svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"กิติศักดิ์" แจง "สามารถ" กรณี กทม.จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้า เมื่อฐานความรู้และข้อมูลที่เท่ากัน

24 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณี ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่า กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ประเด็น "กทม.จ้างบีทีเอส เดินรถไฟฟ้าแพงเวอร์!" พร้อมแนะทบทวนสัญญา (http://www.komchadluek.net/news/regional/302617 และ https://www.facebook.com/Dr.Samart/)


ล่าสุด อาจารย์กิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการบริหารกรุงเทพธนาคม ได้ออกมาชี้แจงผ่านโพสต์เฟซบุ๊ค Kitisak Aramrueng ต่อประเด็นดังกล่าวของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โดยได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Kitisak Aramrueng ดังนี้.....

เมื่อฐานความรู้และข้อมูลที่เท่ากัน ที่เหลือก็เป็นเรื่องของสติปัญญากับสามัญสำนึกแล้วแหละ

ผมคิดว่าสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้มันง่ายและรวดเร็วที่คนส่วนใหญ่มักจะหยิบใช้เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ที่มีทั้งข้อเท็จและข้อจริง มีหลายคนที่เสพแล้วติดเป็น FC เชื่อโดยไม่ทันได้ใช้วิจารณญาณ หรือทำใจให้เป็นกลางและให้เวลากับตัวเองในการตรวจสอบหาเหตุและผลสนับสนุนความคิดตนเอง

เฉกเช่นกรณี ดร.คนนี้ที่ไม่มีใครทราบว่าอยู่ในสถานะใดของสังคม มีเจตนารมณ์หรือความบริสุทธิ์ใจแค่ไหนเพียงใดที่คอยจ้องจับผิดใครต่อใคร ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าต้องการสร้างกระแส เกาะกระแสคนอื่น เพื่อให้คนในโลกออนไลน์เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองสื่อสารออกมานั้นถูกต้อง

ถ้าดร.คนนี้มีความจริงใจในการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือต้องการปกป้องผลประโยชน์ให้กับสังคมหรือคนกทม. ทำไมไม่คิดที่จะติดตามนำเสนอเรื่องนี้เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนหน้านี้ละครับ หรือจะบอกว่าเพิ่งจะมารับรู้ข้อมูลเพราะเพิ่งจะมีใครหอบแฟ้มเอกสารมาเพ็จทูลเหรอครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายถึงดร.คนนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้มีความจริงใจ ใส่ใจที่จะคอยติดตามปกป้องผลประโยชน์ของคนกทม. อย่างแท้จริงตามที่หลายๆ คนคิดนะซิ

ผมเป็นสามัญชนคนหนึ่งเป็นวิศวกรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพ่อหลวงรัชกาลที่9 ได้ทรงพระราชทานปริญญาบัตรและได้ให้พระบรมราโชวาทที่ยังคงจดจำอยู่เสมอมาว่า "ขอให้บัณฑิตทุกคนนำความรู้ความสามารถของตนที่ได้รับการสั่งสอนมา ไปประกอบสัมมาชีพที่สุจริต เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป"

เลยอยากจะขอสื่อสารให้ดร.คนนี้รู้ว่าถ้าท่านมีความจริงใจกับพี่น้องชาวกทม.อย่างแท้จริงในเรื่องนี้ ท่านควรมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ท่านได้นำเสนอให้กับสังคมว่าเป็นความจริงหรือไม่อย่างไร และผมคิดว่าผู้บริหารกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม ทุกท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบพอ

พร้อมข้อมูลที่จะให้ท่านได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ เผื่อจะได้เป็นกรณีศึกษาก่อนที่จะสื่อสารอะไรผิดๆออกไปมากกว่านี้ เพราะผมเห็นว่าท่านดร.เองก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่ใช่น้อย หากได้ใช้ในทางที่เหมาะที่ควรอาจทำให้เจตนารมณ์แอบแฝงทางการเมืองของท่านบรรลุเป้าหมายได้

ด้วยใจเป็นห่วงนะครับ

สรุปโดยย่อ รฟม. เขาบริหารจัดการแบบนี้

สัญญา 4 สัมปทานสำหรับการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่ BEM เป็นผู้รับสัมปทาน สรุปข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้

- เป็นร่วมทุนแบบ PPP Gross Cost Concession (GC) (รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถ แล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่)

- ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาขบวนรถ จำนวน 21 ขบวน 63 ตู้ มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท

- รวมมูลค่าสัมปทานประมาณ 83,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยแบ่ง เป็น 2 ระยะ


โดยระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นค่างานออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ การทำงานของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า และระบบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทดลองเดินรถไฟฟ้าให้มีความพร้อมบริการแก่สาธารณชน จนสามารถเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ โดยมีระยะเวลารวมไม่เกิน 1,200 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาสัมปทาน

โดย รฟม.จะทยอยชำระค่างานระยะที่ 1 เป็นรายเดือน ให้แก่ BEM เป็นเวลา 10 ปี หลังจาก BEM ส่งมอบกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์งานระบบให้แก่ รฟม.และเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้า

ระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เป็นค่างานให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าจนสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาสัมปทาน โดย รฟม.จะชำระค่าบริการให้แก่ BEM เป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนที่เริ่มการให้บริการเดินรถไฟฟ้าจนสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน

- เวลาในการให้บริการขบวนรถในปัจจุบัน (ปี 2560) ชั่วโมงเร่งด่วน 6 นาที นอกเวลาเร่งด่วน 9.33 นาที

กทม.โดยการบริหารจัดการเดินรถของบริษัท กรุงเทพธนาคม

1.1 ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกทม.ที่รับโอนจากรฟม.
(แบริ่ง-สมุทรปราการ 13 สถานี 19 กิโลเมตรและ หมอชิต-คูคต 9สถานี 16กิโลเมตร) สัญญาจ้างเดินรถปี 2560 - 2585

ในการบริหารจัดการเดินรถของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กทม.รับโอนจากรฟม. กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมบริหารจัดการเดินรถโดยไม่มีค่าจ้าง โดยในการเดินรถมีเป้าหมายที่จะให้ผู้โดยสารเดินทางต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายขบวนรถที่สถานีรอยต่อ (สถานีรอยต่อมี 2 แห่ง)

มูลค่าสัญญาจัดซื้อระบบเดินรถ เท่ากับ 15,500 ล้านบาท (ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)

มูลค่าสัญญาจ้างเดินรถและบำรุงรักษา เท่ากับ 161,119 ล้านบาท

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทที่ปรึกษาPB Asia กเป็นที่ปรึกษาประเมินราคาและข้อเสนอในการเดินรถของ BTSC ระยะเวลา 25 ปี
กระบวนการและวิธีการคิดค่าจ้างเดินรถ ในการคิดค่าจ้างเดินรถ ยึดหลักการ

1) ในการที่จะกำหนดความต้องการในการเดินรถ จะต้องมีการประเมินปริมาณผู้โดยสารว่ามาก-น้อยแค่ไหน ถ้ามีปริมาณผู้โดยสารมาก จะต้องเดินรถให้ถี่ๆ แต่ถ้าปริมาณผู้โดยสารน้อย จะต้องเดินรถให้ห่างๆ ซึ่งรถไฟฟ้าแต่ละโครงการจะมีความจำเป็นในการเดินรถแตกต่างกันออกไป

2) ในการประเมินค่าจ้างเดินรถ จะประเมินตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ซึ่งมีตัวแปรที่สำคัญ ดังนี้
ระยะทางของเส้นทางรถไฟฟ้า
จำนวนสถานีรถไฟฟ้า
ความถี่ในการเดินรถ
ความเร็วในการเดินรถ
ระยะเวลาการเปิด-ปิดการให้บริการ

เมื่อได้ข้อสรุปการประเมินข้อเสนอได้จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก จำนวน 9 หน่วยงาน เพื่อขอข้อคิดเห็นในการพิจารณาราคาค่าจ้างเดินรถ ได้แก่
1) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
2) สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร
3) สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วศท.)
4) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.)
5) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6) สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
7) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย
9) TDRI

กระบวนการพิจารณาราคาและเจรจาต่อรอง ดำเนินการแบบมีขั้นตอนและโปร่งใส ตรวจสอบได้

ข้อเสนอแนะถึง ดร.
1) ตามที่ดร.นำข้อมูลตัวเลขมาอ้างถึงนั้น เป็นตัวเลขที่ผสมปนเปกันระหว่างค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งระบบเดินรถ(จ่ายเงินระยะสั้น ภายใน 10 ปี) และค่าจ้างเดินรถ(จ่ายเงินเป็นรายเดือนตามระยะเวลาสัญญาจ้าง) โดยดร.นำตัวเลขดังกล่าวมาหารด้วยระยะเวลาและระยะทาง ซึ่งไม่สะท้อนภาพที่แท้จริงของการจัดการเดินรถ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานอะไรเลย
2) การให้บริการเดินรถแต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการคำนวณค่าเดินรถทั้งสิ้น เช่น-จำนวนผู้โดยสาร-ความถี่ในการเดินรถ-ความเร็วในการเดินรถ-ระยะทางของเส้นทาง-จำนวนสถานีรถไฟฟ้า-ระยะเวลาที่เปิดให้บริการ-จำนวนขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น

ตัวแปรดังกล่าวเป็นตัวแปรที่เป็นไปตามมาตรฐานการคำนวณของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) การที่จะระบุว่าราคาใดแพงหรือถูกจะต้องเปรียบเทียบกับราคาที่คำนวณตามมาตรฐานของสบน.
รถไฟฟ้าโครงการที่มีจำนวนผู้โดยสารมากๆ จะต้องกำหนดความต้องการให้เดินรถแบบถี่ๆ และใช้รถไฟฟ้าที่มีจำนวนตู้เยอะๆหรือยาวกว่า เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพียงพอ
สิ่งที่ดร.นำมากล่าวหา ไม่ได้มีการพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเลย

3) ในการคิดคำนวณค่าจ้างเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีเงื่อนไขและข้อกำหนดความต้องการที่แตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เช่น-รถไฟฟ้ากำหนดให้จัดหาขบวนรถจำนวน 63 ตู้ หากในอนาคตจำเป็นต้องจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมหรือต้องการให้เดินรถถี่มากขึ้น จะต้องมีการคิดราคาเพิ่มเติม ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีการวางแผนให้วิ่งรถในระยะยาวด้วยความถี่ที่มากขึ้นเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นไว้แล้ว โดยจะต้องจัดหาขบวนรถทั้งสิ้น 144 ตู้ และจะไม่มีการคิดราคาเพิ่มเติมอีกในอนาคต

-ค่าเดินรถไฟฟ้าของสายสีม่วงจะต้องมีการคิดค่าจ้างเดินรถเพิ่มเติมตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี ตลอดระยะเวลาสัญญา แต่รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะไม่มีการคิดค่าจ้างเพิ่มเติมอีกในอนาคต

ได้โปรดอย่าเปรียบเทียบค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษาระหว่างรถไฟฟ้าสายต่างๆเลย หากมีเจตนาที่ดีควรจะเปิดใจเข้าพบพูดคุยหาข้อเท็จจริงโดยตรงจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการจะเหมาะสมและน่าเชื่อถือกว่าครับ อย่าได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ผิดกล่าวหาให้ร้ายหรือสร้างประเด็นสงสัยให้ FC รับข้อมูลที่ผิดๆไม่ครบถ้วนเลยครับ

ด้วยความปรารถนาดีอีกครั้ง

logoline