svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

พนักงานที่ทำงานหนักที่สุดแห่งปี ขอยกให้ ‘หมีโค้ง’ จาก LINE

27 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถ้าในแต่ละวัน ผู้คนทั่วโลกส่งสติกเกอร์ไลน์รวมกันราวๆ 510 ล้านครั้ง คุณคิดว่าจะมีสติกเกอร์ ‘หมีโค้ง’ ไปแล้วกี่(ล้าน)ครั้ง?

สิ้นปี 2023 ถ้าพูดถึงการทำงานหนัก หนึ่งในตำแหน่งพนักงานดีเด่นแห่งปีที่เราอดนึกถึงไม่ได้ คงจะเป็นเจ้าหมีสีน้ำตาลของแอปพลิเคชั่น LINE ที่ก้มหัวโค้งคำนับพร้อมสีหน้านิ่งๆ ที่ไม่อาจคาดเดาอารมณ์ได้ บางคนใช้สติกเกอร์นี้แทนคำขอบคุณ บ้างก็ใช้แทนคำขอโทษ ไปจนถึงการปิดท้ายบทสนทนาไม่ให้ดูห้วนจนเกินไป แต่ยังคงความสุภาพเอาไว้ได้ จนหลายครั้งก็นึกอยากขอบคุณเจ้าหมีตัวนี้ที่คอยทำงานหนักเคียงข้างกันมาตลอดทั้งปี

Brown

ทว่าตลอดทศวรรษที่เจ้าหมีตัวนี้ปรากฏตัวสู่สายตาชาวโลก มันออกเดินทางมาไกลกว่าการเป็น ‘สติกเกอร์’ ในช่องแชต แต่ยังเป็นเหมือน ‘ภาพจำ’ หรือตัวแทนของแอปพลิเคชั่น LINE รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับแบรนด์จากการเป็นคาแร็กเตอร์ที่ครองใจผู้คน โดยเฉพาะในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน
 

● จากสติกเกอร์ สู่สินค้าและภาพจำของแบรนด์ 

ย้อนไปราวๆ 10 ปีที่แล้ว นักวาดภาพประกอบอย่าง คัง บยอง มก (Kang Byung Mok) ได้รับโจทย์ให้ออกแบบสติกเกอร์เพื่อใช้สื่อสารในแชตไลน์ เขาจึงเริ่มออกแบบ Moon ตัวละครหัวกลมที่คาแร็กเตอร์ใกล้เคียงมนุษย์ทั่วๆ ไป ตามมาด้วยเจ้าหมี Brown และเจ้ากระต่าย Cony เพราะคิดว่าคงจะน่าสนใจดีหากมีคาแร็กเตอร์สัตว์เพิ่มเข้ามาด้วย โดยเจ้าหมี Brown ถูกวางคาแร็กเตอร์ให้เป็นหมีขี้อาย อ่อนโยน และนิ่งเงียบ (แต่เวลาโมโหก็ดูน่ากลัวไม่น้อย) ตรงกันข้ามกับเจ้ากระต่าย Cony คู่รักของ Brown ที่ทั้งสดใส ขี้เล่น และมีหลากหลายอารมณ์

Kang Byung Mok. ภาพจาก: LINE Global

หลังจากนั้นเหล่าสติกเกอร์ LINE FRIENDS ก็เริ่มมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการได้รับความนิยมจากผู้ใช้งาน จนต่อยอดไปเป็นสินค้า ของสะสม อนิเมชั่น เกม แม้แต่ลวดลายที่ตกแต่งอยู่ตามคาเฟ่และอีเวนต์ต่างๆ พร้อมทั้งขยับขยายไปยังธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน ส่วน LINE ในฐานะแพลตฟอร์มการสื่อสารก็ได้กลายเป็นแอปพลิเคชั่นยอดฮิตในญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย โดยฐานผู้ใช้ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจเนอเรชั่น Z

แต่ทำไม LINE และสติกเกอร์ LINE FRIENDS ถึงฮิตในญี่ปุ่น ไทย และไต้หวันเป็นพิเศษ?

หากมองในมุมการสื่อสาร เราจะพบว่ารูปแบบวัฒนธรรมการสื่อสารของแถบเอเชียส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการตีความถ้อยคำ ควบคู่ไปกับบริบทรอบข้างค่อนข้างสูง (high-context culture) ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง สถานการณ์รอบข้าง โดยไม่ได้ตีความถ้อยคำนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาเสียทีเดียว
LINE FRIENDS

ดังนั้น การสื่อสารผ่านตัวอักษรเลยมีโอกาส ‘คลาดเคลื่อน’ สูง แม้จะมีอิโมจิมาเป็นตัวช่วย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่เราไม่อาจถ่ายทอดน้ำเสียงและอารมณ์ความรู้สึกออกไปได้อย่างตรงใจนัก แถมยังใช้ในบริบทการทำงานได้ค่อนข้างยาก ‘สติกเกอร์ไลน์’ ที่เข้ามาในจังหวะเวลานั้นจึงเป็นเหมือนอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยให้การสื่อสารผ่านข้อความราบรื่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การตอบข้อความคู่กับสติกเกอร์ช่วยสร้างความรู้สึกใกล้ชิดได้มากกว่าการตอบด้วยข้อความ หรือสติกเกอร์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ LINE FRIENDS ต่างก็มี ‘คาแร็กเตอร์’ ที่ชัดเจนและมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เหมือนเวลาเราดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ แล้วจดจำบุคลิกภาพของตัวละครได้แจ่มชัด บ้างก็อาจจะผูกพันกับตัวละครนั้นไปด้วย บางคนเลยรู้สึกว่าสติกเกอร์เหล่านี้เป็นมากกว่าตัวช่วยสื่อสาร แต่ยังรู้สึกผูกพันและชื่นชอบในฐานะตัวละครๆ หนึ่ง อีกทั้งบ้านเรายังไม่ได้มีแอปพลิเคชั่นด้านการสื่อสารเจ้าอื่นมาเป็นคู่แข่งที่สูสีหรือแซงหน้า LINE ได้เหมือนในเกาหลีใต้ที่แอปฯ Kakao Talk ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

เมื่อหลากหลายปัจจัยผนวกรวมกันในจังหวะเวลาที่พอดี เลยไม่น่าแปลกใจนักถ้า LINE จะสามารถครองใจผู้คนที่มีวัฒนธรรมการสื่อสารรูปแบบดังกล่าว และสติกเกอร์ LINE FRIENDS จะได้กลายเป็นจุดแข็งและเปรียบเสมือนตัวแทนของแอปพลิเคชั่น LINE ไปในตัว

พนักงานที่ทำงานหนักที่สุดแห่งปี ขอยกให้ ‘หมีโค้ง’ จาก LINE

● สติกเกอร์ ‘หมีโค้ง’ กับตำแหน่งพนักงานดีเด่นแห่งปี

พอมองย้อนกลับมาที่การใช้สติกเกอร์ LINE FRIENDS ในบ้านเรา สติกเกอร์ที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในโลกโซเชียลมีเดียคงจะเป็นเจ้าหมี Brown ก้มหัวเหมือนกำลังโค้งคำนับ หรือที่เรียกกันในนาม ‘หมีโค้ง’ โดยหมีโค้งมักจะถูกแซวว่าทำงานหนักมาตลอดทั้งปี เพราะส่วนใหญ่สติกเกอร์นี้มักจะถูกใช้ในบริบทการทำงาน ทั้งการขอบคุณ ขอโทษ ขออภัย หรือแม้แต่ปิดจบบทสนทนาด้วยความสุภาพ

แม้ในปัจจุบันจะมีสติกเกอร์หลากหลายรูปแบบให้เลือกและมีครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์สติกเกอร์สำหรับการทำงานไว้เยอะแยะมากมายแค่ไหน แต่‘หมีโค้ง’ ก็ยังก้มหน้าก้มตาโค้งต่อไปอย่างไม่มีท่าทีว่าจะได้หยุดพัก แถมยังสลัดภาพจำที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ยากแสนยาก

ถึงตอนนี้จะยังไม่มีงานวิจัยอย่างเป็นทางการว่าทำไมสติกเกอร์หมีโค้งถึงได้รับความนิยมในบริบทการทำงาน แต่ก็พอจะพบสถิติน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือผู้ใช้งาน LINE กลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25-34 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยทำงานพอดี แถมยังมีการสำรวจที่พบว่าเทรนด์สติกเกอร์ LINE ในกลุ่ม motion (สติกเกอร์เคลื่อนไหว) ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้คือหมวด working หรือการทำงานนั่นเอง

แต่ถ้าถามว่าทำไมบ้านเราไม่ใช้สติกเกอร์ยกมือไหว้ เพราะดูจะเข้ากับวัฒนธรรมไทยในชีวิตจริงมากกว่า ซึ่งคำตอบอาจเป็นไปได้ว่า ‘การไหว้’ ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ดูเป็นทางการจนเกินไป บ้างก็อาจจะรู้สึกว่าเราควรส่งสติกเกอร์ประนมมือไหว้ให้กับคนที่อาวุโสกว่า ขณะที่สติกเกอร์หมีโค้งสามารถใช้ได้กับทุกช่วงอายุ แถมยังเป็นหมีน่ารักที่ชวนให้รู้สึกถึงความอ่อนโยน เป็นกันเอง แต่ยังคงให้ความสุภาพและรักษาระยะที่เหมาะสม ที่สำคัญคือสีหน้านิ่งๆ ที่ไม่ได้บ่งบอกความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งอย่างชัดเจน ทำให้สามารถใช้แทนความรู้สึกได้หลากหลายไม่ว่าจะขอบคุณ ซึ้งใจ ขอโทษ รู้สึกผิด ยินดี หรือแม้แต่ความรู้สึกเฉยๆ  ซึ่งความ ‘กลางๆ’ ที่ว่านี้อาจเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สติกเกอร์ตัวอื่นโค่นตำแหน่งพนักงานดีเด่นที่ทำงานหนักตลอดทั้งปีได้ยาก ส่วน ‘หมีโค้ง’ ยังคงเป็นคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นและโด่งดังในบริบทการทำงานของไทยต่อไป แถมยังช่วยย้ำภาพจำของเจ้าหมี Brown ว่าเป็นตัวแทนของแอปพลิเคชั่น LINE ได้มากยิ่งขึ้น

LINE แอปพลิเคชั่น

ใครจะรู้ว่าการจรดปากกาออกแบบเจ้าหมีสีน้ำตาลหน้านิ่งในวันนั้น จะสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ สร้างรายได้หลากหลายช่องทางให้ธุรกิจ สร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนมากมายที่สื่อสารกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงการสร้างตำนานหมีโค้งให้กับมนุษย์ที่ทำงานผ่าน LINE ในประเทศไทย

แม้เราจะยินดีกับความสำเร็จของเจ้าหมีและเฝ้ารอดูการเดินทางของผองเพื่อน LINE FRIENDS ที่อาจจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ตื่นเต้นและรอติดตามในวันข้างหน้า แต่เรายังคงหวังว่า สติกเกอร์หมีโค้งจะทำงานหนักน้อยลง เช่นเดียวกับคนส่งสติกเกอร์ที่จะได้ทำงานผ่านไลน์น้อยลงไปด้วย รวมทั้งได้พักกาย พักใจ ก่อนจะเริ่มต้นปีใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

สวัสดีปี 2024 ล่วงหน้า หวังว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของทุกคน  / ส่งสติกเกอร์หมีโค้ง

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline