svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"ฟุตบอลโลก 2022" กับสารพัดเรื่องอื้อฉาวของเจ้าภาพ "กาตาร์"

26 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้ "กาตาร์" ชาติเล็กๆในตะวันออกกลาง จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพ "ฟุตบอลโลก" แต่ความสำเร็จดังกล่าวต้องแลกมาด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมาย จนทำให้โอกาสที่ดินแดนแถบนี้จะได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ๆอีกครั้งนับจากนี้ดูค่อนข้างเลือนลาง

"ฟุตบอลโลก" มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่รายการหนึ่งของโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี และเป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญที่นักฟุตบอลและแฟนบอลต่างรอคอย

และด้วยความเป็นมหกรรมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในแต่ละครั้งถือว่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไปในตัว รวมถึงการฉายภาพความเจริญของประเทศเจ้าภาพออกสู่สายตาคนทั่วโลก

สำหรับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. ที่ผ่านมา นับว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นครั้งแรกของชาติจากอาหรับที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 

แต่การเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกของกาตาร์ต้องเผชิญกับข่าวอื้อฉาวมาโดยตลอด ทั้งเรื่องถูกแฉการทุจริตล็อกผลโหวต ปัญหาสิทธิมนุษยชนต่อผู้ใช้แรงงาน การไม่ให้ความเท่าเทียมทางเพศ และอีกมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือฟุตบอลโลกครั้งที่มีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังก็ว่าได้

ปอล ป็อกบา หนึ่งในแข้งทีมชาติฝรั่งเศสที่ต้องชวดลุยฟุตบอลโลกครั้งนี้ (ภาพ talkSPORT) ลีกทั่วโลกวุ่นวายจากการปรับปฏิทินการแข่งขัน
โดยปกติแล้ว ฟุตบอลโลก จะแข่งกันในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงปิดซีซั่นของลีกทั่วโลก แต่ด้วยเหตุที่ช่วงเวลานั้นในกาตาร์เป็นฤดูร้อน มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักกีฬา จึงมีการปรับมีแข่งกันในช่วงปลายปี ที่เป็นช่วงฤดูหนาวของกาตาร์ มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส

แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้ลีกทั่วโลกต้องวุ่นวายกับการปรับโปรแกรมให้สอดคล้อง โดยลีกยุโรปต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง แล้วพักช่วงปลายปีเพื่อให้นักเตะไปแข่งฟุตบอลโลก ส่งผลให้สภาพร่างกายของนักเตะมีปัญหาที่ต้องกรำศึกหนักต่อเนื่อง จนสุดท้ายก็บาดเจ็บกันระนาวยกตัวอย่างเช่นแชมป์เก่า ทีมชาติฝรั่งเศส ที่ขาดกำลังหลักไปถึง 7 คนในการแข่งขันครั้งนี้จากอาการบาดเจ็บ

เซปป์ แบล็ตเตอร์-มิเชล พลาตินี่ สองคีย์แมนที่ทำให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก (ภาพ InsideTheGames) ข้อกล่าวหา "ซื้อ" เจ้าภาพ
การคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 โดยเวลานั้นกาตาร์ต้องแข่งกับ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งดูแล้วหลายๆประเทศมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ กาตาร์ กลับชนะผลโหวตแบบพลิกความคาดหมาย โดย เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้นบอกว่า อยากให้มีการหมุนเวียนเจ้าภาพไปทั่วโลก ไม่ใช่อยู่แค่ชาติใหญ่ๆเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสื่ออังกฤษอย่าง เดอะ ซันเดย์ ไทม์ส ออกมาเปิดเผยว่า กาตาร์เสนอเงิน 880 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับฟีฟ่าเพื่อให้ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยแบ่งเป็น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายล่วงหน้า 21 วันก่อนโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลก และอีก 480 ล้านเหรียญสหรัฐ จะจ่ายให้อีก 3 ปีให้หลัง 

นอกจากนี้ยังเปิดเผยอีกว่าบอร์ดฟีฟ่า 2 คน คือ อิสซา ฮายาตู จากแคเมอรูน และฌักส์ อานูมา จากไอวอรีโคสต์ รับเงินสินบนคนละ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแลกกับการโหวตให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพ

ขณะเดียวกัน โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ในขณะนั้น ถูกเปิดเผยว่าใช้เงินราว 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการล็อบบี้บอร์ดฟีฟ่าคนอื่นเพื่อโหวตให้กาตาร์ด้วยเช่นกัน 

ไม่เว้นแม้แต่ มิเชล พลาตินี่ นักฟุตบอลระดับตำนานของฝรั่งเศส และอดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ก็ถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบสวนการทุจริตรับสินบนในการเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพเช่นกัน

โดยเรื่องนี้ เซปป์ แบล็ตเตอร์ เพิ่งจะยอมรับว่า การเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพคือความผิดพลาด พร้อมเผยเบื้องหลังว่า เป็นเพราะ พลาตินี่ ที่ล็อบบี้บรรดาชาติยุโรปให้เปลี่ยนไปโหวตให้กาตาร์แทนที่จะเป็นสหรัฐฯตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก

ทั้งนี้ นับจากมีการโหวตเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 มีบอร์ดฟีฟ่ามากกว่าครึ่งจากทั้งหมด 24 คน ที่ถูกสอบสวนเรื่องรับสินบน ขณะที่บางคนถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลไปเรียบร้อย

ทั่วโลกตั้งคำถามถึงการดูแลแรงงานต่างชาติของเจ้าภาพ (ภาพ Reuters) ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
เมื่อกาตาร์ได้รับการเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่และสนามบินใหม่ เพื่อรองรับบรรดาผู้เข้าแข่งขันและกองเชียร์จากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ต้องใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากในโครงการก่อสร้างดังกล่าว จากที่ปกติ กาตาร์ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะอยู่แล้ว

เมื่อปีก่อน "เดอะ การ์เดียน" สื่อของอังกฤษ รายงานว่า มีแรงงานข้ามชาติกว่า 6,500 ราย เสียชีวิตในกาตาร์ นับตั้งแต่มีการประกาศก่อสร้างสถานที่รองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยทางการกาตาร์ชี้แจงว่า สาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานเหล่านี้เป็น “การเสียชีวิตโดยธรรมชาติ” แต่ก็ยังมีข้อสงสัยคาใจจากหลายฝ่าย

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า กว่า 70% ของแรงงานที่เสียชีวิตนั้นไม่สามารถระบุสาเหตุได้ และญาติของผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลกาตาร์ด้วย เนื่องจากพวกเขาถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “เป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติ” ไม่ใช่จากการทำงาน

นอกจากนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน Amnesty International รายงานว่ามีแรงงานรวมกว่า 100,000 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่า 14-18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อเร่งสร้างสนามแข่งขัน

อีกทั้งยังมีนักข่าวและแฟนบอลหลายคนถูกห้ามเข้าสนามและให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่เป็นสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าผิดกฎหมายกาตาร์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ กาตาร์เคยประกาศว่าต้อนรับและอนุญาตให้แสดงออกด้วยสีรุ้งได้ก็ตาม ประเด็นนี้ร้อนถึง ฟีฟ่า ที่ต้องเข้าเจรจากับทางการกาตาร์เพื่อให้ยกเลิกกฎดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายก็มีการผ่อนปรนให้แฟนบอลสวมหมวกและนำธงที่มีสัญลักษณ์สีรุ้งเข้าสนามได้
  Hummel ไม่ขอโชว์โลโก้ตัวเองให้เห็นในฟุตบอลโลก 2022 (ภาพ Getty Images)
กระแส "แบนกาตาร์"
จากสารพัดปัญหาที่กล่าวมา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านกาตาร์มาโดยตลอด ยกตัวอย่าง ฮัมเมล (Hummel) สปอนเซอร์ชุดแข่งของทีมชาติเดนมาร์ก ที่ตั้งใจลดทอนความเด่นชัดของโลโก้และชื่อแบรนด์ซึ่งปรากฏอยู่บนสีเสื้อของนักฟุตบอล เพราะไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลโลกที่กาตาร์ กับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

“เราไม่ต้องการให้แบรนด์ของเราถูกมองเห็นได้ในระหว่างการแข่งขันที่มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน” ข้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ ฮัมเมล

ด้านสื่อฝรั่งเศสอย่าง เลอ โกติเดียง (Le Quotidien) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเกาะเรอูว์นียง (Réunion) ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ตีพิมพ์หรือเขียนถึงบทความใดๆ เกี่ยวกับฟุตบอลโลกที่กาตาร์ 

ขณะที่คนดังหลายคนดังหลายคนเลือกที่จะ "แบนกาตาร์" และไม่ไปเยือนกาตาร์จนกว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็น “ดูอา ลิปา” นักร้องชื่อดังแห่งยุค และ “ฟิลิปป์ ลาห์ม” อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมนี
นักเตะทีมชาติเยอรมนี ปิดปากประท้วงฟีฟ่า-กาตาร์ (ภาพ Al Jazeera)
ขณะที่นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีก็แสดงจุดยืนด้วยการเอามือปิดปากระหว่างถ่ายรูปหมู่ก่อนการเกมแข่งขันนัดแรกกับญี่ปุ่น เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับ ฟีฟ่า ที่สั่งแบนไม่ให้กัปตันทีมฟุตบอลสวมปลอกแขนสัญลักษณ์ “OneLove” ที่แสดงถึง ความภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง เชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางเพศ และ รสนิยมทางเพศ 

ส่วนผู้คนในวงการฟุตบอลมีบางคนออกมาวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เช่น หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ก็ออกมาวิจารณ์ฟีฟ่าว่าเห็นแก่เงินและผลประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่ แกเรธ เซาธ์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงฟุตบอลโลกที่กาตาร์ในประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมของชายหญิง

โรงแรมจากตู้คอนเทนเนอร์ของกาตาร์ ที่ถูกวิจารณ์หนักว่าแย่กว่าราคาที่จ่าย ความ "ไม่พร้อม" ของชาติเจ้าภาพ
เมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มขึ้น ทั่วโลกก็ได้เห็นความไม่พร้อมของชาติเจ้าภาพมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องที่พักสำหรับแฟนบอลที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ โดยบรรดาแฟนบอลต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าที่กาตาร์หาที่พักยากมากและมีราคาแพง แม้กาตาร์จะนำเรือสำราญถึง 3 ลำมาจอดเทียบท่าและเปลี่ยนเป็นโรงแรมชั่วคราว แต่ก็บรรเทาสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่โรงแรมที่ทำมาจากตู้คอนเทนเนอร์ก็มีอากาศร้อนอบอ้าวจนแฟนบอลอยู่ไม่ไหวทั้งที่มีราคาที่พักสูงถึงคืนละกว่า 7,000 บาท

ความไม่พร้อมอีกประกาศก็คือความไม่พร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายของผู้หญิง รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ในสนามฟุตบอล ที่ถูกแบนอย่างกะทันหันชนิดที่แฟนบอลและสปอนเซอร์ใหญ่อย่าง Budweiser ต้องเซ็งไปตามๆกัน

แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นข้อปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม แต่หลายคนก็มองว่าถ้ามีข้อจำกัดเช่นนี้จะดีกว่าไหมหากปล่อยให้ชาติอื่นเป็นเจ้าภาพแทน

สุดท้ายกลายเป็นนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ในครั้งนี้ไปเต็มๆ เพราะบรรดาแฟนบอลต่างหลั่งไหลไปพักที่ดูไบกันหมด จะเข้ากาตาร์เฉพาะวันที่จะไปชมการแข่งขันเท่านั้น เพราะที่ดูไบมีที่พักที่ดีกว่า มีแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า และที่สำคัญคือสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้

จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งปัญหาการทุจริต ความไม่พร้อมในหลายด้าน รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของโลกอาหรับกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดคำถามว่าโอกาสที่ดินแดนแถบนี้จะได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ๆอีกครั้งจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่เมื่อดูจากเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องทุกด้านหลังจบการแข่งขันแล้ว ต้องยอมรับว่าโอกาสดังกล่าวนั้นน่าจะดูเลือนลางเต็มที

logoline