svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘The Persistence of Memory’ ทำไมภาพนาฬิกาเหลวของดาลีถึงเป็นที่น่าจดจำ

22 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

The Persistence of Memory คือภาพวาดชิ้นสำคัญของ ซัลบาดอร์ ดาลี ศิลปินที่คิดค้นวิธีการทำงานแบบใหม่ขึ้นด้วยตัวเองจนได้เป็นภาพแปลกตาที่มีชื่อเล่นๆ ว่า ‘นาฬิกาเหลว’ นี้ขึ้นมา มันคือผลงานที่ส่งให้ดาลีโด่งดังและเป็นเหมือนไอคอนของกระแสการเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์

ในโมงยามที่สังคมเราเต็มไปด้วยสถานการณ์อันวิปริตผิดเพี้ยนในปัจจุบัน คอลัมน์ ‘ARTchive’ ตอนนี้จึงขอกล่าวถึงผลงานชิ้นเอกของหนึ่งในศิลปินคนสำคัญของโลกอีกคน ผู้เป็นตัวแทนของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ (เหนือจริง, surrealism) นั่นก็คือ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) นั่นเอง

ซัลบาดอร์ ดาลี. ภาพจาก: Wikimedia Commons

ซัลบาดอร์ ดาลี หรือในชื่อเต็มยาวเหยียดว่า ซัลบาดอร์ โดมิงโก เฟลิเป ฆาซินโต ดาลี อี โดมินิก มาร์คีส์ ออฟ ดาลี เดอ ปูโบล (Salvador Domingo Felipe Jacinto Dalí i Domènech, Marquis of Dalí de Púbol) ศิลปินชาวสเปน ผู้เป็นสมาชิกที่ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์และภาพจำของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ เขามีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของลัทธิเซอร์เรียลลิสต์ ด้วยเทคนิควิธีการทำงานที่เขาคิดค้นขึ้นที่เรียกว่า วิธีจิตตาพาธวิพากษ์ (Paranoiac-critical method) หรือวิธีการนำเสนอภาพลวงตาและภาพหลอนของผู้ป่วยโรคจิตเภทประเภทหลงผิดหวาดระแวง ที่เพ้อคลั่ง มองเห็นภาพลวงตา หรือภาพหลอนซ้ำซ้อน ให้ออกมาอย่างน่าติดตาตรึงใจด้วยทักษะทางศิลปะอันเชี่ยวชาญ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เหมือนการให้จิตรกรฝีมือดีเข้าไปบันทึกภาพฝันร้ายฝันหลอนออกมาให้เห็นเป็นภาพอย่างสมจริงนั่นแหละ

ด้วยวิธีการนี้ ดาลีกระตุ้นให้ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ปรับความเป็นจริงของโลกภายนอกให้สอดคล้องกับแรงขับจากจิตไร้สำนึก ความปรารถนา หรือจินตนาการของพวกเขา ด้วยความที่กลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในระยะแรกมีจุดอ่อนในการมัวแต่มุ่งเน้นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตบริสุทธิ์และการถ่ายทอดความฝันอย่างตรงไปตรงมา จนทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ ดาลีเชื่อว่าวิธีการของเขาสามารถทำให้ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์สื่อสารกับโลกภายนอกได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงออกถึงความไร้เหตุผลภายในจิตได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น 

ผลงานในลักษณะนี้ของดาลีเตะตาต้องใจหัวหน้าและผู้ก่อตั้งลัทธิเซอร์เรียลลิสม์อย่าง อองเดร เบรอตง (André Breton) เอามากๆ เบรอตงชื่นชมและยกย่องวิธีการนี้ของดาลีอย่างมาก และกล่าวว่ามันมีศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับงานจิตรกรรม บทกวี ภาพยนตร์ และการสร้างสรรค์วัตถุในแบบเซอร์เรียลลิสม์ทุกสิ่งอัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือแม้กระทั่งใช้ในการอธิบายหรือตีความข้อเขียนทุกประเภทก็ตาม

ผลงานในลักษณะนี้ของดาลีที่เป็นที่รู้จักดีและคุ้นตาคนทั่วๆ ไปก็คือภาพวาดทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาที่มีบรรยากาศอันพิสดารและองค์ประกอบอันขัดแย้งลักลั่น พิลึกพิลั่นเหนือจริง อย่างเช่น ภาพที่มีรูปนาฬิกาหลอมละลายเหมือนเนยเหลวหยดย้อย โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นก้อนชีสกาม็องแบร์กำลังละลายย้อยหลังจากกินอาหารเย็น

ตอนที่เขาวาดภาพนี้เสร็จ เขาถามความเห็นของ กาลา (Gala) ภรรยาผู้เป็นทั้งผู้สนับสนุนและแรงบันดาลใจของเขาว่าเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “มันเป็นภาพที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม” ดาลีจึงตั้งชื่อภาพนี้ว่า The Persistence of Memory (1931) หรือ ‘ความทรงจำมิรู้ลืม’

The Persistence of Memory (1931), Salvador Dalí. ภาพจาก: Wikimedia Commons

ถึงแม้ภาพนี้ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่อลังการตั้งแต่แรกเห็น แต่ในความเป็นจริงมันมีขนาดเพียง 24.1 x 33 ซม. หรือมีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
 

The Persistence of Memory หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่าภาพ ‘นาฬิกาเหลว‘ เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดของดาลี ภาพนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ดาลีโปรดปราน ทั้งทิวทัศน์ชายทะเลในแหลมคาบสมุทร Cap De Creus แคว้นกาตาลุญญา นาฬิกาหลอมเหลวในภาพจงใจล้อเลียนความมั่นคงเที่ยงตรงของกาลเวลา หรือนาฬิกาพกทองเหลืองที่โดนฝูงมดรุมไต่ตอม ก็เป็นสัญลักษณ์แทนความเน่าเปื่อย เสื่อมสลาย และความตาย ข้างใต้นาฬิกาเหลว มีชิ้นส่วนใบหน้ามนุษย์รูปร่างแปลกประหลาดคล้ายหอยทากที่มีขนตายาวงอน ซึ่งน่าจะมีที่มาจากใบหน้าของดาลีเอง ชิ้นส่วนแบบเดียวกันนี้ยังปรากฏในภาพวาด Face of the Great Masturbator (1929) ผลงานชิ้นก่อนหน้าของดาลี ที่เป็นเหมือนกับเครื่องระบายความอัดอั้นตันใจในเชิงอีโรติกของดาลีที่มีต่อ กาลา ภรรยาของเพื่อนสนิทของเขา (ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของดาลีในที่สุด) ลักษณะการหลอมละลายจนเหลวย้อยของวัตถุเช่นนี้ ยังปรากฏในภาพวาดในช่วงต่อมาของเขาอย่าง Soft Self-Portrait with Fried Bacon (1941) ที่ดาลีวาดภาพตัวเองให้ออกมาเหมือนเป็นชีสหลอมเหลววางตากอยู่เคียงข้างเบคอนทอดนั่นเอง

Face of the Great Masturbator (1929), Salvador Dalí. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพของวัตถุที่ทำด้วยของแข็งหลอมละลายจนเหลวย้อยภายในฉากทิวทัศน์ความฝันอันเยือกเย็นและกว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุดในภาพวาดนี้คือสิ่งที่ดาลีกล่าวว่า เป็นการล่อหลอกดวงตาให้งุนงงด้วยภาพหลอน เพื่อสร้างระบบแห่งความวุ่นวายสับสนที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของโลกแห่งความเป็นจริงลงอย่างสิ้นเชิง ราวกับดาลีกำลังสร้างสภาวะประสาทหลอนเพื่อทำงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ความแตกต่างระหว่างคนบ้ากับผมนั้นมีแค่ ผมไม่ใช่คนบ้า ก็เท่านั้น”

ภาพวาด ‘นาฬิกาเหลว’ ได้รับความนิยมถล่มทลายเมื่อเปิดให้จัดแสดงในนิทรรศการ ภาพวาดผลักให้ชื่อเสียงของดาลีโด่งดังคับฟ้าและกลายเป็นศิลปินเนื้อหอมในแวดวงศิลปะและปัญญาชนในยุคนั้นอย่างมาก ภาพวาดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ มันถูกต่อยอด ทำซ้ำ และเลียนแบบนับครั้งไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน

Soft Self-Portrait with Fried Bacon (1941), Salvador Dalí. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชมไปกับชื่อเสียงและความสำเร็จของดาลี ด้วยความที่เขาชอบเล่นกับความขัดแย้งทั้งในผลงานและพฤติกรรมของตนเองเพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ ด้วยบุคลิกเพี้ยนๆ การพูดการจาอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น และความเป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวเองชั้นยอด ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งในนิทรรศการเซอร์เรียลลิสต์นานาชาติที่ลอนดอนในปี 1936 ดาลีปรากฏตัวโดยสวมชุดประดาน้ำรุ่นโบราณมีหมวกโลหะครอบแก้วใหญ่โตเทอะทะ เขาอ้างว่าที่แต่งตัวแบบนี้ก็เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ในก้นทะเลของจิตใต้สำนึกได้ แต่สุดท้ายเขาก็เกือบหมดสติอยู่ในนั้นจากการขาดอากาศหายใจ ถ้าไม่ได้เพื่อนมาช่วยเอาไว้เสียก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าลัทธิผู้เป็นเสมือนพระสันตะปาปาแห่งเซอร์เรียลลิสม์อย่าง อองเดร เบรอตง ที่เริ่มรู้สึกว่าดาลีกำลังแย่งความโดดเด่นไปจากพวกเขา

ความไม่พอใจนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อดาลีแสดงการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสเปนอย่าง ฟรันซิสโก ฟรังโก อย่างออกนอกหน้า และแสดงความเลื่อมใสต่อผู้นำเผด็จการของเยอรมนีอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ว่า “ไม่มีอะไรเซอร์เรียลไปกว่าผู้นำเผด็จการ” รวมถึงใส่ภาพฮิตเลอร์ลงในภาพวาด The Enigma of Hitler (1939) หรือ ‘ปริศนาของฮิตเลอร์’ ของเขา

The Enigma of Hitler (1939), Salvador Dalí. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลลิสม์นานาชาติที่นิวยอร์กในปี 1942 เบรอตงไม่ยินยอมให้ดาลีนำผลงานเข้ามาร่วมแสดง เพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกของกลุ่มอีกต่อไป โดยกล่าวหาดาลีว่า “แสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป (Avida Dollars)” จากการที่เขาเริ่มรับงานจ้างวานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังสร้างผลงานที่เลียนแบบความสำเร็จของตัวเอง รวมถึงข้อหาที่ร้ายแรงอย่างการ “ฝักใฝ่ในลัทธินาซีและเผด็จการ” เบรอตงประกาศขับดาลีออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเด็ดขาด สมาชิกในกลุ่มบางคนเองก็กล่าวถึงดาลีราวกับเป็นบุคคลในอดีตที่ตายจากไปแล้ว บางคนถึงกับสาปส่งดาลีอย่างเกรี้ยวกราดจวบจนกระทั่งตอนที่เขาตายไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีสมาชิกบางคนในกลุ่มโต้แย้งว่า ถ้าเซอร์เรียลลิสม์คือการสำรวจความฝันและเรื่องต้องห้ามโดยไม่มีการจำกัดความคิดหรือเซ็นเซอร์ ดาลีก็มีสิทธิทุกประการที่จะฝันเกี่ยวกับฮิตเลอร์เหมือนกัน

และถึงแม้จะถูกขับออกจากกลุ่ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ดาลีก็ยังเป็นศิลปินที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ผู้ถูกจดจำมากที่สุดของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อยู่ดี ถึงขนาดที่ว่า ถ้าพูดถึงเซอร์เรียลลิสม์ คนก็จะนึกถึงงานของดาลีเป็นอันดับแรกนั่นเอง

The Persistence of Memory (1931), Salvador Dalí. ภาพจาก: MoMA

ปัจจุบันภาพวาด The Persistence of Memory (1931) ของ ซัลบาดอร์ ดาลี ถูกสะสมและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • วารสารหนังสือใต้ดินลำดับที่ 14
  • Art is Art, Art is Not Art อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ
  • วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง 'ค่านิยมเทียมส่วนบุคคลในสังคมสมัยใหม่' หน้า 15 โดย อานนท์ ลุลิตานนท์ thapra.lib.su.ac.th
  • theartstory
  • museoreinasofia
  • moma
     
logoline