svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ความร้อนเท่าไหร่ที่ร่างกายสู้ไหว และอุณหภูมิเท่าไหร่ที่เป็นภัยกับสุขภาพ

27 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “อุณหภูมิร่างกายปกติและไม่ปกติของมนุษย์” และอากาศร้อนแค่ไหนที่ร่างกายคนเราสามารถทนไหว ก่อนจะเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อากาศร้อนจัดในช่วงนี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า “แท้จริงแล้วนั้นมนุษย์เราสามารถทนต่ออากาศร้อนได้แค่ไหน?” เรื่องนี้ Nation STORY มีคำตอบ

อุณหภูมิร่างกายมนุษย์ โดยปกติอยู่ที่เท่าไร?

อุณหภูมิเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 36.5-37.2 °C หรือ 97.7-99.5 °F โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับปัจจัย ณ ขณะนั้น ตลอดจนคุณภาพของอุปกรณ์ในการตรวจวัด หรือวิธีการตรวจวัดที่ถูกต้องและเหมาะสม

อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์แต่ละช่วงวัย ไม่เท่ากันจริงไหม?

อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายปกติของทารก เฉลี่ยอยู่ที่ 36.6-37.2 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติผู้ใหญ่ เฉลี่ยอยู่ที่ 36.1-37.2 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติผู้สูงอายุที่อายุมากว่า 65 ปีขึ้นไป เฉลี่ยต่ำกว่า 36.2 °C

อุณหภูมิร่างกายแบบไหนคือ “ไม่ปกติ”

หากอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37.2 °C หรือ 99.5 °F จะถือว่าผิดปกติ โดยอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของอาการปวดหัว เป็นไข้ หรืออาการอื่นๆ ได้ แต่ในเบื้องต้นจะแบ่งระดับอุณหภูมิในร่างกายกับอาการ ดังนี้

  • อุณหภูมิ 37.5-38.4 °C : มีไข้ต่ำๆ
  • อุณหภูมิ 38.5-39.4 °C : มีไข้สูง
  • อุณหภูมิมากกว่า 40 °C : ไข้สูงมาก

ความร้อนเท่าไหร่ที่ร่างกายสู้ไหว และอุณหภูมิเท่าไหร่ที่เป็นภัยกับสุขภาพ

คนเราทนร้อนได้แค่ไหน?

อุณหภูมิในร่างกาย มนุษย์สามารถทนทานต่อความร้อนในร่างกายได้สูงสุดไม่เกินระดับอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส และสามารถทนความร้อนจากสภาพอากาศภายนอกได้ 50-60°C ซึ่งถ้าหากอุณหภูมิร่างกายขึ้นเกินกว่า 40°C  จะทำให้เกิดอาการของ "โรคลมแดด (Heat Stroke)" ขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

โดยปกติอุณหภูมิร่างกายมนุษย์จะต้องสูงกว่าอุณภูมิอากาศรอบข้าง เพื่อที่ความร้อนจะสามารถระบายออกจากร่างกายได้ ส่วนผิวหนังของเราจะมีอุณหภูมิคงที่ที่ 35°C แต่ถ้ามนุษย์ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 35°C ความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 75% ต่อเนื่องมากกว่า 6 ชั่วโมง ร่างกายเราจะเริ่มเข้าสู่ ภาวะตัวร้อนเกิน หรือ Hyperthermia เพราะความร้อนต่อเนื่องจากภายนอกที่ผลักอุณหภูมิร่างกายให้สูงกว่า 36.0-37.0°C

ภาวะนี้เราจะรู้ตัวแล้วว่า “ร่างกายกำลังผิดปกติ” อาจรู้สึกความร้อนแผ่ซ่านอยู่ภายใน ไข้ขึ้นสูง และถ้าไปถึง 40°C ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะ Heat Stress ตัวจะแดงและร้อนจากภายในอย่างมาก ภาวะนี้ระบบประสาทและอวัยวะภายในคุณจะเริ่มรวน นี่คือจุดอันตรายที่จะนำไปสู่ “Heat Stroke” ซึ่งทำให้มนุษย์ตายได้ จากการที่อวัยวะภายในล้มเหลว  การขาดเลือดและออกซิเจน ทำให้หัวใจทำงานเกินขีดจำกัดเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ นำไปสู่ภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว

สองเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าอุณหภูมิในร่างกาย

1 อุณหภูมิกระเปาะเปียก (Wet-Bulb Temperature)

เวลาที่เราได้ยินข่าวพยากรณ์อากาศรายงานสภาพอากาศจะมีอุณหภูมิสูง 40°C นั้น ไม่ได้หมายความว่า มันจะทำให้ร่างกายของเราร้อนขึ้นไปถึง 40°C ตามไปด้วย เพราะกลไกตามธรรมชาติ เมื่อภายในร่างกายของเราร้อนขึ้น จะมีการ “ขับเหงื่อ” ออกมาเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย เป็นกลไกที่ช่วยให้ร่างกายของเราไม่ร้อนเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน การระบายความร้อนผ่านเหงื่อก็ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำจำนวนมากด้วย จึงควรดื่มน้ำเยอะๆ ในวันที่อากาศร้อนทนแทนนั่นเอง

ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า อุณหภูมิสูงสุดที่ร่างกายมนุษย์ทนได้อยู่ที่เท่าไหร่? จึงมีหลายองค์ประกอบ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่ต้องรู้คือคำว่า อุณหภูมิกระเปาะเปียก เนื่องจากร่างกายคนเราสามารถทนความร้อนได้ถึงแค่เมื่ออุณหภูมิกระเปาะเปียกอยู่ที่ไม่เกิน 35 องศาเซลเซียสเท่านั้น สรุปสั้นๆ คือ ร่างกายจะทนร้อนได้มากแค่ไหนนั้น เราต้องเอาค่าความชื้นมาเป็นหนึ่งในการคำนวณด้วย

อุณหภูมิกระเปาะเปียก ไม่ใช่อุณหภูมิทั่วไปที่ัดจากเทอร์โมมิเตอร์ปกติหรือวัดผ่านแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นอุณหภูมิเมื่อมีการคำนวณ “ความชื้นในอากาศ” ร่วมด้วย

คอลิน เรย์มอนด์ นักวิจัยจากนาซา ซึ่งศึกษาเรื่องความร้อนสูง กล่าวว่า ยิ่งมีน้ำในอากาศ (ความชื้น) มากเท่าไหร่ เหงื่อก็จะยิ่งระเหยออกจากร่างกายได้ยากขึ้นเท่านั้น ทำให้การระบายความร้อนเป็นไปได้ยาก เมื่อทั้งความชื้นและอุณหภูมิสูงมาก อุณหภูมิกระเปาะเปียกอาจไต่ไปสู่ระดับที่เป็นอันตรายได้

เช่น เมื่ออุณหภูมิของอากาศอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส และความชื้นอยู่ที่ 30% อุณหภูมิกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ประมาณ 30.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่แม้จะร้อน แต่ร่างกายเรายังทนได้ ในทางกลับกัน เมื่ออุณหภูมิของอากาศอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นสูง 77% อุณหภูมิกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันตรายแล้ว

ซึ่งการจะหาอุณหภูมิกระเปาะเปียกของพื้นที่ที่เราอยู่นั้น วิธีดั้งเดิมคือใช้เทอร์โมมิเตอร์ที่คลุมด้วยผ้าชุบน้ำ แต่หากเป็นวิธีสมัยใหม่หน่อย ก็อาจมีแอปฯ หรือวิดเจ็ตบางตัวที่ให้ข้อมูลเรียลไทม์ของอุณหภูมิกระเปาะเปียกในพื้นที่หนึ่งๆ

2 ความชื้นสัมพัทธ์ (Humidity)

ทำไมยิ่งความชื้นในอากาศสูง ก็ยิ่งรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริง เรื่องนี้เชื่อมโยงกับ “ความชื้นสัมพัทธ์” ที่มีบทบาทสำคัญต่อการระบายความร้อนในร่างกายมนุษย์ผ่านทางเหงื่อ หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน แต่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ ประมาณ 40-45% ร่างกายจะขับเหงื่อให้ระเหยออกมาได้ดี เมื่อมีลมพัดปะทะตัวก็จะรู้สึกเย็นสบายอีกด้วย

แต่หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีมากถึง 80-90% ขึ้นไป ความชื้นที่หนาแน่นระดับนี้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายเหงื่อออกได้เป็นปกติ แต่กลับทำให้เหงื่อออกเป็นหยดจนเปียกชื้นไปตามตัว อุณหภูมิในร่างกายก็ไม่ลดลง แถมร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้นอีกต่างหาก

ข้อมูลจาก George Havenith ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาสิ่งแวดล้อมและการยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Loughborough สหราชอาณาจักร กล่าวผ่าน BBC ว่า ในประเทศแถบร้อนชื้น มีปริมาณความชื้นในอากาศสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถขับเหงื่อของมนุษย์ ถ้าความชื้นสูง ความสามารถในการขับเหงื่อของเราจะลดลงและทำให้เรารู้สึกไม่สบาย ไข้ขึ้นสูง กระสับกระส่าย เหนื่อย อ่อนเพลีย

บทสรุปของเรื่องนี้ คือมนุษย์สามารถทนทานต่อความร้อนในร่างกายได้สูงสุดไม่เกินระดับอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส และสามารถทนความร้อนจากสภาพอากาศภายนอกได้ 50-60℃ ซึ่งถ้าหากอุณหภูมิร่างกายขึ้นเกินกว่า 40°C  จะทำให้เกิดอาการของโรคลมแดด (Heat Stroke) ขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

 

 

logoline