svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รังเทียมนี้ "โม่ง" ไม่อยู่ "เค้า" ยึดก่อนนะ

09 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดภาพ "นกเค้าโมง" หรือ "นกเค้าแมว" เข้ายึดรังเทียมเป็นที่อาศัย โดยชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่ ได้นำรังเทียมมาติดตั้งไว้บนต้นยางนา ภายในวัดอัมพวัน จ.นนทบุรี เพื่ออนุรักษ์ "นกแก้วโม่ง" ให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไป พร้อมพารู้จักนกเค้าโมง ทำไมถึงได้ชื่อนี้

พาไปกันที่ วัดอัมพวัน ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ชม "นกเค้าโมง" หรือ "นกเค้าแมว" ที่เข้ายึดรังเทียมเป็นที่อาศัย 

โดยก่อนหน้านี้ นายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ จากชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่ ได้นำรังเทียมเหล่านี้มาติดตั้งไว้บนต้นยางนา ที่มีอยู่ 2 ต้น ภายในวัดอัมพวัน เพื่ออนุรักษ์และเป็นรังทางเลือกให้นกแก้วโม่ง จับคู่ผสมพันธุ์และยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไป

รังเทียมนี้ "โม่ง" ไม่อยู่ "เค้า" ยึดก่อนนะ
รู้จัก "นกเค้าโมง"

สำหรับ "นกเค้าโมง" หรือ "นกเค้าแมว" (Asian barred owlet) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glaucidium cuculoides เป็นนกเค้าขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีลายสีน้ำตาลทั่วทั้งตัว ด้านใต้ของลำตัวเป็นสีขาว และมีลายสีขาวในแนวตั้งลากยาวขึ้นมาที่บริเวณอกอย่างไม่เป็นระเบียบ ส่วนม่านตามีสีเหลือง 

ในวัยเล็กนักชนิดนี้จะมีลวดลายบนหัวเป็นจุดคล้ายกับ "นกเค้าแคระ" (G. brodiei) ซึ่งเป็นนกในสกุลเดียวกัน และเป็นนกจำพวกนกเค้าแมวที่เล็กที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย 

รังเทียมนี้ "โม่ง" ไม่อยู่ "เค้า" ยึดก่อนนะ
นกเค้าโมง มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียใต้ จนถึงเอเชียอาคเนย์และเอเชียตะวันออก พวกมันสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม ทั้งป่าทึบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,980 เมตร รวมถึง สวนสาธารณะในเมืองใหญ่ และสวนผลไม้

ในช่วงกลางวัน บางครั้งนกเค้าโมงก็ปรากฏตัวให้เห็น โดยอาจเกาะพักตามกิ่งไม้โล่ง รวมถึง เสาไฟและสายโทรศัพท์ พวกมันเลยเป็นนกจำพวก "นกเค้าแมว" อีกชนิดหนึ่ง ที่เราเจอตัวได้บ่อยรองมาจากผู้พิทักษ์มือวางอันดับหนึ่งในเขตเมืองอย่าง "นกแสก" (Tyto alba) (นกแสกกินหนูเป็นอาหาร มีบทบาทช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ)

สำหรับในประเทศไทย พบนกเค้าโมงได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ตอนล่างและภาคกลางตอนล่าง
รังเทียมนี้ "โม่ง" ไม่อยู่ "เค้า" ยึดก่อนนะ
พฤติกรรมที่ทำให้ได้ชื่อว่า "นกเค้าโมง"
เจ้าสัตว์มีปีกตัวเล็กอย่าง นกเค้าโมง มีเสียงร้องคล้าย "อวู้ อุอู้ อุอู้ อุอู้-อุอู้..." (ช่วงท้ายรัวเร็ว) นอกจากนี้ มันยังร้องได้หลายเสียง หลายทำนอง มักส่งเสียงร้องในเวลากลางคืนเป็นหลัก โดยตอนกลางคืนพวกมันจะร้องเป็นครั้งคราวคล้ายกับจะบอกโมงยาม ด้วยเหตุนี้เองเลยได้ชื่อว่า "นกเค้าโมง" และยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2535 ด้วย

รังเทียมนี้ "โม่ง" ไม่อยู่ "เค้า" ยึดก่อนนะ

ภาพโดย : โสภน สุเสนา 

ขอบคุณข้อมูลจาก : 
ebird.org
ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์
www.lowernorthernbird.com
คู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย และหนังสือนกในเมืองไทย เล่ม 2 รศ.โอภาส ขอบเขตต์      
วิกิพีเดีย

logoline