svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รู้หรือไม่! ในอีก 25 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มเป็น 35 ล้านราย

15 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

องค์การอนามัยโลก และองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ คาดการณ์ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 35 ล้านรายในปี 2593 ชี้บุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคอ้วน และมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) เผยแพร่ตัวเลขแสดงสถานการณ์โรคมะเร็งทั่วโลก และการสำรวจสิทธิประโยชน์ด้านมะเร็งใน 115 ประเทศ

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 77% จากจำนวนผู้ป่วย 20 ล้านรายในปี 2565 แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งจะก่อให้เกิดภาระกับประเทศ พร้อมสะท้อนถึงอัตราผู้สูงวัยและการเติบโตของประชากร รวมถึงพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยสำคัญเรื่องมลพิษทางอากาศ

รู้หรือไม่! ในอีก 25 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มเป็น 35 ล้านราย

มะเร็งที่พบบ่อยทั่วโลก

แชมป์โรคร้ายคือ “มะเร็งปอด” ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 2.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 12 ของผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด และเสียชีวิตร้อยละ 18.9 รวมเป็น 1.8 ล้านคน ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

“มะเร็งเต้านม” ในผู้หญิงพบมากเป็นอันดับ 2 ในแง่ของอุบัติการณ์ โดยมีผู้ป่วย 2.3 ล้านรายทั่วโลก หรือร้อยละ 11.6 แต่คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของการเสียชีวิต

ในส่วนของมะเร็งอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” “มะเร็งต่อมลูกหมาก” และ “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

ทั้งนี้ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองลงมาคือ “มะเร็งตับ” “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ส่วน “มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 8 ของโลก เป็นสาเหตุอันดับที่ 9 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงใน 25 ประเทศ ซึ่งหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกา

เรื่องนี้อาจทำให้ทั่วโลกออกห่างจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 3 คือสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) ที่ครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพและสวัสดิภาพที่สำคัญหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อ (3.4) ที่ต้องการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573 

ปฏิทินการรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งตลอดทั้งปี

  • มกราคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งปากมดลูก"
  • กุมภาพันธ์ รณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็ง เนื่องในวันมะเร็งโลก (วันที่ 4 กุมภาพันธ์)
  • มีนาคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"
  • เมษายน รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งช่องปาก"
  • พฤษภาคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ"
  • มิถุนายน รณรงค์ส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง
  • กรกฎาคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งรังไข่"
  • สิงหาคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
  • กันยายน รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"
  • ตุลาคม รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งเต้านม" และรณรงค์ต้านภัย "มะเร็งตับและท่อน้ำดี"
  • พฤศจิกายน รณรงค์ต้านภัย "มะเร็งปอด"
  • ธันวาคม รณรงค์วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ (วันที่ 10 ธันวาคม)

สำหรับประเทศไทย สถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ปีละ 1.4 แสนราย เสียชีวิต 8.3 หมื่นราย โดยกรมการแพทย์ ระบุ 5 อันดับมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทย คือ

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
logoline