svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผยทักษะไอซีที นร.ไทยระดับชาติรั้งรองบ๊วย

22 พฤศจิกายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดผลประเมินทักษะไอซีทีของนักเรียนระดับนานาชาติ เผยไทยรั้งรองบ๊วยจากประเทศ 14 ประเทศ โดยมีเช็ค มาเป็นอันดับ 1

สสวท.เปิดผลประเมินทักษะไอซีทีของนักเรียนระดับนานาชาติ เผยไทยรั้งรองบ๊วยจากประเทศ 14 ประเทศ ระบุสาธารณรัฐเช็ค ซิวแชมป์ได้คะแนนเฉลี่ย 553 คะแนน ตามด้วย ออสเตรเลีย โปแลน์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ส่วนไทยได้ 373 คะแนน และตุรกีรั้งบ๊วยได้ 361 คะแนน ชี้ประเทศที่มีดรรชนีการพัฒนา ICT สูง แนวโน้มได้คะแนนสูง

แต่พบกลุ่ม ร.ร.สาธิตทำคะแนนได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 518 คะแนน ได้คะแนนต่ำสุด ร.ร.ขยายโอกาสสังกัด สพฐ. ได้ 330 คะแนน ขณะที่ นร.ไทย 61% พ่อแม่ยากจน พบ 1 ใน 4 ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ส่วนครูไทย 8% ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยนานาชาติอยู่ที่ร้อยละ 5 แนะปรับปรุงหลักสูตรให้วิชาคอมพิวเตอร์อยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตรืและคณิตศาสตร์

ดร.ชัยวุฒิ เลิศวนสิริวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวตกรรมเพื่อการเรียนรู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวว่า ประเทศไทยโดย สสวท.ได้เข้าร่วมการโครงการศึกษาวิจัยนานาชาติการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study ; ICILS ) จัดโดยสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา(The International Association for the Evaluation of Education Achievemant (IEA)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลเกี่ยวกับการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน ม. 2 (Grade 8 ) โดยสอบถามผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียนและผู้รับผิดชอบด้านไอซีทีของโรงเรียนในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ มีประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน 20 ประเทศ

ได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ ชิลี โครเอเซีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก ฮ่องกง เยอรมนี เกาหลีใต้ ลิธัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัค สโลวีเนีย รัสเซีย ตุรกี และไทย รวมจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 59,430 คน แต่เหลือประเทศที่ร่วมประเมินจริง แค่ 14 ประเทศ
ดร.ชัยวุฒิ ระบุทางโครงการฯ ได้กำหนดให้ค่าคะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบ เท่ากับ 500 คะแนน ผลประเมินพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนรองสุดท้าย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง คือ สาธารณรัฐเช็ค ได้คะแนนเฉลี่ย 553 คะแนน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 542 คะแนน โปแลนด์ นอร์เวย์ 537 คะแนน เกาหลีใต้ 536 คะแนน เยอรมนี 523 คะแนน สาธารณรัฐสโลวัค 517 คะแนน รัสเซีย 516 คะแนน โครเอเซีย 512 คะแนน และสโลวีเนีย 511 คะแนนลิธัวเนีย 494 คะแนน ชิลี 487 คะแนน ไทย 373 คะแนน และตุรกี ได้ 361 คะแนนและเมื่อแยกตามสังกัดสถานศึกษา พบว่า นักเรียนในโรงเรียนสาธิต ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 518 คะแนน รองลงมา คือโรงเรียนเอกชนสังกัด สช. 395 คะแนน โรงเรียนมัธยมสังกัด สพฐ.) ได้ 382 คะแนน โรงเรียนสังกัด กทม.ได้ 377 คะแนน โรงเรียนสังกัดเทศบาลท้องถิ่น ได้ 346 คะแนน และโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. ได้ 330 คะแนน

จะเห็นได้ว่า คะแนนของโรงเรียนสาธิตห่างจากโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะยากจนถึงกว่าร้อยคะแนน และถ้าแยกตามขนาดโรงเรียน โรงเรีนขนาดใหญ่ทำคะแนนเฉลี่ยได้ดีกว่า โดยทำได้ 410 คะแนน ขณะที่โรงเรียนขนาดกลาง ได้ 345 คะแนน และ โรงเรียนขนาดเล็กที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส ได้ 331 คะแนน

เพราะฉะนั้น สถานะของผู้ปกครองมีผลต่อคะแนนอย่างชัดเจน นักเรียนไทยถึง 61% ผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ นักเรียนกลุ่มนี้ ทำคะแนนเฉลี่ยได้ 349 นักเรียนที่มีผู้ปกครองมีฐานะปานกลาง มีร้อยละ 27 ทำคะแนนได้ 399 และนักเรียนที่ผู้ปกครองฐานะดี ร้อยละ 13 ทำคะแนนได้ 445 และยังพบว่าครอบครัวที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น แต่นักเรียนของไทยถึง 1 ใน 4 ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านจากผลการประเมินครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า ควรต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรให้วิชาคอมพิวเตอร์มาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะประยุกต์ใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวัน รวมถึงต้องปรับวิธีการวัดและประเมินผลด้วย ไม่วัดแต่ท่องจำแต่ต้องวัดคิดวิเคราะห์ และบูรณาการเข้าในวิชาอื่นๆ ด้วย อบรมครูในทุกวิชาให้สามารถใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนได้ เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงไอซีทีเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน

logoline