svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เอเชียประสบภัยพิบัติสภาพอากาศหนักสุดในโลกในปี 2566

23 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุตุนิยมวิทยาโลกเผยแพร่รายงานใหม่ ระบุว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพอากาศและน้ำในปี 2566

เอเชียประสบภัยพิบัติสภาพอากาศหนักสุดในโลกในปี 2566

รายงานที่เผยแพร่โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( WMO) ในวันอังคาร (23 เมษายน 2567) ระบุว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภัยพิบัติสภาพอากาศในปี 2566 โดยน้ำท่วมและพายุเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ส่วนผลกระทบจากคลื่นความร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น

เซเลสเต เซาโล ผู้อำนวยการ WMO บอกว่า หลายประเทศเผชิญกับสถิติปีที่ร้อนที่สุด ควบคู่กับสภาพอากาศสุดขั้ว ที่มีทั้งภัยแล้ง และคลื่นความร้อน จนถึงน้ำท่วมและพายุ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้ภัยพิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งยิ่งขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

รายงานระบุด้วยว่า เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำมากถึง 79 ครั้ง ในเอเชียในปีที่แล้ว ซึ่งเกือบ 80% เป็นน้ำท่วมและพายุ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และประชาชนราว 9 ล้านคน ได้รับผลกระทบโดยตรง 

เอเชียประสบภัยพิบัติสภาพอากาศหนักสุดในโลกในปี 2566

อัตราเร่งของปัจจัยชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิเฉลี่ย ปริมาณฝนตก ธารน้ำแข็งละลาย และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ

เอเชียมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2504-2533 และยังมีสถิติอุณหภูมิสูงเกินค่าเฉลี่ยในหลายพื้นที่ตั้งแต่ไซบีเรียตะวันตก ไปจนถึงเอเชียกลาง และจากตะวันออกของจีนไปจนถึงญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเผชิญฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้มีการละลายปริมาณมากของธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ในแถบเทือกเขาสูงในเอเชีย เพราะอุณหภูมิที่ทำสถิติสูงสุดและความแห้งแล้ง ขณะเดียวกันมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าปกติในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเทือนเขาฮินดูกูชในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ส่วนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประสบภัยแล้ง 

เอเชียประสบภัยพิบัติสภาพอากาศหนักสุดในโลกในปี 2566

 WMO ระบุด้วยว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติทั่วเอเชียจะต้องปรับปรุงข้อมูลที่มีความละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

และผู้อำนวยการ  WMO บอกด้วยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการ

logoline