svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘The Killer’ ความไม่เป็นมนุษย์ที่แสนจะเป็นมนุษย์ของนักฆ่า

17 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ยึดกับแผนเข้าไว้ อย่าด้นสดหน้างาน อย่าเชื่อใจใคร ช่วงชิงหาความได้เปรียบ สู้แค่ในสงครามที่มีคนจ้างมาเท่านั้น” คำพูดที่กล่าวย้ำตลอดเวลาของมือสังหารผู้เป็นตัวเอกในหนังเรื่อง The Killer (2023) หนังลำดับล่าสุดของ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับ Fight Club (1999)

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง The Killer

มือสังหาร (ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์, Michael Fassbender) ถูกว่าจ้างให้มาปลิดชีพเป้าหมายที่ปารีส ทว่า เขาพลาดเป้า ทางออกเดียวที่เหลือในมือคือหลบหนีออกจากฝรั่งเศส พลางเจรจากับนายหน้าเพื่อหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ให้แก่ผู้ว่าจ้างซึ่งไม่ออกนาม แต่กลับพบว่า คนรักของเขาถูกลอบทำร้ายจนอาการสาหัส และนับเป็นต้นธารสำคัญที่ทำให้มือสังหารเปลี่ยนความตั้งใจจากการ ‘แก้งาน’ ตัวเองไปสู่การล้างแค้นให้คนรักและตัวเอง

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในฉากหน้าซึ่งเป็นพล็อตเรื่องอันเรียบง่ายของ The Killer (2023) หนังลำดับล่าสุดของ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) คือประเด็นอันแหลมคมซึ่งว่าด้วยการวิพากษ์ทุนนิยมและความเป็นมนุษย์ อันเป็นประเด็นที่ฟินเชอร์ เคยหยิบมาเล่าแล้วใน Fight Club (1999) จนตัวหนังทั้งสองเรื่องถูกหยิบมาเทียบเคียงกันหลายๆ แง่ ไม่ว่าจะประเด็นที่หนังสื่อ การใช้น้ำเสียงเนิบเนือยเป็น voice over จากตัวละครหลัก หรือการที่มันเป็นหนังธริลเลอร์—ทางถนัดของฟินเชอร์—ที่เล่าเรื่องได้แสนแม่นยำอย่างที่สุด
 

ตัวหนังดัดแปลงมาจากกราฟิกโนเวลชื่อเดียวกันของ อเล็กซิส โนลองต์ (Alexis Nolent) นักเขียนชาวฝรั่งเศสและถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย แอนดรูว์ เควิน วอลก์เกอร์ (Andrew Kevin Walker) ผู้เคยร่วมงานกับฟินเชอร์มาแล้วใน Se7en (1995) และเช่นเดียวกับ Fight Club คือแม้ฉากหน้าตัวหนังจะพูดเรื่อง ‘คลับมวยใต้ดิน’ หรือมือสังหาร แต่ตัวหนังก็ขยับออกไปจากความคาดหวังเบื้องต้นของคนดู ทั้งการที่มันไม่ได้เล่าเรื่องความดุดันของคลับมวยใต้ดิน และการที่มันไม่ได้เป็นหนังที่พูดเรื่องมือสังหารสุดโฉด หรือก็คือหากคนดูคาดหวังว่าจะได้เห็นการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยฉากเดือดดาลของนักฆ่า The Killer ก็อาจทำให้ผิดคาดได้ง่ายๆ เพราะองก์แรกของหนัง อุทิศให้ชีวิตอันเรียบเนือยและน่าเบื่อหน่ายของการเป็นมือสังหาร อดทนเฝ้ารอการปรากฏตัวของเหยื่อที่ไม่อาจระบุวันเวลาที่แน่นอนได้ มีเพียงเสียง voice over เรียบเนือยจากตัวละคร—อธิบายหลักการทำงานของการเป็นนักฆ่า

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

“ยึดกับแผนเข้าไว้ อย่าด้นสดหน้างาน อย่าเชื่อใจใคร ช่วงชิงหาความได้เปรียบ สู้แค่ในสงครามที่มีคนจ้างมาเท่านั้น”
 

ข้างต้นคือหลักการที่นักฆ่ากระซิบบอกตัวเองตลอดทั้งเรื่องในลักษณะของความหมกมุ่น ที่ก็อาจพินิจได้ว่าเป็นน้ำเสียงที่ฟินเชอร์ล้อเลียนความเอาเป็นเอาตายของตัวเองในฐานะผู้กำกับอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าฟินเชอร์เป็นคนทำหนัง ‘หนึ่งร้อยเทก’ ในความหมายว่าเขามักจะถ่ายทำฉากเดียวและฉากเดิมซ้ำๆ หลายสิบเทกจนกว่าจะได้เทกที่พอใจ เช่น เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน กับ แบรด พิตต์ เคยออกมาเล่าขำๆ ว่าสมัยแสดงหนังเรื่อง Fight Club ฟินเชอร์เคยถ่ายฉากที่พวกเขานั่งคุยกันในบาร์ราวๆ 38 เทก หรือเรื่อง Zodiac (2007) ที่ความจ้ำจี้จ้ำไชของฟินเชอร์ทำให้ เจค จิลเลินฮาล เกือบเสียสติหลังถูกสั่งให้แสดงฉากเดิมๆ กว่าสิบเทก (ส่วน โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ จากเรื่องเดียวกันบอกว่า ตารางการถ่ายทำของฟินเชอร์แน่นเสียจนเขาต้องฉี่ใส่กระบอกน้ำเพราะหาเวลาปลีกตัวไปเข้าห้องน้ำไม่ได้!) และตัวละครนักฆ่าของ The Killer ก็เป็นเสมือนเงาที่ฟินเชอร์สะท้อนถึงความหมกมุ่นต่อความสมบูรณ์แบบของตัวเอง

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

หนังเปิดเรื่องมาด้วยฉากที่มือสังหารใช้เวลาเงียบงันนั่งรอคอยเหยื่ออยู่ในห้องพักเล็กแคบ หน้าต่างเปิดกว้างไปสู่โรงแรมฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่พำนักของเป้าหมาย แต่ละวันของเขาผ่านไปช้าเชือน ความเบื่อหน่ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ว่าด้วยการปลิดชีพคนอื่น เราแทบไม่พบแง่มุมความเป็นมนุษย์ของตัวละคร กล่าวคือหากไม่นับการเป็นแฟนเพลงวง The Smiths นักฆ่าก็ไม่มีกลิ่นอายใดเฉพาะตัว เขาใช้เวลานั่งเฝ้ารอเฉยๆ และลุกมาออกกำลังกายบ้าง แต่นอกจากนั้นเขาก็ไม่อนุญาตให้ตัวเองได้มีชีวิตหรือมีอัตลักษณ์แบบอื่นๆ ไม่ทิ้งตัวหลับไหลยาวนานเกินไป ไม่กินอาหารที่ทำให้ง่วงหรืออิ่มจนแน่นท้อง (ตลอดทั้งเรื่อง นักฆ่าแทบไม่กินแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตเลย—อันจะเห็นได้จากฉากที่เขาโยนแผ่นขนมปังจากแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ทิ้ง และเลือกกินแต่ส่วนเนื้อ) ไม่ทำอะไรให้โดดเด่นสะดุดตาจนเป็นที่จดจำ หรือกล่าวคือ เขาอุทิศทั้งเนื้อทั้งตัวเพื่องาน เพื่อการเป็นนักฆ่ามืออาชีพ และภาวะนี้สะท้อนชัดจากการที่เขาทำงานพลาด ด้วยการลั่นไกสังหารผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในห้องพักเดียวกับเป้าหมาย สิ่งที่ทำให้เขาลนลานนั้นไม่ใช่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หากแต่เป็นความผิดหวังต่อตัวเองที่ทำงานพลาด ตรรกะและวิธีคิดของเขาเป็นไปเพื่อการทำงานแต่เพียงประการเดียว ไม่อนุญาตให้ความเห็นอกเห็นใจหรือศีลธรรมใดเข้ามามีบทบาทในสำนึก

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

นักฆ่าพยายามแก้ไขความผิดพลาดที่ตัวเองก่อ แต่ระหว่างนั้น เขาพบว่าคนรักของเขาถูกทำร้ายจนอาการปางตายโดยมือสังหารอาชีพที่ถูกส่งมาจากนายหน้าของเขาอีกทีหนึ่ง เป็นการ 'ลงทัณฑ์' เพื่อให้ผู้ว่าจ้างรู้สึกว่าได้รับการชดเชยต่อความผิดพลาด—ในลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราสั่งสินค้าจากบริษัทเอกชนแล้วไม่ได้สินค้าบกพร่อง บริษัทก็มักส่งสินค้าอื่นมาชดเชยในรูปแบบของกำนัลเสมอ—ทำให้นักฆ่าต้องแหกกฎของตัวเองเป็นครั้งแรก หรือคือการลงสนามสู้ล้างแค้นโดยไม่มีใครว่าจ้าง ทั้งบุกเข้าไปรีดความลับจากนายหน้าด้วยการยิงตะปูใส่ปอดสามตัว (และก็เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นว่า เมื่อนายหน้าขาดใจตายก่อนเวลาที่กำหนด นักฆ่าไม่ได้รู้สึกผิดหรือเสียใจ หรือกระทั่งผูกพัน แต่เขารู้สึกกระวนกระวายที่ตัวเองคำนวณพลาดว่าอีกฝ่ายจะทนบาดแผลได้นานกว่านี้) รวมทั้งเดินทางไปยังรัฐฟลอริดาเพื่อสังหารตัวการที่ทำร้ายคนรักเขา นำมาสู่ฉากต่อสู้ที่เฉียบคม แม่นยำ และพิสูจน์อีกครั้งว่าฟินเชอร์เป็นคนทำหนังที่กะจังหวะในการเล่าเรื่องแม่นเพียงใด ทั้งมันยังเป็นฉากต่อสู้ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเล่าถึงตัวตนและความเป็นตัวนักฆ่าที่แทบไม่ถูกบอกเล่าเลยในหนัง เช่น เขาไม่ได้ถือปืนสองมือแบบตำรวจ แต่ถือมือเดียว, เขาไม่ถนัดการสู้แบบประชิดตัวนัก แต่เป็นคนคล่องแคล่วว่องไวและตัดสินใจเฉียบขาด (ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเขา), และด่านสุดท้าย คือการเดินทางไปหานักฆ่าหญิง (ทิลดา สวินตัน, Tilda Swinton) ที่เป็นตัวการทำร้ายคนรักของเขา

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

นักฆ่าได้รับข้อมูลจากชายคนขับแท็กซี่ที่ขับรถให้นักฆ่าหญิงและชายฟลอริดาไปทำร้ายคนรักเขาถึงที่บ้าน ว่ารูปลักษณ์ของเธอนั้น 'สะดุดตา' แค่ไหน ซึ่งนับว่าตรงกันข้ามกับเขาที่พยายามกลืนกลายตัวเองจนแทบไม่เหลืออัตลักษณ์ใดๆ นักฆ่าหญิงดูสะดุดตาด้วยรูปลักษณ์ขาวเผือด ทั้งยังรื่นรมย์กับอาหารในภัตตาคารหรู (เทียบกับเขาที่กินแต่อาหารเรียบๆ) และเป็นมิตรกับบริกร (ส่วนเขานั้นแทบไม่เปิดปากคุยกับใครเพื่อไม่ให้คนจำได้) อีกนัยหนึ่งมันคือการปรากฏตัวของอีกขั้วที่เขย่าระบบระเบียบที่นักฆ่ามีมาทั้งชีวิต

นักฆ่าไร้ใบหน้า ไร้ตัวตน เขาปรากฏตัวด้วยชื่อปลอมตลอดทั้งเรื่อง กระนั้น สิ่งเดียวที่ตามตัวเนื้อตัวเขาไปได้คือข้อมูลการทำธุรกรรมทางธนาคาร และเป็นข้อมูลจากธนาคารนี่เองที่นำพาเขาไปหาผู้ว่าจ้างซึ่งจ่ายให้เขาไปสังหารเศรษฐีที่ฝรั่งเศส องก์สุดท้ายของเรื่องนั้นแวดล้อมด้วยตัวเลขกับกระดานหุ้น กับตัวนักฆ่าที่ตระหนักได้ว่า ที่ผ่านมานั้นเขาใช้ชีวิตจนกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับระบบทุนมากแค่ไหน ไม่ว่าจะการเลือกเหยื่อที่เป็นคนรวยเพื่อเรียกค่าหัวให้สูง หรือการเลือกจะใช้ชีวิตที่เกือบจะตัดขาดจากความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง ทั้งหมดเพื่อเป็นฟันเฟืองให้เหล่าคนรวยว่าจ้างเพื่อสังหารกันและกันอีกทอดหนึ่ง

The Killer (2023). ภาพจาก: IMDb

ในบรรดาเหยื่อที่ผ่านมาทั้งหมดของนักฆ่า อาจจะกล่าวได้ว่าเขาเลือกสังหารโดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ และไม่หวังจะบอกเหยื่อว่าเขาคือใคร ผู้ว่าจ้างคือคนเดียวที่เขาอนุญาตให้ได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา ผ่านข้อความอาฆาตอันแสนเคียดแค้นที่มั่นใจได้ว่าอีกฝ่ายจะอยู่ไม่สุขไปจนชั่วชีวิต ("ผมอาจจะวางยาลงไปในแก้วกาแฟใบโปรดคุณก็ได้") และนี่เอง อาจจะเป็นครั้งแรกที่นักฆ่าเห็นว่า เขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่นๆ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบเดียวกับคนอีกครึ่งค่อนโลก ส่วนที่เป็นมนุษย์ในตัวยังทำงาน และที่สำคัญคือ ความเป็นมนุษย์นี้อาจทำลายอาชีพการเป็นมือสังหารของเขาได้ กระนั้น เขาก็ต้องเลือก เลือกที่จะเดินหน้าล้างบางเพื่อความปรารถนาส่วนตัว เลือกที่จะทิ้งตัวตนเพื่อหลอกหลอนคนอื่น และเลือกที่จะเป็นเหมือนคนอื่นๆ ในโลก ภายใต้ระบบทุนนิยมเดียวกัน
 

logoline