svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ครูสาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย สะท้อนถูกคุกคามจากผู้ปกครอง

05 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากครูในเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายด้วยแรงกดดันจากงานอย่างน่าเศร้า กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้บรรดาครูออกมาประท้วงทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนปัญหาการถูกคุกคามจากผู้ปกครอง

ครูสาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย สะท้อนถูกคุกคามจากผู้ปกครอง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ลี มิน โซ ครูโรงเรียนประถมวัย 23 ปี บันทึกในไดอารีถึงความหวาดกลัวที่ครอบงำตัวเธอขณะเดินเข้าห้องเรียนเพื่อสอนหนังสือว่า  “หน้าอกของฉันแน่นไปหมดจนรู้สึกเหมือนจะล้มลงตรงไหนสักที่  ไม่รู้ตัวแล้วว่าอยู่ที่ไหน”

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เธอเขียนบันทึกว่า รู้สึกรับไม่ไหวกับปัญหาบ้าบอจากงานจนอยากจะ “ปล่อยมันไป” และอีก 2 สัปดาห์ต่อมา เธอจบชีวิตตัวเอง และศพถูกพบในตู้เก็บของในห้องเรียน

เพียงไม่กี่วันหลังการเสียชีวิตของเธอ มีการพบบันทึกประจำวัน บันทึกการทำงาน และข้อความมากมาย ที่เผยให้เห็นว่า ตลอดหลายเดือนก่อนการฆ่าตัวตาย เธอถูกผู้ปกครองร้องเรียนมากมาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ได้รับข้อความและการโทรศัพท์ตำหนิรุนแรงจากผู้ปกครองเรื่องเด็กใช้ดินสอแทงศีรษะเด็กอีกคน

โศกนาฏกรรมที่เกิดกับมิน โซ จุดกระแสความโกรธแค้นให้กับครูโรงเรียนประถมทั่วประเทศ และนำไปสู่การหยุดงานประท้วงหลายหมื่นคนเมื่อวันจันทร์ (4 กันยายน) เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองครูมากกว่านี้ หลังจากพวกเขาต้องเผชิญการคุกคามบ่อยครั้งจากผู้ปกครองที่เอาแต่ใจ โทรศัพท์หาพวกเขาตลอดทั้งวันและทุกสุดสัปดาห์ ร้องเรียนไม่หยุดอย่างไม่ยุติธรรม  ครูสาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย สะท้อนถูกคุกคามจากผู้ปกครอง

ครูสาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย สะท้อนถูกคุกคามจากผู้ปกครอง ตลอด 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ครูหลายหมื่นคนเดินขบวนในกรุงโซล โดยบอกว่า พวกเขากลัวมากว่าจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกทารุณกรรมเด็ก จนไม่สามารถกวดขันเรื่องวินัยกับเด็กนักเรียนหรือเข้าห้ามเวลาเด็กตีกัน 

ผู้ปกครองใช้กฎหมายเรื่องสวัสดิภาพเด็ก ที่ประกาศใช้ในปี 2557 เพื่อดำเนินการกับครู โดยกฎหมายระบุว่า ครูที่ถูกกล่าวหาว่าทารุณเด็กจะต้องถูกพักงานโดยอัตโนมัติ

ครูอาจถูกกล่าวหาว่า ทารุณเด็กหากเข้าไปควบคุมเด็กที่ใช้ความรุนแรง และการดุด่ามักถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์ ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจทำให้ครูถูกไล่ออกจากงานทันที

กรณีหนึ่งครูถูกร้องเรียน หลังจากปฏิเสธคำขอของผู้ปกครองที่ให้ช่วยโทรศัพท์ปลุกลูกของพวกทุกเช้า และอีกคนถูกรายงานว่าล่วงละเมิดทางอารมณ์ หลังถอดสติกเกอร์รางวัลที่ให้เด็กชาย หลังเขาใช้กรรไกรทำให้เพื่อนบาดเจ็บ

ส่วนครูอีกคนเคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจำเป็นต้องหยุดงาน 3 เดือน หลังจากเจอร้องเรียน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเธอบอกให้นักเรียนคนหนึ่งที่ก้าวร้าวสงบอารมณ์ในห้องน้ำ 5 นาที และอีกครั้งเธอรายงานให้ผู้ปกครองทราบเรื่องเด็กตีกัน แต่โรงเรียนบังคับให้เธอขอโทษผู้ปกครองทั้ง 2 กรณี

ครูสาวเกาหลีใต้ฆ่าตัวตาย สะท้อนถูกคุกคามจากผู้ปกครอง วัฒนธรรมการร้องเรียนบวกกับสภาพสังคมของการแข่งขันสูงในเกาหลีใต้ ที่ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จทางการศึกษา ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดันมากยิ่งขึ้น และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกปัจจัย ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครองเปลี่ยนไป

ศาสตราจารย์ คิม บอง เช ซึ่งสอนนักศึกษาที่จะเป็นครูในอนาคต ที่มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติโซล บอกว่า ในอดีตเกาหลีมีวัฒนธรรมเข้มแข็งมากเรื่องการเคารพครู แต่เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ปกครองมีการศึกษาสูง ทำให้พวกเขามักดูถูกครู  รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนจ่ายเงินเดือนครูด้วยเงินภาษีของพวกเขา จึงควรได้รับสิทธิพิเศษ

นอกจากนี้การกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรงระหว่างนักเรียนเป็นปัญหาที่รู้กันดีในโรงเรียนเกาหลีใต้ และในปีที่แล้วมีซีรีส์เกาหลียอดนิยมเรื่อง The Glory ที่เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งต้องการแก้แค้นคนที่เคยรังแกเธอ และผู้กำกับซีรีส์ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมบูลลี และถูกบังคับให้ขอโทษ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลที่เจอแรงกดดันให้แก้ปัญหาเรื่องการบูลลี ประกาศว่า ประวัติการกลั่นแกล้งของนักเรียนจะถูกรวมไว้ในใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัย แม้หวังว่าวิธีนี้จะทำให้นักเรียนไม่กลั่นแกล้งกัน แต่กลับกระตุ้นให้ผู้ปกครองกังวลยิ่งขึ้น และกดดันให้ครูลบประวัติการทำผิดของลูก

นอกจากนี้รัฐบาลยอมรับว่า ห้องเรียนมีปัญหา  จึงออกแนวปฏิบัติใหม่สำหรับครู ที่ระบุว่า ครูจะสามารถให้นักเรียนที่ก้าวร้าวออกจากห้องเรียนเพื่อระงับพวกเขาหากจำเป็น และผู้ปกครองจะพบกับครูตามวันและเวลาที่ตกลงกันล่วงหน้าเท่านั้น โดยครูสามารถปฏิเสธไม่พบผู้ปกครองหลังเลิกงาน และลี จู โฮ รัฐมนตรีการศึกษา หวังว่า มาตรการนี้จะช่วยให้โรงเรียนกลับคืนสู่สิ่งที่ควรจะเป็น

แต่หลายคนแย้งว่า ไม่ใช่แค่ห้องเรียนที่มีปัญหา ระบบการศึกษาทั้งหมดจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ควบคู่กับการจำกัดคำนิยามของความสำเร็จ เพราะทุกคนจะได้รับผลประโยชน์จากสังคม ที่ผลการเรียนไม่สร้างหรือทำลายชีวิตใคร

logoline