า มีฐานะทางการเงินย่ำแย่กว่า และเสี่ยงต่อการล้มละลายมากกว่า รวมถึงมีความเชื่อว่าตนเองจะประสบความสำเร็จโดยทำรายได้มหาศาลในระยะเวลาอันสั้น

หนังสือ How To นับเป็นทางเลือกราคาประหยัดที่เราสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากในวันที่ประสบปัญหา แต่ดังสุภาษิตที่ว่าลางเนื้อชอบลางยา หนังสือดังกล่าวอาจเหมาะกับคนบางกลุ่ม แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม สิ่งสำคัญคือเราต้องอ่านอย่างมีสติเสมอว่าคำแนะนำในหนังสืออาจไม่ถูกต้องตรงกับบริบทเสมอไป และถ้าเราอ่านจบแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ บางทีอาจถึงเวลาที่เราต้องหันไปหาทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่าเช่นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

 


ข้อมูลอ้างอิง

logoline