svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ย้อนคดี "โกฟุก" โกงภาษีหมื่นล้าน หลัง "วัชระ" จี้ DSI แจงให้ประกันผู้ร่วมแก๊งไวกว่าสินเชื่อเงินด่วน

25 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนคดี "โกฟุก" เจ้าพ่ออันดามัน โกงภาษีน้ำมันหลายหมื่นล้าน คดีนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นมาอย่างไร หลัง "วัชระ เพชรทอง" จี้ DSI ชี้แจงประเด็นให้ประกันตัวผู้ร่วมแก๊งไวกว่าสินเชื่อเงินด่วน

25 เมษายน 2567 เป็นอีกคดีที่มีมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท กับกรณี "คดีเครือข่ายโกฟุก" นายสง่า กังวาล หรือ นายอู จอว์ ลวิน อายุ 60 ปี ที่ร่วมกับพวกการฉ้อโกงภาษี ในการสร้างหลักฐานการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง ไปนอกประเทศเป็นเท็จ แล้วนำมาขอคืนภาษี จนทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีหลายหมื่นล้านบาท   

โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ กก.สส.บก.ตม.2 ได้ร่วมกันจับกุม นางบุษบง (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ร่วมเครือข่าย "โกฟุก" ที่ถูกออกหมายจับโดยศาลอาญาที่ 452/2567 ในคดีพิเศษที่ 49/2567 ขณะโดยสารเครื่องบินกลับจากประเทศอังกฤษ มายังสนามบินสุวรรณภูมิ 

ผู้ต้องหารายนี้ ทำหน้าที่ดูแลรับโอนเงินจากบัญชีม้า เครือข่ายพนันและหวยออนไลน์  เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือชักชวนผู้อื่นให้พนันออนไลน์, ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และความผิดฐานฟอกเงิน
ดีเอสไอจับกุม นางบุษบง (สงวนนามสกุล) เครือข่าย โกฟุก ตามหมายจับ

ล่าสุดวันนี้ (25 เม.ย.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รรท.อสพ. โดยมี ร.ต.อ. ธรรศ เลาห์ทวี เลขานุการดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง เพื่อขอให้ชี้แจง กรณีการให้ประกันตัวผู้ต้องหาใน "คดีโกฟุก" และขอให้แถลงความคืบหน้าของคดีภายใน 7 วัน 

นายวัชระ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอจับกุมนางบุษบง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 452/2567 ในคดีพิเศษที่ 49/2567 ได้นั้น ตนในฐานะอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงอยากสอบถามดีเอสไอ เกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกันตัวนางบุษบง เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน และมีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ดังนี้
นายวัชระ เพชรทอง ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอ เพื่อสอบถามคดีโกฟุก

1. การจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น มีจำนวน 2 ราย เหตุใดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่นำผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลอาญา ให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่

2. เมื่อเดือนที่ผ่านมามีการขอประกันตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ศาลอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยคัดค้านการประกันตัวถึง 2 ครั้งและศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

3. การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีนี้ ที่ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ 2 ราย โดยจับเช้าบ่ายปล่อยนั้น เป็นบริการที่ฉับไวกว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคาพาณิชย์ เป็นนโยบายเร่งด่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ มีการหารือกับอัยการที่ร่วมทำคดีหรือไม่ หรือมีการสั่งคดีหรือนโยบายเร่งด่วนจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือไม่

4. ผู้ต้องหาที่ให้ประกันตัวอย่างรวดเร็วนั้น เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญเป็นคนทำบัญชี ทำหน้าที่ดูแลรับโอนเงินจากบัญชีม้าเครือข่ายพนันและหวยออนไลน์ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีเหตุผลอย่างไร ในการให้ประกันโดยไม่นำตัวไปส่งศาลอาญาตามขั้นตอนปกติ และคดีอื่น ๆ ได้ปฏิบัติแบบจับเช้าบ่ายปล่อย (ให้ประกันทันที) แบบคดีโกฟุกหรือไม่

5. กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นผู้อนุมัติให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายแทนศาลอาญาใช่หรือไม่

6. ทรัพย์ของกลางที่ยึดได้มีจำนวนทั้งสิ้นเท่าไรและขอให้แถลงความคืบหน้าของคดีนี้ต่อสาธารณชนภายใน 7 วัน
หนังสือที่นายวัชระ ยื่นถึงดีเอสไอ
หนังสือที่นายวัชระ ยื่นถึงดีเอสไอ

ย้อน "คดีเครือข่ายโกฟุก" ฉ้อโกงภาษีน้ำมัน ทำรัฐเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

สำหรับ "คดีเครือข่ายโกฟุก" นั้น เริ่มจากการที่ดีเอสไอ ได้ทำการสืบสวนกรณีมีเบาะแส การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีปรากฏเบาะแสว่า มีกลุ่มบุคคลภายใต้เครือข่าย "โกฟุก" นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์

หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนัน ภายใต้เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวยร้อยล้าน, นพเก้า, นาคราช, ชอบหวย, ล้อตโต้เอ็มเอ็ม, ดีเอ็นเอ , เยเย่ และอื่น ๆ เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท จึงรับไว้ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่ 10/2567

จากนั้นวันที่ 1 ก.พ. 67 คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลขออนุมัติออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 18 หมายจับ ก่อนจะมีการการเปิดปฏิบัติการ ในการเข้าตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 เป้าหมายในพื้นที่หลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดระนอง เพื่อติดตามจากจับกุมบุคคลหมายจับพร้อม ทั้งตรวจค้นเพื่อติดตามทรัพย์สินและพยานหลักฐาน 

ผลการตรวจค้นสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 7 รายรวมทั้งมีการตรวจยึดทรัพย์สินและพยานหลักฐาน ประกอบด้วยรถยนต์หรู ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม อาวุธปืน และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก 
ดีเอสไอบุกตรวจค้นเครือข่ายโกฟุก
ดีเอสไอบุกตรวจค้นเครือข่ายโกฟุก

ซึ่งจากการสอบสวนขยายผลพบว่า เครือข่ายพนันออนไลน์ดังกล่าว ใช้วิธีการโอนเงินเพื่อแยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินผ่านบัญชีม้า รวมทั้งแปรสภาพเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ จำนวนมาก 

และจากการสอบสวนเพิ่มเติมยังพบอีกว่า นอกจากเครือข่าย "โกฟุก" จะเกี่ยวข้องกับความผิดเรื่องพนันออนไลน์และฟอกเงินแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการฉ้อโกงภาษี โดยสร้างหลักฐานการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปนอกประเทศที่เป็นเท็จ แล้วนำมาขอคืนภาษี และมีการฟอกเงินรายได้ จากบ่อนคาสิโนแนวชายแดน หวยใต้ดิน และสินค้าหนีภาษี อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ 2560 ประมวลกฎหมายรัษฎากร และกฎหมายฟอกเงิน 

เบื้องต้นพบว่า มีการดำเนินการ ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้รัฐสูญเสียภาษีนับหมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการสอบสวนคดีพิเศษอีกคดีหนึ่งแล้วคือ คดีพิเศษที่ 116/2563 

โดยพบพฤติการณ์ต้องสงสัยว่า บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ที่แต่งตั้ง "โกฟุก" หรือ นายสง่า กังวาล หรือ นายอู จอว์ ลวิน บุคคลสองสัญชาติ เป็นตัวแทนดำเนินการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังเมียนมา โดยได้รับการยกเว้นทางภาษี 

เมื่อตรวจสอบสถานะของบริษัท Chindwin พบว่า ไม่มีการจดทะเบียนบริษัท ในสารบบนิติบุคคลของเมียนมา อีกทั้ง บริษัท Chinwind ไม่ได้เปิดดำเนินการ หรือมีสถานประกอบการ ตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารใบสั่งสินค้า ที่นำมาแสดงต่อบริษัทผู้ขายน้ำมัน จึงมีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบต้นทาง คือ นิติบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งออกน้ำมันไปยังต่างประเทศ จึงมีการยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ

คดีนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า พฤติการณ์ของคดีนี้มีเหตุอันควรสงสัยว่า "โกฟุก" กับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวง โดยใช้ชื่อบริษัทผู้ซื้อคือ บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ซึ่งไม่มีอยู่จริง มาสร้างนิติกรรมอำพราง เพื่อจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่นำไปขายให้กับ "โกฟุก" กับพวก ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด จึงอาศัยช่องทางนี้ในการซื้อน้ำมันราคาถูก และยังมีพฤติการณ์อันควรสงสัยในการลักลอบหนีศุลกากรนำน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว เข้ามาจำหน่ายเอากำไรภายในประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 28,000 ล้านบาท

จากนั้น วันที่ 9 ก.พ. 67 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รายงานความคืบหน้าติดตามจับกุมเครือข่ายโกฟุกว่า มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิรวดีของเมียนมาว่า รัฐบาลเมียนมาได้มีการออกหมายจับเจ้าของกาสิโน ซึ่งทางรัฐบาลไทยต้องการตัว ในข้อหาการพนันออนไลน์และข้อหาฉ้อโกงภาษี โดยศาลรัฐบาลทหารในเขตเกาะสอง ประเทศเมียนมา ได้มีการออกหมายจับเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 เพื่อที่จะจับกุมนายอู จอว์ ลวิน หรือ "โกฟุก" ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมแกรนด์อันดามัน ในพื้นที่เกาะตาเตชุน ซึ่งอยู่ในเขตเกาะสอง ภูมิภาคตะนาวศรี และนอกจากนี้ยังพบว่า "โกฟุก" มีพฤติการณ์ผูกขาดตลาดน้ำมัน ในพื้นที่เกาะสองที่อยู่ริมพรมแดนไทยด้วยเช่นกัน

หมายจับดังกล่าวของเมียนมา เกิดขึ้นหลังจากดีเอสไอ ได้เข้าดำเนินการกับเครือข่าย "โกฟุก" ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินจากการพนันออนไลน์ ซึ่งหลังจากไทยมีการออกหมายจับ "โกฟุก" ไม่นาน รีสอร์ทและกาสิโน ดังกล่าวก็ได้ปิดตัวลง
ทางการเมียนมาออกหมายจับโกฟุก

วันที่ 12 ก.พ. 67 ดีเอสไอได้มีหนังสือเชิญ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ร่วมประชุม คดีพิเศษที่ 116/2563  โดยคดีนี้ อัยการสูงสุดพิจารณาให้คดีพิเศษที่ 116/2563 เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 (ที่ให้อำนาจการสั่งคดีและสอบสวนคดีนอกราชอาณาจักรเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด หรือ อสส.มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี)

ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ นายวัชรินทร์ ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ 

โดยคดี "โกฟุก" นี้ นายวัชรินทร์ ระบุว่า เป็นการร่วมสอบสวนกับดีเอสไอ มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการสืบสวนหาพยานหลักฐานมาหลายครั้ง คาดว่าภายในเดือน เม.ย. 67 นี้ จะสามารถจบขั้นตอนการสอบสวน และส่งสำนวนสั่งฟ้องได้ ส่วนตอนนี้พยานหลักฐานอื่น ๆ ที่อยู่นอกราชอาณาจักร ได้รวบรวมครบถ้วนแล้ว แต่ต้องรอเอกสารให้พร้อม และยังต้องสอบพยานสำคัญเพิ่มเติมอีก เนื่องจากเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ คดีสำคัญต้องละเอียดรอบคอบ  
อสส. ประชุมร่วมกับอีเอสไอ คดีโกฟุก

ต่อมา วันที่ 11 เม.ย. 67 นายระวี  อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำส่งสำนวนคดีพิเศษ จำนวนทั้งสิ้น 6 ลัง (34 แฟ้ม) ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย 

โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับอีกจำนวน 11 ราย ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว และให้สืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป โดยมี "โกฟุก" เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับรายสำคัญ

วันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวน "คดีโกฟุก" เสร็จสิ้น และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย ที่ได้จับกุมตัวแล้ว ในฐานความผิด “ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือชักชวนผู้อื่นให้พนันออนไลน์ ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันเป็นอั้งยี่”
DSI ส่งสำนวนเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงิน เครือข่ายโกฟุก เห็นควรสั่งฟ้อง ให้อัยการพิจารณา

วันที่ 22 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 4 ดีเอสไอ สามารถจับกุม นายพงศ์พิพัฒน์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 454/2567 ในคดีพิเศษที่ 49/2567 ซึ่งเป็นหลาน "โกฟุก" ทำหน้าที่ดูแลรับโอนเงินจากบัญชีม้าเครือข่ายพนันและหวยออนไลน์ จึงได้แจ้งข้อหาพร้อมนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ผู้รับผิดชอบสำนวน รับตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกการจับกุม เพื่อไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ดีเอสไอสามารถจับกุมหลานชายโกฟุกที่เป็นผู้ร่วมขบวนการได้

กระทั่งวันที่ 23 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และตำรวจกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ร่วมจับกุม นางบุษบง (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 452/2567 ในคดีพิเศษที่ 49/2567 ขณะผู้ต้องหาโดยสารเครื่องบินกลับจากประเทศอังกฤษมายังสนามบินสุวรรณภูมิ  โดยผู้ต้องหารายนี้ เป็นผู้ร่วมเครือข่าย "โกฟุก" ทำหน้าที่ดูแลรับโอนเงินจากบัญชีม้าเครือข่ายพนันและหวยออนไลน์ ก่อนให้มีการประกันตัวจนนำสู่การร้องเรียนของนายวัชระดังกล่าว....
ย้อนคดี "โกฟุก" โกงภาษีหมื่นล้าน หลัง "วัชระ" จี้ DSI แจงให้ประกันผู้ร่วมแก๊งไวกว่าสินเชื่อเงินด่วน


 

logoline